สัมผัส 'ความรักของโรนัน-แคนยอนน้ำหนาว' 2 ภาพถ่ายยอดเยี่ยมเวที 'สัตว์มีค่าป่ามีคุณ' ปี 61
"...ภาพถ่ายเป็นการสื่อสารที่สำคัญที่จะให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวของธรรมชาติ เป็นเหมือนบันทึกชีวิต สภาพความเป็นอยู่จากในป่าให้คนในเมืองได้รับรู้ สร้างความรู้สึก ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือป่าไม้มากขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ภาพชื่อ "ไล่จับ" จะเห็นว่าเขาดูมีชีวิตชีวามาก ซึ่งเป็นอีกความสวยงามของชีวิตในโลกที่ไม่ได้มีแต่มนุษย์เท่านั้น..."
"ปัจจุบันป่าไม้และสัตว์ป่าในประเทศไทยถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงจำเป็นที่ทุกหน่วยงานจะต้องมาช่วยกันรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ด้วยเหตุนี้ โครงการประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” จึงเป็นโครงการที่กรมอุทยานฯ ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจถ่ายภาพจะได้ถ่ายทอดความสวยงามของป่าไม้และสัตว์ป่าให้กับคนทั่วประเทศได้รับทราบ"
คือ คำกล่าวของ ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระหว่างการจัดงานพิธีมอบรางวัลโครงการ ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ครั้งที่ 24 ประจำปี 2561 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบนมราชกุมารี และถ้วยประทานสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ รวมทั้งเงินรางวัล ทุนการศึกษา และสิทธิ์ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
โดยการจัดงานโครงการนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยการดำเนินการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด และ บริษัท ซีพี แอนด์เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อมอบรางวัลผลการประกวดแก่ผู้ชนะเลิศประเภทต่างๆ แบ่งออกเป็น ระดับบุคคลทั่วไป และ ระดับนักเรียนนักศึกษา
ขณะที่ ดร.อาชว์ เลาลานนท์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า และมีความภาคภูมิใจที่ได้เริ่มโครงการ ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย “สัตวมีค่า ป่ามีคุณ” ร่วมกับกรมอุทยานฯ มาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ปี ภาพถ่ายสามารถที่จะสื่อความหมายในเชิงอนุรักษ์สร้างจิตสำนึกให้คนในชาติได้รับรู้ว่า ประเทศไทยยังมีสัตว์ป่า ป่าไม้ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นและใช้ประโยชน์ต่อไป
สำหรับการจัดงานในปี 2561 นี้ มีผู้สนใจส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจำนวน 1,758 ภาพ แบ่งเป็นภาพถ่ายสัตว์ป่า 953 ภาพ และภาพป่าไม้ 805 ภาพ ซึ่งผลงานชื่อ “ความรักของโรนัน” ของ นายธนากิจ สุวรรณยั่งยืน ได้รางวัลภาพยอดเยี่ยมประเภทสัตว์ป่า ชนิดภาพสัตว์อื่นๆ รับถ้วยพะราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผลงานชื่อ “แคนยอนน้ำหนาว” ของ นายจามิกร สุขทรามร ได้รางวัลภาพยอดเยี่ยมประเภทป่าไม้ ชนิดภาพ Landscape รับถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธวาสราชนครินทร์
“ความรักของโรนัน” ของ นายธนากิจ สุวรรณยั่งยืน
“แคนยอนน้ำหนาว” ของ นายจามิร สุขทรามร
นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานเสวนาบทเรียนจากภาพถ่าย “นักล่าบนดอยสูง ผลกระทบต่อระบบนิเวศในอนาคต” โดย นายมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ มล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าและกรรมการตัดสินภาพถ่าย ประจำปี 2561 และ นายบารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่าและกรรมการตัดสินภาพถ่าย ประจำปี 2561 ดำเนินรายการโดย นายวัชรบูลย์ ลี้สุวรรณ โดยพูดคุยหมาไนขึ้นที่สูงเพื่อล่ากวางผา
นายมงคล สาฟูวงศ์ อธิบายว่า โดยปกติแล้ว หมาไนเป็นสัตว์ที่ล่าในพื้นที่ราบเท่านั้น แต่เมื่อประมาณปี 2559 ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน มีการพบเห็นหมาไนกำลังล่ากวางผาในพื้นที่สูงชันซึ่งเป็นที่อยู่ของกวางผา โดยหมาไน 2 ตัว วิ่งไล่ และอีก 3 ตัวดักรอในพุ่มไม้ ในเส้นทางที่กวางผาผ่านเป็นประจำ สันนิษฐานว่า หมาไนมีการย้ายถิ่นฐานตามเหยื่อมา ในเบื้องต้นยังไม่ได้กระทำการอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติก่อน แต่มีการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด
ด้าน มล.ปริญญากร วรวรรณ กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ข้อกังวลของนักอนุรักษ์ แต่เป็นข้อสงสัยมากกว่า ว่า หมาไนเหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวด้วยสาเหตุใด อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเช่นนั้น ซึ่งต้องมีการทำวิจัยเรื่องนี้
ขณะที่ นายบารมี เต็มบุญเกียรติ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การที่หมาในจากที่ราบไปล่าในพื้นที่สูงนั้น ปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการแทรกแซงของมนุษย์ เมื่อพื้นที่ล่าเดิมถูกรุกล้ำ ก็จำต้องย้ายพื้นที่ล่าใหม่ จนเข้ามาในพื้นที่อาศัยของกวางผาดังกล่าว
ทั้งนี้ นายมงคล สาฟูวงศ์ มล.ปริญญากร วรวรรณ และ นายบารมี เต็มบุญเกียรติ มีทัศนะตรงกันว่า ภาพถ่ายสัตว์ป่าหรือป่าไม้นั้น นอกจากจะเพื่อความสวยงามแล้ว ยังเป็นหลักฐานและข้อมููลพื้นฐานที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลเป็นประโยชน์แก่งานสำรวจหรือวิจัยได้ ทั้งยังสามารถสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ หรือสร้างเป็นเครื่องมือในการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกบการอนุรักษ์ได้อีกทางหนึ่ง
ส่วน ดร.กาญจนา นิตยะ กล่าวถึงความสำคัญของภาพถ่ายสัตว์ป่าและภาพถ่ายป่าไม้ ว่า ภาพถ่ายเป็นการสื่อสารที่สำคัญที่จะให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวของธรรมชาติ เป็นเหมือนบันทึกชีวิต สภาพความเป็นอยู่จากในป่าให้คนในเมืองได้รับรู้ สร้างความรู้สึก ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือป่าไม้มากขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ภาพชื่อ "ไล่จับ" (ดูภาพประกอบ) จะเห็นว่าดูมีชีวิตชีวามาก ซึ่งเป็นอีกความสวยงามของชีวิตในโลกที่ไม่ได้มีแต่มนุษย์เท่านั้น
"ไล่จับ" ของ นายประสิทธิ์ คำอุด
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายชนะเลิศทุกประเภทรวมถึงผลงานอื่นๆ ที่เข้ารอบในการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ครั้งที่ 24 บริเวณโถงชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 13-23 ธ.ค. 2561
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการผลักดันให้ทุกหน่วยงานหันมาช่วยกันรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ณ ช่วงเวลานี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพประกอบจาก : เฟซบุ๊ก สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