กสม.จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล61 มอบรางวัลผู้อุทิศตน-ผลงานเด่น
กสม. จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล’ 61 มอบรางวัลผู้อุทิศตน – มีผลงานเด่นด้านสิทธิมนุษยชน “วัส ติงสมิตร” ปาฐกถาพิเศษ ชี้สิทธิมนุษยชนไทยจะยั่งยืนได้ด้วยเงื่อนไขทุกภาคส่วนไม่ละเมิดสิทธิกัน
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “70 ปี ปฏิญญาสากล : สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยยั่งยืน” โดยมี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 400 คน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานและปาฐกาถาพิเศษในหัวข้อ “70 ปี ปฏิญญาสากล : สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยยั่งยืน” สรุปว่า หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 มนุษยชาติเริ่มรู้จักคำว่า “สิทธิมนุษยชน” จากการที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) และได้ถือเอาวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) โดยในปี 2561 นี้ เป็นปีที่ครบรอบ 70 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้ปฏิญญาฉบับนี้จะไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่ปฏิญญาฉบับนี้ก็มีพลังยิ่งกว่ากฎหมายหลายฉบับ เนื่องจากเป็นเอกสารสิทธิมนุษยชนสำคัญของโลกที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของมวลมนุษยชาติที่ต้องการร่วมกันสร้างความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก เพื่อให้ทุกคนเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และเห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ต่อมา ในปี 2558 ประชาคมโลกโดยองค์การสหประชาชาติได้ประกาศใช้ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งตั้งกรอบระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) รวมระยะเวลา 15 ปี โดยเป็นการตั้งเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ดังปรากฏในเป้าหมายข้อที่ 16 ซึ่งระบุให้มีการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและการเข้าถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติยังได้เผยแพร่หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อให้ภาคธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนได้ดำเนินธุรกิจร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนด้วย
เมื่อมองมาที่ประเทศไทย รัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกที่กล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในมาตรา 4 บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน ก็ปรากฏคำปรารภอันกล่าวถึงที่มาของรัฐธรรมนูญและหลักการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมข้อหนึ่ง คือ การใช้หลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่ากับว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยได้รับการยกสถานะสูงสุดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกจากรัฐบาลได้ประกาศใช้ “วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” แล้ว ยังอยู่ระหว่างการยกร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (ปี 2562 - 2566) ซึ่งให้ความสำคัญกับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี แม้จะมีกติการะหว่างประเทศ กฎหมายและนโยบายที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เกิดผลในสังคมไทยได้แล้ว แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือและความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องตรงกันของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง 5 ภาคส่วน ได้แก่ (1) เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำการละเมิด (2) ประชาชนทั่วไป (3) ภาคประชาสังคม (4) สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. และ (5) องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็มีส่วนก่อข้อพิพาทและสร้างผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนแก่กันได้
“หากทุกคน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน รู้และตระหนักในภาระหน้าที่ของตน โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ‘70 ปี ปฏิญญาสากล สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยยั่งยืน’ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” นายวัสกล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการฉายวีดิทัศน์สรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในหัวข้อ “เหลียวหลัง แลหน้า บนเส้นทางสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” การอ่านบทกวีนิพนธ์ เชิดชูเกียรติผู้ได้รับรางวัล โดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2536 ตามด้วยพิธีมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” มีจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ (1) นางซินเทียค่า (แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง) ผู้ก่อตั้งและอำนวยการแม่ตาวคลินิก (2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ และ (3) นายเสรี นนทสูติ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขณะที่รางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทบุคคลทั่วไป (2) ประเภทเด็กและเยาวชน (3) ประเภทสื่อมวลชน และ (4) ประเภทองค์กรภาคเอกชน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลผู้ชนะการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษาและเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนระดับเยาวชนในประชาคมอาเซียน ประจำปี 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้วย