เกลือ-แร่โปแตช: นิเวศและสิทธิชุมชนในลุ่มน้ำยาม-น้ำสงคราม
รายงานพิเศษเรื่องนี้ มาจากเวทีเสวนา “เกลือ: ประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมและสถานการณ์ปัจุบัน ของลุ่มน้ำยาม- น้ำสงคราม ณ โรงเรียนบ้านโนนอุดม ตำบลศรีวิชัย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เวทีเสวนาวิชาการที่ 1 ระหว่างกิจกรรมไทวานรก้าวเดิน
สิทธิในเกลือและแร่ของชุมชน
สมบูรณ์ ดวงพรมยาว อายุ 53 ปี แม่ค้าขายเกลือที่ผลิตจากบ้านกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
เดิมทีการผลิตเกลือของคนในลุ่มน้ำยามบริเวณอำเภอวานรนิวาสนั้นทำในช่วงฤดูแล้งเท่านั้นที่บริเวณบ่อเกลือดอนสวรรค์ ที่บ้านท่าเยียม บ้านดอนแดง ตำบลศรีวชัย อำเภอวานรนิวาส โดยจะมีการจัดพิธีธรรมไหว้ผี “เจ้าแม่สามสี” บ่อเกลือนั้นไม่มีเจ้าของเป็นของสาธารณะ แต่ก็จะทำกันเป็นกลุ่ม ๆ ไม่ได้รวมกัน คนที่อยู่ไกลบางคนก็อาจจะทำอย่างอื่นมาแลก เช่น ของหวานลอดช่อง ขนมจีน เสื่อ ไพหญ้า ฯลฯ เป็นต้น
เพราะบ่อเกลือมีความสำคัญคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงจึงยังมีพิธีกรรมเลี้ยงผีบ่อเกลืออยู่ ท่านมีชื่อว่า "เจ้าแม่สามสี" หรือบางคนก็เรียกว่า "แม่เพีย" เป็นผีประจำอยู่ในดอนสวรรค์ เวลาเลี้ยงก็จะมีคนทรงแต่งตัวเป็นเจ้าแม่สามสี โดยจะประกอบพิธีกรรมในช่วงเดือนสามออกใหม่สามค่ำ เวลาไปร่วมพิธีเลี้ยงชาวบ้านจะต้องเตรียมดอกไม้ธูปเทียน ไปไหว้ และเมื่อต้มเกลือได้มากพอแล้ว ก่อนจะเก็บข้าวของขึ้นบ้านก็จะปลูกเกลือก่อน โดยจะขุดหลุมเล็ก ๆ แล้วหยอดเกลือใส่ก่อนจะกลบให้เรียบร้อย ถือเป็นการคืนเชื้อความเค็มกลับคืนดินให้มีดินเค็มขึ้นมาให้ได้ต้มเกลืออีกในปีถัดไป
ปัจจุบันมีอาชีพเป็นคนขายเกลือโดยนำเกลือมากจาก "บ้านกุดเรือคำ" ตำบลกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยจุดตั้งเตาต้มอยู่ริมถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 2092 (หนองแวง – บ้านดุง) ทั้งการเริ่มต้นทำเกลือที่บ้านกุดเรือคำเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการเจาะสำรวจน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรธรณี และขุดพบว่าบ่อบาดาลในท้ายหมู่บ้านเป็นบ่อบาดาลที่ให้น้ำเค็ม โดยผู้ประกอบการจะลงทุนเจาะบ่อน้ำด้วยกันและต้มด้วยกันมีโรงต้มเกลือ 30 - 40 ราย โดยใช้แกลบและฟืนในการต้มเกลือและมีคนที่ทำงานอยู่ในกระบวนการผลิตเกลือประมาณ 200 - 400 กว่าคนซึ่งเป็นการจ้างงานในชุมชนกุดเรือคำเอง ในการต้มเกลืออาจจะมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนของน้ำเกลือบริเวณไร่นาอยู่บ้างแต่คนผลิตเกลือก็จะตกลงกับเจ้าของที่นาที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อจ่ายค่าชดเชยความเสียในแต่ละปีเท่ากับผลิตมาณข้างที่ผลิตได้บนพื้นที่ที่เสียหาย ที่เกิดผลกระทบ
"การผลิตเกลือกันในชุมชนบ้านกุดเรือคำอำเภอวานรนิวาส และแหล่งอื่น ๆ ในท้องถิ่นทำให้เกิดการจ้างงาน รายได้ การกระจายเกลือออกจำหน่ายก็เพื่อประโยชน์ในชุมชน อย่างน้อยสิทธิในเกลือก็เป็นของชุมชนแต่หากมีการทำเหมืองแร่โปแตชและได้เกลือมาหลายล้านตัน แหล่งเกลือชุมชนก็สู้ไม่ได้และที่สำคัญชุมชนไม่มีสิทธิในเกลืออีกแต่ไปแล้ว คือเหตุผลให้คนวานรมาทำกิจกรรมไทวานรก้าวเดินในครั้งนี้เพื่อยืนยันสิทธิในทรัพยากรเกลือและแร่ของชุมชนของเรา”
