เปลี่ยนอภิโปรเจ็ค “เขื่อนแม่วงก์” สู่การจัดการน้ำโดยชุมชน แก้น้ำท่วมภัยแล้งจริง
“สร้างเขื่อน-หยุดเขื่อน” ท่ามกลางความต้องการอันสวนทาง ระหว่างการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง กับความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สังคมควรร่วมขบคิด ท่ามกลางการตัดสินใจของรัฐที่จะเดินหน้าสร้าง “เขื่อนแม่วงก์”
วิวาทะ “เอาเขื่อน-ไม่เอาเขื่อน”
10 เม.ย.55 ครม.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นชอบสร้างเขื่อนแม่วงก์ 13,000 ล้านบาท เพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรังก่อนไหลลงสู่เจ้าพระยาช่วยป้องกันน้ำท่วมภาคกลาง และเป็นแหล่งน้ำชลประทาน 291,000 ไร่เพื่อเกษตรกรรมในเขต อ.ลาดยาว อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และบางส่วนใน อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี สถานที่ก่อสร้างจะอยู่บริเวณเขาสบกก ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ยาว 794 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 11,000 ไร่ กักเก็บน้ำได้ปริมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาก่อสร้างรวม 8 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562
ทั้งที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีไอเอ)ฉบับเดิมไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และยังเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ส่วนอีไอเอฉบับใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะเสร็จเดือน ก.ค.55 และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ อีกครั้ง แต่รัฐบาลล่วงหน้าผลักดันโครงการไปก่อนแล้ว
ระหว่างการผลักดันก่อสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมน้ำในลุ่มเจ้าพระยา บรรเทาอุทกภัย และการพัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทาน 3 แสนไร่ ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมที่คิดต่าง อีกฟากกังวลกับสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานฯไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ มีไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ไม้สัก 50,000 ต้น สูญเสียพื้นที่ดูดซับคาร์บอนประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน รวมถึงกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 500 กว่าชนิด
ทั้งยังมีข้อเรียกร้องว่ากรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งนั้น รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม เพราะระบบนิเวศป่าไม้สัตว์ป่า และชุมชน เป็นเดิมพันที่ประชาชนต้องร่วมกำหนด
คำถามต่อการจัดการน้ำแบบรัฐ
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อมูลว่าอุทยานฯแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่มีศักยภาพสามารถเสนอเป็นมรดกโลกต่อจากห้วยขาแข้ง เป็นสมบัติส่วนรวมของคนทั้งประเทศเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและเสือที่แพร่กระจายมาจากห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนในกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งผืนป่าแห่งนี้ยังให้ “น้ำ” ได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกสายน้ำมาจากป่าที่อยู่บริเวณนี้ แถบนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจใหญ่ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาที่นี่
