ชง คกก.ปฏิรูประบบสาธารณสุข ช่วย “คนไทยรอพิสูจน์สถานะ” เข้าถึงบริการสุขภาพ
ชง คกก.ปฏิรูประบบสาธารณสุข ช่วย “คนไทยรอพิสูจน์สถานะ” เข้าถึงบริการสุขภาพ คาดราว 1 แสนคน ลดภาระค่ารักษาหน่วยบริการ หลัง “กองทุนบัตรทอง” ติด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำกัดแค่คนสัญชาติไทย พร้อมเสนอเร่งกระบวนการพิสูจน์สถานะ เหตุล่าช้านานเป็นปี ทำเสียสิทธิทั้งที่เป็นคนไทย
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้มีหลักประกันสุขภาพรองรับว่า ที่ผ่านมา คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนได้นำข้อมูลสถานการณ์กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ พร้อมข้อเสนอการแก้ไขปัญหานำเสนอต่อคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยกรรมการ สปสช. ในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยที่คนกลุ่มเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพ แต่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิตามกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเป็นคนไทยที่มีสถานะทะเบียนชัดเจนคือมีสัญชาติไทยแล้ว ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถครอบคลุมดูแลถึงคนกลุ่มนี้ได้ ดังนั้น สปสช.อาจไม่ใช่หน่วยงานหลักเรื่องนี้ จึงต้องหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อผลักดันต่อ อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ มีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุเพื่อปฏิรูปด้านการเงินการคลังในระบบสุขภาพที่มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นประธาน ภายใต้อนุกรรมการชุดนี้ มีคณะทำงานย่อยเพื่อดูในเรื่องหลักประกันสุขภาพในประเทศทั้งหมด ที่ครอบคลุมทั้งคนไทย ผู้ที่ตกหล่นทางทะเบียน รวมถึงแรงงานต่างด้าว ที่ผ่านมาจึงได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะทำงานชุดนี้และได้ร่วมพูดคุยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานได้เข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นดี และจะมีการหารือต่อเนื่องในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้การช่วยเหลือคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ มี 2 ประเด็นที่ต้องขับเคลื่อน คือ 1.การลงทะเบียนให้คนเหล่านี้มีเลข 13 หลัก หรือบัตรประชาชนรองรับ ที่ต้องมีกลไกสนับสนุนเพื่อทำให้การลงทะเบียนรวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันใช้เวลาเร็วสุด 2 เดือน แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็นปี เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และ 2.การจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อดูแลคนเหล่านี้ให้เข้าถึงการรักษาแในช่วงระหว่างรอพิสูจน์สถานะขึ้นทะเบียน แต่ยังใม่มั่นใจว่าจะเสนอไปหน่วยงานใดเพื่อเป็นแกนหลักผลักดันและดำเนินการ แต่มีผู้เสนอให้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแล “กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” แต่เบื้องต้นมองว่าคงต้องให้ทั้ง สธ.และ สปสช.ร่วมมือผลักดัน เพราะเป็นการทำเพื่อดูแลคนไทยด้วยกัน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ต่อข้อซักถามว่า ความยากในการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อรักษาพยาบาลกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า คงเป็นเรื่องงบประมาณ เพราะการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นการของบประมาณก้อนใหม่ ประกอบกับคนไทยที่มีปัญหาสถานะที่ยังมีจำนวนไม่ชัดเจน แต่จากประมาณการณ์คาดว่ามีราว 1 แสนคน ทำให้สำนักงบประมาณเกิดความกังวลได้ แต่การจะทำการสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนก็เป็นเรื่องที่ยาก ในการจัดตั้งกองทุนนี้จึงไม่ได้เสนอของบรายหัว แต่เป็นรูปแบบกองทุนหมุนเวียนแทน อย่างไรก็ตามในอดีตเราเคยสำรวจคนไทยตกหล่นทะเบียนเมื่อปี 2553 และเปิดให้ขึ้นทะเบียนมาแล้ว แต่ปรากฎยังมีคนไทยที่ตกหล่นมาขึ้นทะเบียนไม่ทันจำนวนมาก รวมถึงไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล ทั้งยังไม่สามารถเข้าสู่กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะได้ ดังนั้นทีมนักวิชาการมองว่า การแก้ปัญหารัฐควรเปิดให้มีการลงทะเบียนคนไทยที่ยังตกสำรวจเป็นระยะ เพื่อดึงคนเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบ
นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า หากเป็นไปได้เรื่องนี้อยากผลักดันเป็นหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อรักษาพยาบาลกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในระหว่างการรอพิสูจน์สถานะ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการที่ดูแลคนไทยเหล่านั้น ไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่าย แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับบริการต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ ขณะเดียวกันให้เร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สิทธิ หากเป็นไปได้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน ทั้งในส่วนการตรวจสอบเอกสารและการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ โดยในการตรวจดีเอ็นเอนั้นทางกระทรวงมหาดไทยมีงบประมาณที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สถานะบุคคลอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการประสานงานและเชื่อมต่อการพิสูจน์สถานะ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการแก้ไขปัญหาต่อไป