นายมีชัย เหมมะลา 45 ปี ผู้ผลิตเกลือจากบ่อหัวแฮด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า บ่อหัวแฮดเป็นแหล่งเกลือโบราณที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสงคราม การผลิตเกลือที่บ่อหัวแฮด มีมาตั้งแต่สามร้อยสี่ร้อยปีก่อนสืบทอดเรื่อยมาจนปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเรื่อยมาจากการขุดบ่อน้ำสร้างแซงและตักขึ้นมาด้วยมือ ด้วยการซักรอกตักน้ำเค็มขึ้นมาต้นบนหม้อกระทะเหล็ก จนปัจจุบันเป็นการสูบน้ำขึ้นมาต้มด้วยฟืน คนที่จะต้มเกลือที่ท่าสะอาดต้องเป็นคนที่ท่าสะอาดเท่านั้น ก่อนจะต้มก็จะมีการเลี้ยงปู่คำแดงในวันขึ้นสามค่ำเดือนสามของทุกปี ปัจจุบันนี้มีครอบครัวที่ยังผลิตเกลืออยู่ประมาณ 8- 13 ครัวเรือนใช้แรงงานในครัวเรือน
"ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเกลือที่ส่งขายทางเรือตามแม่น้ำสงคราม ตอนนี้เราก็อาศัยส่งเกลือขายตามลุ่มน้ำสงครามและหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ปู่ย่าของเราหลายร้อยปี แต่ปีนี้กลับพบว่า “เจ้านาย” ทหาร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แจ้งว่าไม่ให้เราต้มเกลือเพราะบ่อเกลือเราอยู่ในที่สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำสงคราม ซึ่งเราก็ต้มเกลือแบบนี้โดยปีนี้และเราก็กลัวว่านับจากนี้เราจะต้มเกลือไม่ได้อีกต่อไป”
เกลือเป็นทรัพยากรที่ผลิตในระดับชุมชนมาช้านาน
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่คนมักมองว่าเป็นพื้นที่ที่ยากจนเพราะแห้งแล้งไม่มีทรัพยากรอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วชุมชนโบราณที่เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าพื้นที่บริเวณภาคอีสานนี้คือมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแห่งสินแร่เกลือที่ผุดขึ้นมาบนผิวดินไม่เคยขาดเป็นแหล่งผลิตเกลือที่ทำให้เกิดการค้าขายทางไกลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนอีสานจึงร่ำรวยทรัพยากรมานานนอกจากนี้ยังมีแร่เหล็กที่ทำให้เรามีเครื่องมือทำการเกษตรที่ดีขึ้นสามารถก่อตั้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำยาม และลำห้วยปลาหาง และพบหลักฐานการผลิตเกลือในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่บริเวณน้ำสงครามตอนล่างเป็นการผลิตในบางช่วงเวลาในระดับครัวเรือน
“บริเวณอำเภอวานรนิวาสเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนกลางเป็นรอยเชื่อมต่อตรงกลางระหว่างเทือกเขาภูพานกับแม่น้ำโขง มีสภาพนิเวศแบบโคกเนินที่เชื่อมต่อกับที่ราบน้ำถึงแบบป่าบุ่งป่าทามริมฝั่งแม่น้ำยาม น้ำปลาหาง และน้ำสงคราม ซึ่งมีการขุดเจาะสำรวจแร่อยู่ตอนนี้และเพราะภาคอีสานรวมทั้งอำเภอวานรนิวาสอาศัยอยู่บนโดมเกลือซึ่งในโดมเกลือมหาศาลดินอีสานนั้นมีแรกโปแตชแทรกอยู่ การนำเอาเกลือมาใช้ในอดีตนั้นจะมีกฎระเบียบและความเชื่อควบคุมอยู่ หรือกระทั่งการผลิตเกลือในท้องถิ่นก็มีข้อตกลงกันในชุมชน แต่การทำเหมืองใต้ดินขนาดใหญ่นั้นใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและได้เกลือขึ้นมามากมันยากที่จะควบคุมได้ และความเค็มของเกลือก็มีพิษที่ยากจะจัดการกับพิษภัยความเค็มนั้นได้”
นิเวศอีสานและความเค็ม
บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ได้กล่าวถึงจากสถานการณ์การการผลิตเกลือในลุ่มน้ำยาม-น้ำสงคราม บริเวณอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านม่วง และอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตเกลือประมาณ 3,000 – 5,000 ไร่มีกำลังผลิตประมาณ 3-5 แสนตันต่อปีและกำลังพบปัญหาการกระจายของน้ำเค็ม ดินเค็มที่บริเวณห้วยบ่อแดง ห้วยทวน ซึ่งไหลผ่านพื้นที่นาเกลือซึ่งปรากฏว่าเป็นลำห้วยที่มีการปนเปื้อนของเกลือสูง ขณะที่บริเวณนาเกลือ บ้านหนองกวั่ง บ้านโนนแสบง ตำบลหนองกวั่ง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร นั้นพบว่าได้เกิดหลุมยุบจาการสูบน้ำขึ้นมาผลิตเกลือกระจายอยู่หลายสิบหลุ่ม