เวลาจะสร้างเขื่อนจำเป็นต้องเบี่ยงสายน้ำให้อ้อมออกนอกพื้นที่ทำให้แม่น้ำแถบนี้แห้ง รีสอร์ทก็กระทบ เศรษฐกิจการท่องเที่ยวจะยุบตัวไปไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี
“ต้นเหตุมาจากการจัดการน้ำเพื่อสนองความต้องการมนุษย์ รัฐใส่งบประมาณเข้าไปใส่การพัฒนาสร้างเขื่อนสร้างระบบชลประทาน ซึ่งสวนทางกับแนวทางเกษตรพอเพียง เรามีต้นทุนน้ำเท่าไหร่ จะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศษรฐกิจ เพราะบริเวณแม่วงก์เป็นแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดินที่ดีมาก เป็นน้ำลอดใต้ทราย จะมีน้ำบ่อตื้นน้ำใต้ดินระดับตื้น เป็นศักยภาพแท้จริงของภาคเกษตรที่นี่”
หากพุ่งเป้าว่าทำอย่างไรจะปลูกข้าวได้ 2ปี 7 ครั้งเหมือนที่ปทุมธานี โดยไม่มองศักยภาพของน้ำที่มี แต่กลับมองว่าจะมีระบบชลประทานเข้าไปทุกพื้นที่ ไม่ใช่แนวทางเกษตรพอเพียงแล้ว แผนการจัดการลุ่มน้ำสะแกกรังนั้นสวนทางกับเกษตรทฤษฏีใหม่ พอเขื่อนมาตั้งก็ก่อให้เกิดโครงการต่างๆตามมา มีการตั้งงบประมาณเข้ามาตามคำว่าขาดแคลนน้ำ แต่จริงแล้วจะเข้ามาเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบล้างผลาญ
ศศิน มองว่าชุมชนพร้อมจะทำเพราะมันคือชีวิต แต่รัฐไม่เปิดเวทีเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านมีความรู้ว่าเส้นน้ำอยู่ตรงไหนสายน้ำอะไร ความต้องการปริมาณน้ำ ฯลฯ เพราะอยู่มาตลอดชีวิต เพียงแค่ใส่เครื่องมือให้จะกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งที่ช่วยรักษาแหล่งต้นน้ำรักษาป่า เช่น ชุมชนย่านเขาแม่กระทู้
คำตอบของการจัดการน้ำแบบชุมชน
ณรงค์ แรงกสิกร ประธานเครือข่ายแม่วงก์ ชุมชนคนรักษ์ป่า บ้านธารมะยม ต.วังซ่าน อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เล่าให้ฟังขณะพาชมระบบประปาหมู่บ้านที่เขาแม่กระทู้ ว่าแม้ชุมชนบริเวณนี้อยู่ที่สูงในอดีตก็มีน้ำหลากท่วมบ้าง แม่กระทู้ก็เป็นเขาที่มีไฟป่าเกิดขึ้นตลอดทั้งปี เมื่อเคยมีป่ามีน้ำ แต่เมื่อความอุดมสมบูรณ์จางหาย น้ำเริ่มไม่พอใช้ ชาวบ้านจึงเกิดความตระหนักและหันกลับมารักษาป่า
“เมื่อไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ ชาวบ้านจึงช่วยกันปลูกเสริมนับจากปี 2539 จนปัจจุบันเขาแม่กระทู้ 45,000 ไร่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่องน้ำเดิม 18 แห่งกลับมามีน้ำ โดยปี 2543 กลุ่มประปาภูเขาหมู่บ้านธารมะยมจึงเริ่มขึ้นจากการทำฝายนับร้อยจุด เราเอาหินไปเรียงเอาท่อไปเสียบแล้วก็นำน้ำมาสู่แท็งค์เก็บ ปล่อยล้นลงอ่างธรรมชาติ ต่อท่อไหลลงมาดันขึ้นแท็งค์ขนาด 20 เมตรกระจายสู่กว่า 200 ครัวเรือน น้ำที่เหลือจากอุปโภคก็นำมาใช้ทำเกษตรกว่า 500 ไร่ วันนี้ระบบการจัดการน้ำแบบชาวบ้านได้ขยายออกไปนับ 10 หมู่บ้านแล้ว”
จากที่เคยเปิดหน้าดินเปลี่ยนเป็นดูแลรักษาป่า มารวมกลุ่มกันทำฝายกว่า 140 แห่ง สร้างระบบประปาภูเขา มีคณะกรรมการคอยดูแล เก็บค่าน้ำหน่วยละ 3 บาท จากอดีตที่ปลูกได้แต่ข้าวโพด มันสำปะหลัง พอมีน้ำเหลือก็เอามาทำนาข้าว เกิดโรงสีชุมชน แกลบทำปุ๋ย รำเลี้ยงสัตว์ เกิดตลาดร้านค้าชุมชน เริ่มจากไม่มีเงิน ปัจจุบันมีหลายแสนบาท เมื่อเงินเหลือก็นำไปเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน นำผลกำไรจ้างครูมาประจำโรงเรียนหมู่บ้าน บางส่วนนำมาจัดระบบแก้หนี้ชาวบ้าน ปีหน้าจะทำน้ำแร่บรรจุแก้วขายด้วย
