สสส. หนุนสร้างต้นแบบครอบครัวอบอุ่น ใน 7 จังหวัด
ผลการศึกษาครอบครัวอยู่ดีมีสุขพบว่า ครอบครัวไทยอยู่ดีมีสุขสูงถึง 7.72 คะแนน ใต้ดีสุด กทม.ต่ำสุด สสส. หนุนสร้างต้นแบบครอบครัวอุ่น ใน 7 จังหวัด ระดมข้อเสนอสร้างครอบครัวสุขภาวะเข้าสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 11 ขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ ดึงชุมชน-รัฐ-เอกชน มีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 ที่ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม “ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัวสุขภาวะได้อย่างไร” ว่า ครอบครัวไทยต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลายในภาวะครอบครัวเปราะบางและเข้าสู่ยุคเด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัย โดยสสส. ภายใต้แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว มุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ตามเป้าหมายของ สสส. ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่นให้สูงขึ้นกว่าเดิมหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ดัชนีครอบครัวอบอุ่นของสังคมไทยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนโครงการด้านครอบครัวอบอุ่นภายใต้ตัวชี้วัดครอบครัวอบอุ่น ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ คือ สัมพันธภาพของคนในครอบครัว บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว และการพึ่งตนเอง จึงสนับสนุนการดำเนินงาน 3 โมเดล คือ โมเดลที่ 1 การส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นในชุมชน โดยดำเนินการนำร่องใน 11 จังหวัดและปี 2562 จะยกระดับเป็นจังหวัดส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง พะเยา เลย กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และตรัง โมเดลที่ 2 สนับสนุนการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ และโมเดลที่3 การขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อขยายผลพื้นที่ต้นแบบให้กว้างขึ้น
ด้าน ศ.ดร. รุจา ภู่ไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการดำเนินการโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว เรื่อง ครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุขจริงหรือ? โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพ.ย. 2560 - มี.ค. 2561 ด้วยการสำรวจครอบครัวไทย 6,000 ครอบครัว ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ หนองคาย อุดรธานี ยโสธร สุรินทร์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชลบุรี ยะลา สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และกทม. โดยวัดคะแนนครอบครัวอยู่ดีมีสุขด้วยองค์ประกอบ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1 ด้านความร่วมใจและปลอดภัยในชุมชน 2.ด้านสัมพันธภาพ 3.ด้านบทบาทหน้าที่ 4. ด้านเศรษฐกิจ 5. ด้านการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง 6.ด้านความมั่นคง และพึ่งพา 7. ด้านการศึกษา 8. ด้านการดูแลสุขภาพ และ 9 ด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ มีคะแนนเต็ม 8 คะแนน
ผลการศึกษาพบว่า ครอบครัวอยู่ดีมีสุขโดยรวม 7.72 คะแนน โดยภาคใต้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขสูงสุด 7.89 คะแนน รองลงมา เป็นภาคเหนือ และภาคกลาง 7.73 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.71 คะแนน และต่ำที่สุด คือ กทม. 7.55 คะแนน เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบพบว่า คะแนนครอบครัวอยู่ดีมีสุขในด้านเศรษฐกิจต่ำที่สุด และด้านการดูแลสุขภาพสูงที่สุด นอกจากนี้เมื่อแบ่งครอบครัวเป็น 8 ช่วง/ระยะ เพื่อพิจารณาคะแนนความสุขในแต่ช่วงพบว่า ก่อนแต่งงาน/ไม่มีคู่ 3.6 คะแนน เมื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ ไม่มีบุตร 3.8 คะแนน เลี้ยงดูบุตรเล็ก 3.6 คะแนน เลี้ยงดูบุตรวัยเรียน 3.7 คะแนน เลี้ยงดูบุตรวัยรุ่น 3.7 คะแนน เลี้ยงดูบุตรวัยทำงาน 3.7 คะแนน วัยชรา 3.7 คะแนน และ วัยชราที่เจ็บป่วย 3.6 คะแนน รวมถึงเมื่อพิจารณาจากจำนวนบุตรที่ทำให้มีความสุข พบว่า มีบุตร 4 คน ได้คะแนนสูงสุด 3.81 คะแนน
อนึ่ง ในเวทีเสวนาเรื่อง “ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัวสุขภาวะได้อย่างไร” มีการเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม โดยระดมข้อเสนอเชิงนโยบาย อาทิ เสริมพลังครอบครัวให้เป็นเจ้าของสุขภาวะของตนเอง การสนับสนุนให้ครอบครัวมีความรอบรู้ด้านสุขภาพในทุกมิติ และให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีบทบาทสนับสนุนสุขภาวะครอบครัวของคนทำงาน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป