ส่องนโยบายประชานิยมจาก‘สฤษดิ์’ถึง ‘บิ๊กตู่’ เมื่อ รบ.ทหารต้องเอาใจประชาชน?
“…หากพิจารณาจากนโยบายของ ‘คณะรัฐประหาร’ ทั้ง 2 ยุค แม้ว่าบริบททางการเมืองจะต่างกัน แต่การออกนโยบายเพื่อเน้นแก้ปัญหาปากท้องประชาชน โดยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ลดราคาสินค้าต่าง ๆ เฉพาะหน้าเพื่อสร้างคะแนนนิยมแทบไม่ต่างกัน แม้ว่าจะผ่านมากว่า 60 ปีแล้วก็ตาม…”
อีกไม่ถึง 2 เดือนเศษ ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งในรอบเกือบ 5 ปี
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ปิดฉากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีคนตระกูล ‘ชินวัตร’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นหนที่ 2
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กำลังคุกรุ่น โดยเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่าย ‘เอาประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นนายกรัฐมนตรี’ กับฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’ โดยมีตัวแสดงแทนของทั้ง 2 ฝ่าย แบ่งเป็น ‘พรรค 3 พลัง’ ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย และพลังชล ที่หนุน ‘บิ๊กตู่’ กับ ‘พรรค 3 เพื่อ 1 ท.’ ได้แก่ เพื่อไทย เพื่อธรรม เพื่อชาติ และไทยรักษาชาติ ที่ค้านการสืบทอดอำนาจหัวชนฝา
แต่สิ่งที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกรียวกราวขณะนี้คือ กรณีรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมากทั้งที่อยู่ระหว่างโค้งสุดท้ายในการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ปากท้องของประชาชน จนถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณของรัฐไปหาเสียงหรือไม่ ?
นโยบายเบื้องต้นที่ถูกกระตุ้นเศรษฐกิจตามคำกล่าวอ้างของ ‘บิ๊กรัฐบาล’ คือการอัดฉีดงบประมาณในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ตามโครงการประชารัฐ เป็นเงินกว่า 120,549 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก 41,940 ล้านบาท โดยเพิ่มวงเงินในการซื้อสินค้าผ่านบัตรประชารัฐ 200-300 บาท/เดือน ส่วนลดก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน ค่ารถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาท/เดือน ค่ารถ บขส. 500 บาท/เดือน และค่ารถไฟ 500 บาท/เดือน ช่วงที่ 2 อีก 35,679 ล้านบาท เป็นการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอีก 100-200 บาท/เดือน
ส่วนช่วงปีใหม่มีการแจกของขวัญให้กับประชาชน รวมวงเงิน 38,730 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้า 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าน้ำประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน เงินสดของขวัญปีใหม่ 500 บาท/คน นอกจากนี้ยังมีโครงการอินเตอร์เน็ตแก้จนอีก 4.2 พันล้านบาท 50 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน (อ้างอิงข้อมูลจาก เวิร์คพอยท์ทีวี)
แม้ที่ผ่านมาหลายคนจะชินชากับกรณี ‘รัฐบาลเลือกตั้ง’ อัดฉีดนโยบาย ‘ประชานิยม’ แบบนี้ก็ตาม ไล่เรียงมาตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตาม แต่หากถึงคิวรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะพบว่า มักไม่เกิดเหตุการณ์อัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนบ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่มักอยู่แค่ครู่เดียวแล้วเดี๋ยวก็ปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่
แต่หากจะย้อนพฤติการณ์ ‘รัฐบาลจากคณะรัฐประหาร’ อัดฉีดงบประมาณแบบนี้ต้องย้อนไปไกลถึงสมัยรัฐบาล ‘จอมพลผ้าขะม้าแดง’ หรือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กันเลยทีเดียว !
เพราะสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจนั้น นอกเหนือจากมาตรา 17 อันเกรียงไกรจากธรรมนูญการปกครองชั่วคราวปี 2501 ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้ว ยังออกนโยบายอัดฉีบงบประมาณให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน
ขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารรัฐบาล ‘ลูกน้องตัวเอง’ คือ พล.อ.ถนอม กิตติขจร (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) โดยความยินยอมเต็มใจจาก พล.อ.ถนอม เนื่องจากดีลกับนักการเมืองไม่ลงตัว หลังจากรัฐประหารแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ได้เลิกรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองทั้งหมด โดยใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวปี 2501 แทน
โดยในช่วงเวลานั้นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างย่ำแย่ เนื่องจากพิษเศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ข้าวยากหมากแพงเป็นอย่างมาก
ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ ออกคำสั่งกองบัญชาการคณะปฏิวัติ ที่ 19/2501 ให้กองทัพเรือจับปลาทู และปลาอื่น ๆ แล้วนำมาขายให้ประชาชนด้วยราคาถูกที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยให้ถือว่าเป็นภารกิจพิเศษที่ต้องปฏิบัติ จนกว่าได้รับคำสั่งเป็นอย่างอื่น ที่สำคัญยังให้รายงานผลการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ มาให้ทราบทุกสัปดาห์อีกด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
นอกจากนี้หลังการรัฐประหารใหม่ ๆ ยังระดมออกนโยบายเอาใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็น คำสั่งให้ลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าในย่านกรุงเทพ-ธนบุรี ภายในไม่กี่วันหลังรัฐประหาร นอกจากนี้ได้ออก พ.ร.ก.ให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ ลดอัตราค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน เป็นต้น ขณะเดียวกันได้ออกคำสั่งให้เทศบาลยกเลิกภาษีบางประเภท ค่าธรรมเนียมทะเบียนบ้าน และค่าธรรมเนียมการบริการของราชการ ในส่วนของครอบครัวที่ยากจนได้รับบริการฟรีในเรื่องยา และการรักษาสุขภาพต่าง ๆ ที่โรงพยาบาล
ขณะเดียวกันให้เทศบาลแจกจ่ายตำราเรียนฟรีแก่เด็กนักเรียน ส่วนการช่วยเหลือข้าราชการได้เสนอให้จำกัดวันทำงานของข้าราชการพลเรือนเหลือเพียง 5 วัน ให้จ่ายเงินพิเศษแก่ผู้มีบุตรมาก และตั้งกองทุนสงเคราะห์สำหรับข้าราชการพลเรือนระดับล่างได้กู้ยืม นอกจากนี้ยังออก พ.ร.ฎ.ให้ลดราคากาแฟขายปลีจากราคา 70 สตางค์ เหลือ 50 สตางค์ ต่อแก้ว เพราะช่วงเวลาดังกล่าวกาแฟดำกำลังเป็นที่นิยมในไทยอย่างมาก และการลดราคาลงเช่นนี้ นับว่าเป็น ‘สัญลักษณ์’ ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ของจอมพลสฤษดิ์ และสร้างกระแสนิยมให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี (อ้างอิงจาก ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ เขียนโดย สุมาลี พันธุ์ยุรา อ่านฉบับเต็ม คลิกที่นี่)
หากพิจารณาจากนโยบายของ ‘คณะรัฐประหาร’ ทั้ง 2 ยุค แม้ว่าบริบททางการเมืองจะต่างกัน แต่การออกนโยบายเพื่อเน้นแก้ปัญหาปากท้องประชาชน โดยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ลดราคาสินค้าต่าง ๆ เฉพาะหน้าเพื่อสร้างคะแนนนิยมแทบไม่ต่างกัน
แม้ว่าจะผ่านมากว่า 60 ปีแล้วก็ตาม