ไม่ใช่แค่บ้านธารมะยมเท่านั้นที่ได้ใช้น้ำกันตลอดทั้งปี น้ำที่เหลือเฟือได้ไหลไปรวมเชื่อมกับคลองลูกนกไหลต่อลงไปอีก 3-4 หมู่บ้านถัดๆไปได้ใช้ประโยชน์ต่ออีกทอดหนึ่ง การจัดการน้ำแบบชุมชนนี้เป็นทางเลือกในการพัฒนาได้หรือไม่? ณรงค์ทิ้งคำถาม
เสียงคนแม่วงก์
พรมมา สุวรรณศรี ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.แม่เลย์ เล่าว่าเรื่อการสร้างเขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้นมาหลายรัฐบาล เดิมจะสร้างที่เขาชนกัน ระหว่างเขาพริกไทกับเขาแม่กะทู้ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเขาสบกก ต.แม่เลย์ ในอุทยานฯแม่วงก์ โดยกั้นน้ำแม่วงก์สายเดียว ซึ่งใต้ลำน้ำแม่วงก์ยังมีแม่น้ำอีก 6 สาย เช่น คลองแบ่ง คลองแม่เลย์ ไหลรวมมาที่เขาชนกัน หากสร้างที่แม่วงก์จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ
ผมว่าเหตุผลของรัฐบาลมีน้ำหนักไม่พอ อาจแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียงส่วนหนึ่ง อยากให้กรมชลประทานเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านต่อสาธารณะ ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น มีกระบวนการโปร่งใส อย่าใช้มวลชนจัดตั้งมาสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ รายชื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนมาจากขบวนการล่ารายชื่อ บ้างก็หลอกให้มาประชุมรับพระไปบูชา ชาวบ้านก็แห่กันมาลงชื่อรับ
คนตำบลแม่เลย์ ไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง อย่างที่บ้านใหม่แม่เรวา ใกล้ๆสถานที่สร้าง ชาวบ้านกังวลไม่กล้าพูดกล้าคุยกันเรื่องเขื่อน หวาดระแวงทั้งที่หวั่นต่ออนาคตลูกหลาน ผมเองเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแม่วงก์ ยังไม่เห็นมีการพูดคุยเรื่องนี้ และการศึกษาอีไอเอก็เป็นงานวิจัยเก่าข้อมูลเก่า ไม่เห็นมีใครเข้ามาสำรวจ มีประโยชน์กับชาวบ้านจริงหรือไม่ แก้น้ำท่วมได้หรือไม่ ชาวบ้านไม่รู้ตัวว่าจะมีการเวนคืนที่อยู่อาศัยที่ทำกินหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม”
ในพื้นที่ที่ระบุว่าจะได้ประโยชน์จากน้ำที่มาจากเขื่อนกว่า 3 แสนไร่ ก็ไม่มีใครทราบว่าตนจะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำแน่นอนหรือไม่ ที่สำคัญป่าที่นี่ไม่ใช่ป่าของคนแม่เปินแม่วงก์คนนครสวรรค์ เป็นของคนทั้งประเทศ พร้อมที่จะแบข้อมูลไหม ป่าหมื่นกว่าไร่จะปลูกเพิ่มทดแทนที่ไหน ทดแทนความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศลำน้ำแม่วงก์ได้หรือเปล่า เปลี่ยนแล้วเอาคืนมาได้ไหม ชุมชนกำหนดชีวิตตนเองได้แค่ไหน
“ไม่ใช่เรื่องเสียงข้างมากหรือฝากไว้ที่ตัวแทน แต่ต้องตัดสินใจด้วยองค์ความรู้ มีนักวิชาการมาวิจัยบนฐานประเพณีวัฒนธรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วม จึงจะเป็นการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยจากล่างขึ้นบน”
สอดคล้องกับสมจิตร อินสนิท สารวัตรกำนัน ต.แม่เลย์ มองว่าในพื้นที่มีบ้างที่เกิดปัญหาน้ำท่วมแต่ก็เป็นแบบน้ำหลากช่วงฝนตกมาก อยู่บนพื้นที่สูงก็ปล่อยให้ผ่านไป น้อยมากที่จะเสียหาย ส่วนด้านที่เลยเขาชนกันไป ภัยแล้งก็มีน้อยเป็นบางครั้งบางปีเท่านั้นช่วง มี.ค.-เม.ย. แต่ไม่รุนแรง เพราะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์
