นายกฯตั้ง "สำนักเลขาฯ" คุมยุทธศาสตร์พูดคุยดับไฟใต้ เพิ่มบทบาทสันติบาล!
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 327/2561 ลงวันที่ 7 ธ.ค.61 เพื่อปรับปรุงกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "พูดคุยดับไฟใต้"
คำสั่งนี้เป็นการแก้ไขคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ลงวันที่ 26 พ.ย.57 ซึ่งเปรียบเสมือน "กรอบทิศทาง" ของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่ริเริ่มอีกครั้งในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
คำสั่งฉบับใหม่ไม่ได้รื้อโครงสร้างกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แบบ "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" เพราะกระบวนการพูดคุยฯ ยังประกอบด้วยกลไกหลัก 3 ระดับ คือ "คณะกรรมการระดับชาติ" ที่มีนายกฯเป็นประธาน, "คณะพูดคุยฯ" ที่มีหัวหน้าคณะพูดคุยฯเป็นประธาน ซึ่งหัวหน้าคณะพูดคุยฯคนปัจจุบัน คือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ "คณะประสานงานระดับพื้นที่"
แต่สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือการเพิ่มบทบาทของตำรวจสันติบาลเข้ามาในกลไกระดับต่างๆ ของกระบวนการพูดคุยฯ มากขึ้นกว่าเดิม และตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อประเมินสถานการณ์ในเชิงยุทธศาสตร์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามคำสั่งใหม่ มีด้วยกัน 5 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก องค์ประกอบของ "คณะกรรมการระดับชาติ" ใช้ชื่อเดิมคือ คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเหมือนเดิม และมีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกฯมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (ผอ.สขช.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และหัวหน้าคณะพูดคุยฯ โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาธิการ สมช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการระดับชาตินี้ มีองค์ประกอบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย โดยตัดเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเลขาธิการ กอ.รมน. รวมทั้งที่ปรึกษาที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่พิจารณาในกระบวนการพูดคุยฯออกไป แล้วเพิ่ม ผบ.ตร.เข้ามาแทน
อย่างไรก็ดี ต้องหมายเหตุเอาไว้ตรงนี้ว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 92/2558 เรื่องการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่ออกตามหลังคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ได้เคยเพิ่ม "ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล" เป็นกรรมการพูดคุยระดับชาติ แต่คราวนี้เปลี่ยนออก แล้วใส่ ผบ.ตร.ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจเข้าไปแทน
ส่วนอำนาจหน้าที่ของ "คณะกรรมการระดับชาติ" ยังคงเหมือนเดิม คือตัดสินใจทางนโยบาย กำหนดทิศทางและขอบเขตการพูดคุยฯ สนับสนุนกระบวนการพูดคุยฯ และพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือเรื่องที่สืบเนื่องจากการพูดคุยฯ ให้เกิดผลในเชิงบวกต่อการสื่อสารกับสาธารณะ
ประเด็นที่ 2 การจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการระดับชาติ และประสานการทำงานร่วมกับคณะพูดคุยฯ รวมถึงคณะประสานงานระดับพื้นที่
จริงๆ แล้วในคำสั่งเดิมก็กำหนดให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อยู่แล้ว เพียงแต่ในคำสั่งเดิมเขียนไว้สั้นๆ ไม่ได้กำหนดโครงสร้าง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่เอาไว้ แต่คำสั่งใหม่กำหนดไว้ยืดยาว
กล่าวคือให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดตั้ง "สำนักงานเลขานุกการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ใช้ชื่อย่อว่า "สล.คพส." โดยมีเลขาธิการ สมช.เป็นผู้อำนวยการ มีรองเลขาธิการ สมช.ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองผู้อำนวยการ และมีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กอ.รมน. กอ.รมน.ภาค 4 ผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้แทนส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องเป็น "เจ้าหน้าที่ประจำ" และให้ผู้ช่วยเลขาธิการ สมช.เป็นเลขานุการสำนักงาน
นอกจากนั้นยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่เอาไว้อย่างชัดเจน ได้แก่
1.ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ของกระบวนการพูดคุยฯในเชิงยุทธศาสตร์ และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการระดับชาติ
2.ประสานงานและอำนวยการปฏิบัติงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ คณะประสานงานระดับพื้นที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล
3.ประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
4.ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการระดับชาติ และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายบุคคลเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยฯตามความจำเป็น
6.ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการ สมช.มอบหมาย
ประเด็นที่ 3 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะพูดคุยฯ ให้ประกอบด้วย หัวหน้าคณะพูดคุยที่นายกฯแต่งตั้ง พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับมอบหมาย เป็นคณะพูดคุยฯ
นอกจากนั้นยังให้ผู้แทน สมช. กอ.รมน. และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นคณะพูดคุยฯและเป็นเลขานุการร่วม
โครงสร้างนี้เปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างเดิมตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 คือไม่มีผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะประสานงานระดับพื้นที่ ไม่มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ แต่เพิ่มผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาลเข้าไป ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะพูดคุยฯ ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่ 4 คณะประสานงานระดับพื้นที่ ให้ประกอบด้วย แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นหัวหน้าคณะ มีผู้แทน สมช. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย ศอ.บต. ผู้แทนตำรวจภูธรภาค 9 ผู้แทนสำนักงานอัยการภาค 9 ผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะประสานงานระดับพื้นที่ และให้ผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 เป็นคณะประสานงานระดับพื้นที่และเลขานุการ
ความแตกต่างจากคำสั่งเดิม คือคำสั่งใหม่ใช้ชื่อตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ส่วนคำสั่งเก่าใช้ชื่อตำแหน่ง ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นหัวหน้าคณะ (ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลคนเดียวกัน) และคำสั่งเก่าไม่ได้กำหนดตัวผู้แทนหน่วยงานระดับพื้นที่อย่างชัดเจน เช่น ใช้คำว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายทหาร ฝ่ายอัยการเท่านั้น แต่คำสั่งใหม่ระบุชัดว่าเป็นหน่วยไหนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ เช่น ตำรวจภูธรภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9
ประเด็นที่ 5 คำสั่งใหม่ยังคงให้ กอ.รมน.ภาค 4 จัดตั้งสำนักเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่เช่นเดิม แต่เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ในข้อ 3 จากเดิมที่ให้ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่มอบหมาย เป็นปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ หรือหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่มอบหมาย
อนึ่ง การเพิ่มบทบาทของฝ่ายตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจสันติบาลในกลไกของคณะพูดคุยฯระดับต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่าเพื่อให้ทำงานสอดประสานกับ "ผู้อำนวยความสะดวกคณะพูดคุยฯ" ที่รัฐบาลมาเลเซียมอบหมายให้อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกฯ และอาจเป็นไปได้ว่ากระบวนการพูดคุยรอบใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น น่าจะมีการคัดกรองบุคคลที่เป็นแกนนำหรือสมาชิกกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐให้ชัดเจนกว่าเดิม
ขณะที่การตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะพูดคุยระดับชาติ ก็เพื่อให้มีหน่วยงานที่ชัดเจนในการควบคุมกลไกการพูดคุยฯ และประเมินสถานการณ์ในเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลไทยในการยกระดับการพูดคุยฯ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็น
---------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : นายกฯคุมเองพูดคุยดับไฟใต้ "อักษรา" เตรียมจัดทีมไปมาเลย์