ขณะที่ในภาคอีสานได้มีประสบการณ์เกี่ยววิกฤตทางสิ่งแวดล้อมจากการทำนาเกลือมาแล้วหลังได้มีการย้านฐานการผลิตเกลือจากชายฝั่งทะเลภาคกลางมาที่ลุ่มน้ำเสียว บริเวณรอบหนองบ่อ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เมื่อประมาณปี 2513 และเกิดวิกฤตน้ำเค็มดินเค็มจนข้าวกล้าในนาเสียหาย ปูปลาในลำน้ำตาย และลำน้ำเสียวมีความเค็มยิ่งกว่าน้ำทะเล ทำให้คนในลุ่มน้ำเสียวได้ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องให้ยุติการทำนาเกลือที่ลุ่มน้ำเสียว จนกระทั่งในปี 2523 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีห้ามมิให้มีการผลิตเกลือในลุ่มน้ำเสียว เป็นเหตุให้มีการย้ายการผลิตเกลือไปในหลายพื้นที่ในภาคอีสานรวมทั้งในลุ่มน้ำยาม-น้ำสงครามที่อำเภอวานรนิวาส และอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร และผลิตมาจนปัจจุบัน และในเวลาใกล้เคียงกันกับการเข้ามาผลิตเกลือในภาคอีสานกรมทรัพยากรธรณีได้เข้ามาสำรวจแร่โปแตชในภาคอีสานเช่นเดียวกัน โดยได้เริ่มมีการเจาะสำรวจหลุมแรกที่ชลประทาน จังหวัดอุดรธานีและที่วัดป่าโนนวิเวกศรีเมือง อำเภอวานรนิวาส และที่วัดบ้านกุดจิก ตำบลนาคำ อำเภอวานรนิเวสและพบแร่โปแตชคุณภาพ เป็นเหตุให้ต่อมาต่อมาในปี 254บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแต่ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาสในปี 2558 จำนวน 12 แปลงรวมพื้นที่ ประมาณ120,000 ไร่
เดิมทีประเทศไทยไม่มีการอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดิน แต่ในปี 2545 ได้มีการแก้ไขกฎหมายแร่ใหม่มีสารสำคัญคือลึกเกิน 100 เมตรลงไปรัฐบาลสามารถให้สัมปทานทำเหมืองแร่ได้ และหลังจากนั้นก็เริ่มมีบริษัทเอกชนยื่นขอสำรวจแร่โปแตชจำนวนมาก ปัจจุบันได้มีการยื่นของอาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชรวมแล้วประมาณ 3.5 ล้านไร่ใน 10 จังหวัด ทั้งหมด 36 โครงการ เฉพาะในจังหวัดสกลนครมีการสำรวจแล้วที่วานรนิวาสและจะขยายออกไปอีกที่กำลังยื่นขอสำรวจรวมแล้ว 5 อำเภอ 660,000 ไร่
“ความท้าทายคือหามีการนำเกลือขึ้นมามาก ๆ จะมีแรงกดดันหรือผลกระทบอะไรกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ แม่น้ำ เราจะเชื่อได้อย่างไรว่ามันจะไม่เกิดอย่างที่คนอีสาน และคนลุ่มน้ำสงครามมีประสบการณ์อยู่แล้วเรื่องการกระจายของน้ำเค็ม ดินเค็ม แผ่นดินทรุดจาการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาผลิตเกลือ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ประมาณ 21 ล้านไร่ในภาคอีสานมีปัญหาเรื่องดินเค็มมากน้อยต่างกันไปหมายถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ภาคอีสานมีปัญหาดินเค็มหากขยายอุตสาหกรรมเกลือก็ย่อมขยายการกระจายคำวามเค็ม และความท้าทายอยู่ที่ว่าหากมีการอนุญาตให้เกิดการสำรวจทั่วอีกสาน หรืออนุญาตให้ทำเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานสิทธิในเกลือที่เคยเป็นของชุมชน เช่นที่บ่อหัวแฮดจะอนุญาตและเฉพาะคนที่สืบเชื้อสายมาจากคนบ้านท่าสะอาด ที่บ่อหัวแฮดเท่านั้นจึงจะผลิตเกลือได้ และที่นี่ก็จำกัดระยะเวลาในการผลิตตามฤดูกาล และผลิตมาราว 200- 400 ปีแล้วผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งผลิตเกลืออื่น แต่ปีนี้ทางหน่วยงานรัฐท้องถิ่นห้ามต้มเกลือ เพราะบ่อเกลือตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ จะนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ขณะที่ในต่างประเทศพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แบบนี้เขาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรม แต่บ้านเราไม่ให้ต้ม แต่กลับกำลังให้สัมปทานเหมืองแร่เกลือโปแตช และให้สิทธิสำรวจแร่แก่เอกชน และนายทุนต่างชาติ”