“A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea” วิทยานิพนธ์ตีแผ่แรงงานผีน้อยในเกาหลี
การมาทำงานแรงงานนอกประเทศนั้นจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หากปัญหารากเหง้าทางการเมืองในไทยไม่ได้แก้ตรงจุดคือความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาความยากจน ต่อให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถหางานได้ในเกาหลี แรงงานเหล่านี้ก็จะมองหาโอกาสในการทำงานที่ประเทศอื่นหรือที่อื่น ๆ ต่อไป
ปัจจุบันมีแรงงานไทยในเกาหลี 168,711 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานถูกกฎหมายเพียง 24,022 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งจำนวนนี้อาจรวมนักท่องเที่ยว และอื่น ๆ อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เท่ากับว่า อีกกว่า 100,000 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ไร้ใบอนุญาต!
ทั้งนี้ มีวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งที่ตีแผ่ชีวิตแรงงานไทยในเกาหลีไว้ ชื่อว่า “A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea” หรือ แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี ซึ่งถูกนำมาเปิดเผยในเวทีเสวนาหัวข้อ “MIGRANT IS AROUND” แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ จัดโดย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล ปี พ.ศ. 2561 ณ หอประชุม ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรุงเทพฯ
วิทยานิพนธ์ดังกล่าวศึกษาโดย ‘ดนย์ ทาเจริญศักดิ์’ ขณะกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท ณ เกาหลี ซึ่งเดิมนั้นเขามีความสนใจในประเด็นแรงงานไทยในเกาหลีอยู่ก่อนแล้ว จึงตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้
วิธีการหลักๆ คือการเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับแรงงาน (Enthnography Research) เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาเชิงอารมณ์และความรู้สึก เหตุผลของการตัดสินใจของตัวแรงงานเอง โดยใช้เวลาตั้งแต่ 3 เดือนแรกที่ไปเรียน เริ่มใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มแรงงาน รวมระยะเวลาทั้งหมดในการวิจัย 1 ปี 7 เดือน
โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 28 คน แบ่งเป็นชาย 10 คน หญิง 18 คน มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 11คน รองลงมา คือ ภาคเหนือ 6 คน ภาคตะวันออก 2 คน กรุงเทพฯ 2 คน ภาคใต้ 1 คน ภาคกลาง 1 คน และ 5 คนไม่ระบุภูมิลำเนา
ทั้งนี้ เหตุผลส่วนตัวที่มีข้อกังวล คือ แรงงานผิดกฎหมายจะขาดสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้เกิดปัญหาที่สิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง
โดยจุดที่น่าสนใจ คือ แรงงานส่วนใหญ่ทราบความเสี่ยงทั้งหมดนี้ และต้องการหาเหตุผลของการเกิดแรงงานผิดกฎหมาย
ผลลัพธ์โดยสรุป มีดังต่อไปนี้
Macro Factor
-แรงผลักสำคัญ (Push Factor) มาจากความไม่มีเสถียรภาพในสังคมไทย โดยปัญหาหลักๆจะมาจากความเหลื่อมล้ำ ที่คนชนชั้นรายได้น้อย ที่ถูกสังคมกำหนดกรอบให้ไม่มีทางเลือกในสังคมมากนัก การพัฒนาเฉพาะส่วนกลางในกรุงเทพและการละเลยการพัฒนาสังคมชนบทให้เท่าเทียม การที่ชนชั้นรายได้น้อย ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ทำให้ไม่สามารถเสนอทางแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายได้ ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้คนชนชั้นรายได้น้อย มีทางเลือกไม่มากในการเอาตัวรอดหรือการยกระดับชนชั้นตนเอง
-แรงดึงสำคัญ (Pull Factor) สังคมเกาหลี โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การขาดแรงงานโดยปัจจัยหลักๆมาจาก สังคมการศึกษาสูงที่เด็กจบปริญญาจะไม่สนใจงานแรงงาน (Labor) เด็กที่จบปริญญาส่วนมากจะสนใจการไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยไม่มีใครยอมไปทำงานแรงงาน อีกทั้งปัญหาการเกิดที่น้อยลง เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งปัญหาเศรษฐกิจ วัยรุ่นยกใหม่ตกงาน ปัญหาเฟมินิสต์ (Feminism) ที่ผู้หญิงเข้าใจสิทธิของตนเองและมีการศึกษาสูงโดยไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ชาย ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานขั้นรุนแรง
