หัวอก "ผู้กู้ กยศ." จังหวะก้าวของ "ทวี" ชีวิตหนี้ยังมีทางออก?
ปัญหาหนี้ กยศ. หรือกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในวิกฤติปัญหาการซ่อนอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้มาเนิ่นนาน
ประมาณกันว่า เยาวชนและคนวัยทำงานช่วงต้นมากกว่า 50% เป็นหนี้ กยศ.
จากการรวมกลุ่มกันเองของลูกหนี้ และมีการจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานรัฐ รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรคในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ลูกหนี้ กยศ.ที่ชายแดนใต้มีสถานะคดีแตกต่างกัน 3 กลุ่ม
1.ลูกหนี้ที่ กยศ.ฟ้องผู้กู้ยืม แต่ผู้กู้ยืมปฏิเสธ ไม่ประนีประนอมในชั้นศาล
2.ลูกหนี้รายที่ยินยอมประนีประนอมชั้นศาล และศาลพิพากษาคดีตามผลการประนีประนอมไกล่เกลี่ย
และ 3.ลูกหนี้รายที่ศาลพิพากษาแล้ว และอยู่ในชั้นบังคับคดีที่ต้องยึดทรัพย์
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ลูกหนี้ที่กู้เงินจาก กยศ. กู้ไปประมาณ 2.5 แสนบาทเท่านั้น แต่กลับถูกฟ้องให้ใช้หนี้สูงถึง 6 แสนบาทเศษ เป็นเพราะเบี้ยปรับและดอกเบี้ย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มียอดเกือบ 4 แสนบาท
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ลูกหนี้ปวดใจ ความรู้สึกของลูกหนี้สะท้อนผ่าน นิธิมา ลามะ ตัวแทนกลุ่มลูกหนี้ กยศ.ชายแดนใต้
"ขอเรียกร้องให้ กยศ.ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ เพราะรวมแล้วเป็นเงินที่สูงเกินไป ไม่มีเงินจ่าย แต่เรายินดีที่จะจ่ายเงินต้นตามที่ได้กู้ไป" เป็นข้อเรียกร้องแบบรวบยอดของลูกหนี้ กยศ. พร้อมกับคำอธิบาย
"ลูกหนี้ กยศ.หลายคนถูกฟ้องเพราะผ่อนจ่ายหนี้ไม่ไหว หากเราติดหนี้ กยศ.จำนวน 3 แสนบาท ให้ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 1 ปี เรารู้สึกว่าจ่ายไม่ไหว เราอยากให้ กยศ.ปรับโครงสร้างหนี้ให้เรา และขยายระยะเวลาจาก 1 ปีเป็น 9 ปีก็ได้ หรือตามความเหมาะสม หากไม่ขยายเวลา เราคิดว่า กยศ.อาจจะไม่ได้รับเงินจากลูกหนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน เพราะไม่มีกำลัง"
"ปัจจุบันคนติดหนี้ กยศ.ในพื้นที่รวมกันประมาณแสนกว่าคน ในจำนวนนี้มีแค่ 30% ที่สามารถผ่อนจ่ายได้ ส่วนที่เหลือไม่มีเงินจ่าย อยากให้ กยศ.เข้าใจสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันว่าชาวบ้านไม่มีเงินผ่อนจ่ายถึง 6,000 บาทต่อเดือน เพราะเราไม่ได้มีภาระแค่ผ่อนจ่าย กยศ.เพียงอย่างเดียว แต่มีค่าเล่าเรียนลูกและค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีกมาก" นิธิมา เปิดใจ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ที่วันนี้ไปนั่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ และมีนโยบายชัดเจนที่จะปลดล็อคเรื่องหนี้ กยศ. โดยได้จัดกิจกรรมกับกลุ่มลูกหนี้ไปแล้วหลายครั้ง ทำให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหามาพอสมควร
"การที่รัฐใช้วิธีทวงหนี้ด้วยการดำเนินคดีผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน เป็นเรื่องที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะมีเบี้ยปรับและดอกเบี้ยที่มากกว่าเงินกู้ทั่วไป พรรคประชาชาติจึงเสนอเป็นนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือยกเลิกเบี้ยปรับ ถอนฟ้องคดีที่ศาลและงดการบังคับคดี รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลในอดีตช่วยเหลือคนรวยที่ถูกปิดสถาบันการเงิน ด้วยการตั้ง ปรส.ลดหนี้ให้คนรวยประมาณ 80%" พ.ต.อ.ทวี อธิบายถึงแกนกลางของปัญหาและแนวทางแก้ไข
"เราต้องให้ความสำคัญกับ 'คน' ถ้าคนมีคุณภาพ เด็กเรียนหนังสือจบ ถือว่ารัฐได้กำไร ส่วนเด็กที่ไปติดยาเสพติด ถือว่ารัฐขาดทุน ดังนั้นเด็กที่เป็นหนี้ กยศ.ถือว่าได้เรียน เป็นกำไรของรัฐแล้ว จึงไม่ควรฟ้องรร้อง หากเด็กเป็นหนี้ก็ควรชดใช้หนี้ และควรมีระดับของหนี้ เช่น กฎหมายการหักเงินเดือนโดยมอบหมายให้กรมบังคับคดีดำเนินการ คิดว่าหากเงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นบาท ก็ยังไม่ควรจะชดใช้ ห้ามหักเงินเดือนเขา และควรหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องในทุกกรณี"
"ที่สำคัญกฎหมาย กยศ. (พระราชบัญญัติกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา) มาตรา 44 กฎหมายไม่ได้บังคับให้มีเบี้ยปรับ แต่ระบุว่า 'อาจจะมีเบี้ยปรับก็ได้' จึงขอเรียกร้องกรรมการ กยศ.ควรงดเบี้ยปรับให้เหลือเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น เดิมมีดอกเบี้ย 1% ปัจจุบันไปแก้กฎหมายให้มีดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5 % แต่บังคับ 1% เราเห็นว่าควรแก้กฎหมายนี้ ในอนาคตเราต้องปฏิรูประบบการศึกษาที่ดี และควรจะเป็นสวัสดิการของรัฐให้คนได้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
เมื่อการเมืองขยับ การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา ทำให้การขับเคลื่อนเชิงนโยบายใหม่ๆ ดูมีชีวิตชีวา และสร้างความหวังขึ้นอีกคราที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่โจทย์ข้อยากก็คือ จะเปลี่ยนความหวังให้เป็นความจริงได้หรือไม่...เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พ.ต.อ.ทวี (ขวา) นิธิมา
อ่านประกอบ : รัฐเปิดแคมเปญลดเบี้ยปรับ กยศ. - ประชาชาติสร้างกระแสปลดหนี้ที่ชายแดนใต้