เวทีสมัชชาสุขภาพถกแก้ปัญหา คนไทยเข้าถึงบริการทันตกรรมแค่ 8%
ทันตแพทยสภา รุก “คุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม” เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ถกบรรจุเป็นนโยบายสาธารณะ แก้ปัญหาคนไทยเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรม หลังพบข้อมูลคนไทยเข้าถึงบริการทันตกรรม 8% เท่านั้น ร่วมจัดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมพื้นฐานมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน พร้อมแก้ปัญหาจัดฟันแฟชั่น ทำฟันเถื่อน
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” ได้มีวาระการรับฟังความเห็น “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม” ข้อเสนอจากทันตแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค วิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภค และสภาเภสัชกรรม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและคุ้มครองประชาชนด้านบริการทันตกรรม ทั้งการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพและมาตรฐาน การสร้างความเท่าเทียมในสิทธิประโยชน์ทันตกรรม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ และการคุ้มครองความปลอดภัยจากปัญหาทำฟันเถื่อน
ทพ.ธงชัย วชิรโรจนไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2 กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรมนี้ เป็นการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทันตแพทยสภามองว่าคนไทยควรได้รับบริการทันตกรรมที่ปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐานและเท่าเทียมกัน จึงผลักดันเข้าเป็นวาระในสมัชชาสุขภาพเป็นครั้งแรก โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ
ประเด็นแรก “การเข้าถึงบริการทันตกรรม” จากข้อมูลด้านทันตกรรมพบว่า มีคนไทยจำนวนมากที่เป็นโรคในช่องปาก เฉพาะภาวะอักเสบในช่องปากและหินปูนถึงร้อยละ 70-80 ส่วนเด็กมีฟันผุถึงร้อยละ 50 แต่อัตราการเข้ารับบริการทันตกรรมมีแค่ร้อยละ 8 เท่านั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะระบบบริการทันตกรรมที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงบริการ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพหลักยังมีเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ อาทิ กองทุนประกันสังคมจำกัดการจ่ายค่าบริการ 900 บาท/ปี ถือว่าน้อยมาก แต่มีข้อดีคือสามารถใช้บริการในคลินิกทันตกรรมเอกชนได้ ส่วนกองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแม้ว่าสิทธิประโยชน์ดีกว่า แต่จำกัดการเข้ารับบริการเฉพาะที่โรงพยาบาลของรัฐที่คิวการรักษานั้นยาวมากและเป็นอุปสรรค ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องมองและทำในเชิงระบบ
นอกจากการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทันตกรรมของ 3 กองทุนให้เท่าเทียมกัน โดยมีชุดสิทธิประโยชน์หลักทางทันตกรรมชุดเดียวกันแล้ว ด้วยทันตแพทย์ทั่วประเทศมีประมาณ 15,000 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอยู่ในระบบภาครัฐและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ภาคเอกชน ทั้งคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศมีประมาณ 5,000 แห่ง ทำอย่างไรจึงจะดึงทรัพยากรด้านทันตกรรมในส่วนภาคเอกชนมาร่วมจัดบริการเพื่อดูแลผู้มีสิทธิทั้ง 3 กองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ไม่ใช่จำกัดเฉพาะหน่วยบริการภาครัฐ เป็นการใช้ทรัพยากรด้านทันตกรรมที่มีอยู่ในประเทศอย่างเต็มที่ อาทิ การปรับอัตราการจ่ายชดเชยเพื่อให้คลินิกทันตกรรมสามารถร่วมให้บริการได้ เป็นต้น
“อัตราการจ่ายชดเชยบริการทันตกรรมทั้งในกองทุนสวัสดิการข้าราชการและบัตรทองเข้ารับบริการได้แค่ที่หน่วยบริการภาครัฐเท่านั้น หากจะเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมให้กับประชาชน จะต้องปรับอัตราการจ่ายชดเชยที่ภาคเอกชนรับได้ด้วย โดยรัฐไม่ต้องขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มการจัดบริการ เชื่อว่ามีคลินิกทันตแพทย์เอกชนที่อยากร่วมบริการเพื่อร่วมดูแลประชาชน พร้อมขยายสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในส่วนประกันสังคมที่จำกัดสิทธิเพียง 900 บาท/ปี ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกกองทุน” อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2
ทพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบริการทันตกรรมของทั้ง 3 กองทุน ยังเสนอให้มีการวิจัยเพื่อจัดตั้ง “กองทุนทันตกรรม” เพื่อจะสามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนา รวมถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมหลักร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนยังไม่มีกองทุนทันตกรรมนี้ โดยกองทุนบัตรทองรวมงบบริการทันตกรรมไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว ขณะที่กองทุนประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการเป็นการจ่ายชดเชยตามรายการ
ทพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนอีกประเด็นคือ “การแก้ปัญหาการจัดฟันแฟชั่นและการให้บริการทันตกรรมเถื่อน” ที่ผ่านมาแม้ว่าทันตแพทยสภาจะร่วมกับ บก.ปคบ.ในการไล่จับกุม โดยเรามีการเปิดเพจมือปราบหมอฟันเถื่อนเพื่อรับแจ้งเบาะแสในการทำความผิด ซึ่งประชาชนแจ้งเข้ามาเยอะมาก ในกรณีต่างจังหวัดทันตแพทยสภาจะประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อดำเนินการ แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทันตแพทยสภาจะร่วมกับ บก.ปคบ.ดำเนินการจับกุม แต่หลังจากจับกุมแล้วก็จะมีการเปิดเพจใหม่ขึ้นอีก จึงได้หารือกับ อย.ในการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยควบคุมการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ด้านทันตกรรม และทำให้ประชาชนรู้เท่าทันต่อการโฆษณาหลอกลวง และอันตรายจากการจัดฟันแฟชั่นและการทำฟันเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับทั้ง 2 ประเด็นนี้ ทันตแพทยสภาเพียงหน่วยงานเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นช่องทางที่ดีในการผลักดันและก่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเมื่อเรื่องนี้ได้การรับรองเป็นมติสมัชชาสุขภาพ จะถูกนำเสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบและแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งจะทำให้การทำงานนั้นง่ายขึ้น ทั้งนี้การผลักดันประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรมเข้าเป็นหนึ่งในวาระสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 11 นั้นเราทำงานกันมาเยอะมาก เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่เมื่อได้การรับรองมติและประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ ผลที่ได้นับว่าคุ้มค่า โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศในอนาคต
ทพ.ธงชัย กล่าวว่า การเข้าถึงบริการทันตกรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อสุขภาพประชาชน หากเคี้ยวอาหารไม่ได้หรือช่องปากมีปัญหา ร่างกายก็จะมีสุขภาพอื่นตามมา ซึ่งในเด็กหากฟันผุก็จะเคี้ยวได้ลำบาก กระทบต่อด้านโภชนาการที่มีผลในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งผู้ใหญ่เองก็จะกระทบต่อสุขภาพร่างกายเช่นกัน เรื่องนี้จึงสำคัญมาก ดังนั้นทันตแพทยสภาจึงกำหนดการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชนนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