“ผู้นำไปประชุมกันแต่ประชาชนไม่ทราบข้อมูล ไม่รู้ว่าจะเสียหรือได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร อะไรคือเหตุผล ประโยชน์สูงสุดคืออะไร ชุมชนไม่มีข้อมูลว่าจากหน้าเขื่อนถึง อ.สว่างอารมณ์ สร้างเขื่อนแล้วจะได้รับน้ำหรือไม่ ชุมชนไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงทำให้เกิดความหวัง และหันไปสนับสนุนก็เยอะ”
ประเด็นที่ควรรับฟังจากองค์กรอนุรักษ์ฯ
ในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ที่ส่งถึงรัฐบาล นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ 13 องค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงจุดยืนชัดเจน มีเหตุผลหลัก 3 ประการ
1.การสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นการทำลายระบบนิเวศผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯแม่วงก์และผืนป่าตะวันตก โดยอุทยานฯแม่วงก์มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดลำน้ำสำคัญคือลำน้ำแม่วงก์(ห้วยแม่เรวา) ซึ่งมีความสวยงามตามธรรมชาติ ลำน้ำแม่วงก์ยังคงมีคุณภาพและปริมาณน้ำที่หล่อเลี้ยงพื้นที่กสิกรรมบริเวณชุมชนใน อ.แม่วงก์ และไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนด้านสัตว์ป่า อุทยานฯแม่วงก์เป็นพื้นที่สำคัญในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลกซึ่งใกล้สูญพันธุ์ เหลืออยู่ไม่เกิน 3,200 ตัว ส่วนในประเทศไทยเหลือไม่เกิน 250 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในผืนป่าตะวันตกรวมถึงในอุทยานฯแม่วงก์ที่เสือโคร่งกระจายตัวมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สัตว์ป่าสำคัญในป่าแห่งนี้อีกชนิดหนึ่งคือนกยูงไทย ซึ่งมีสถานภาพถูกคุกคามและไม่มั่นคงในระดับโลก ที่ผ่านมาในผืนป่าแม่วงก์นกยูงไทยกำลังได้รับการฟื้นฟูกระจายพันธุ์กลับคืนมาเป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติ
2.เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง จากลักษณะภูมิศาสตร์พื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมได้แก่ อ.แม่วงก์ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่เป็นพื้นที่ลาดเท โดยเฉพาะลาดยาวมีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำจากทั้งทางตอนบนจากกำแพงเพชร ทางตะวันออกจาก อ.บรรพตพิสัย อ.เก้าเลี้ยว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจาก อ.แม่วงก์ และทางทิศตะวันออกจาก อ.แม่เปิน อ.ชุมตาบง ธรณีวิทยาเช่นนี้เป็นลักษณะทางธรรมชาติของพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมลำน้ำอีกหลายสายไหลมาบรรจบกันกับน้ำแม่วงก์ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะในเขตตัวเมือง อ.ลาดยาว การสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงกักเก็บน้ำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
3.รัฐบาลควรพิจารณาข้อมูลรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำอีไอเอ และต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าพิจารณาใน ครม. ดังนั้นมติ ครม. 10 เม.ย.55 ที่เห็นชอบหลักการให้ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงที่ไม่ชอบต่อกฎหมาย
.....................................................................................
ท้ายที่สุด ไม่ว่าคำตอบของเขื่อนแม่วงก์จะเป็นอย่างไร แต่ทำไมไม่มองหาทางเลือกอื่นๆ เช่น การจัดการน้ำขนาดเล็กให้กระจายเต็มพื้นที่โดยชุมชนร่วมบริหารจัดการ ทดแทนอภิโปรเจ็คที่ก่อผลกระทบ.