Meso Factor
ตัวกลางในการช่วยเหลือการเดินทางของแรงงาน (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Thai Migrant Networks) คือกลุ่มเครือข่ายสังคมคนไทยต่างแดนทั้งหมด ที่มีส่วนช่วยเหลือในความเป็นไปได้ในการย้ายถิ่นและหางานในเกาหลี กลุ่มเครือข่ายสังคมคนไทยเหล่านี้ ไม่ได้มีแค่เฉพาะแรงงานผิดกฎหมาย แต่รวมรวบคนไทยทั้งหมดโดยส่วนมากในเกาหลีและในไทยที่มีส่วนในการช่วยเหลือการย้ายถิ่น (แรงงาน นักเรียน คนไทยที่ได้สัญชาติเกาหลี เป็นต้น) โดยหน้าที่หลักๆของการเครือข่ายสังคมคนไทยนั้นมีหน้าที่หลักๆ 3 อย่าง
1.เชื่อม Demand และ Supply เข้าด้วยกัน (Connecting Push and Pull factors)
2.สร้างความเป็นไปได้ในการย้ายถิ่นเพื่อมาทำงานในเกาหลี ทั้งหางานและให้ความช่วยเหลือทางสังคม
3.เชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายคนไทยนอกประเทศทั้งหมด (คนไทยไม่ได้มาทำงานเฉพาะที่เกาหลีเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศ โดยเครือข่ายสังคมคนไทย ยังมองหาโอกาสในการไปที่อื่นต่อไปเมื่อมีโอกาส)
เครือข่ายสังคมคนไทยนั้น ยังถูกสร้างความเข็มแข็งโดยคนท้องถิ่น(คนเกาหลี) โดยได้รับการสนับสนุนในการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ทำให้สังคมคนไทยสามารถเติบโตขึ้นได้โดยคนไทยเองและการสนับสนุนจากคนท้องถิ่นและแรงงานที่ได้สถานะถูกกฎหมาย อาทิ สังคมไทยในต่างแดนจะเข็มแข็งขึ้นเมื่อมีการเปิดร้านอาหารไทย ผับไทย ร้านขายสินค้าไทย วัดไทย เป็นต้น
Micro Factor
แรงงานจะตัดสินใจมาทำงานแบบผิดกฎหมายโดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจส่วนบุคคล โดยหลักๆจะขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ปัจจัยความต้องการ (need) และ ปัจจัยความอยาก (want) โดยจะคำนวนจากปัจจัยจาก การเมืองและสังคม (Macro) และความเป็นไปได้ในการย้ายถิ่น (Meso)
ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ (ผู้พูด)
ท้ายที่สุด วิทยานิพนธ์เรื่องนี้สรุปว่า การเกิดของแรงงานผิดกฎหมายนั้น เกิดขึ้นตามระบบของสังคมเศรษฐกิจ ที่มีความซับซ้อนสูง จากงานวิจัยจะเห็นว่าเป็นปัญหาระดับโลกาภิวัฒน์ ทั้งการเมืองไทย การเมืองเกาหลี เศรษฐกิจโลก แรงงานที่ตัดสินใจไปทำงานแบบผิดกฎหมาย โดยส่วนมากจึงอยู่ในสถานะความยากจนที่ขาดการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคม อาทิ การศึกษา พยาบาล และเป็นสถานะที่คนไม่สามารถพึ่งพารัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
แรงงานเหล่านี้ซึ่งมีโอกาสและตัวเลือกในชีวิตไม่มากนัก โดยเงินเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ โดยการมีสถานะทางสัญชาติถือเป็นประเด็นรองลงไป เพราะการมีสถานะสัญชาติไทย ไม่ได้ถือเป็นการรับรองว่าจะได้รับและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างมีศักดิ์ศรี
การมาทำงานแรงงานนอกประเทศนั้นจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หากปัญหารากเหง้าทางการเมืองในไทยไม่ได้แก้ตรงจุดคือความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาความยากจน ต่อให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถหางานได้ในเกาหลี แรงงานเหล่านี้ก็จะมองหาโอกาสในการทำงานที่ประเทศอื่นหรือที่อื่นๆต่อไป
อีกทั้งปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในความจริงเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก โดยส่วนมากจากประเทศที่สาม(ยังไม่พัฒนา) เดินทางไปประเทศที่หนึ่ง (ประเทศพัฒนาแล้ว) แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ยังมีการพัฒนายังไม่เท่าเทียมกัน (ineuqlity development) ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติก็จะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ในสถานภาพสังคมปัจจุบัน .
อ่านประกอบ:วิจัยพบแรงงานไทยในเกาหลีสูง 1.6 แสนคน ถูกกฎหมายแค่ 14%