จากข้าว กาแฟ สู่นโยบายส่งออก “กุ้งล้านต้น” ของเวียดนาม
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประกาศนโยบาย “กุ้งล้านตัน” ตั้งเป้าภายในปี 2025 เวียดนามต้องการเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 3 ของโลก โดยวางเป้าหมายแซงอินเดียให้ได้ เวลาที่รัฐบาลเขาตั้งเป้าไปในทิศทางใดแล้ว ทุกภาคส่วนจะเดินไปทางนั้น มองเป้าเดียวกัน นโยบายล้อไปทางเดียวกัน ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่
ปฏิรูปก่อนเปิดประเทศ ย้อนกลับไป เมื่อ 32 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1986) รัฐบาลเวียดนาม ประกาศใช้นโยบายปฎิรูปเศรษฐกิจ โด๋ย เม๊ย (Doi Moi ) ซึ่งไม่ต่างจากโมเดลจีน ที่มีนโยบายก่ายเก๋อ ไคฟ่าง ( gaige kaifang ) ของผู้นำจีนนักปฏิรูป คือ เติ้งเสี่ยวผิง ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
เวียดนามได้เปิดประเทศสนับสนุนให้ภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ค่อนข้างชัดเจน ระยะเวลาถึง 10 ปี (2010-2020) พร้อมกำหนดเป้าหมายจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมให้ได้ภายในปี 2020
ยังไม่ทันถึงปี 2020 วันนี้ทุกคนทั่วโลกต่างทราบกันดีว่า เวียดนามเดินมาถึงจุดนั้นแล้ว
ที่ผ่านมา เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้ง AEC /APEC/WTO/CPTT และ EUSTA (2019) มี FTA กับหลายประเทศที่เป็นแต้มต่อในการแข่งขันกับตลาดโลก บวกกับจุดแข็งที่มีประชากรทั้งหมด 97 ล้านคน และมีอัตราการเพิ่มขึ้น 1% ทุกปี อายุเฉลี่ยของคนเวียดนามอยู่ที่ 31 ปี เรียกได้ว่า ประชากรยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของเวียดนาม เติบโตถึง 6.5% ไม่ค่อยต่ำไปกว่านี้
ที่สำคัญสุด การเมืองเวียดนามมีเสถียรภาพ อีกทั้งค่าจ้างแรงงานก็ยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับไทย มาเลเซีย สิงคโปร์
ส่วนผลผลิตที่เป็นไม้เบื่อไม่เมากับไทย คือ การส่งออกข้าว กาแฟ และสินค้าเกษตรอีกหลายตัว
นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนามคอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลกับคณะสื่อมวลชนไทยที่เดินทางไปศึกษาดูงานโรงงานอาหารสัตว์ Hai Duong Feedmill ณ จังหวัดหายเซือง ประเทศเวียดนาม เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประกาศนโยบาย “กุ้งล้านตัน” ตั้งเป้าภายในปี 2025 เวียดนามต้องการเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของโลก จากปัจจุบันเวียดนามส่งออกกุ้งอยู่อันดับที่ 3 (3.3 แสนตัน) ของโลก โดยวางเป้าหมายแซงอินเดียให้ได้ (6 แสนตัน)
“เวลาที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไปในทิศทางใดแล้ว ทุกภาคส่วนจะเดินไปทางนั้น เขามองเป้าเดียวกัน นโยบายล้อไปทางเดียวกัน ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่”
การเปิดประเทศ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการที่รัฐบาลเวียดนามไปเซ็น FTA ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กับหลากหลายประเทศในการทำการค้า ส่งออก นั้น ซีอีโอ บริษัท ซี.พี.เวียดนามฯ ชี้ว่า ทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนที่นี่เยอะ
นโยบาย “กุ้งล้านตัน” ของเวียดนาม ที่ประกาศช่วง 1-2 ปีแรก เขาบอกว่า เห็นชัดเจนเวลาไปทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เกี่ยวกับเรื่องของกุ้ง ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าเมืองไหนๆ จะไปทิศทางเดียวกันหมด
ฟาร์มกุ้ง
มนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี
ปัจจุบันซี.พี.เวียดนามฯ เป็นหนึ่งในคีย์สำคัญของธุรกิจสัตว์น้ำที่เวียดนาม โดยเฉพาะกุ้ง มีการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งที่ดีที่สุด มีโมเดลของการเลี้ยงกุ้งที่ป้องกันการเกิดโรค (C.P. Combined Model) เรื่องอาหารสัตว์ ลูกกุ้ง จึงถือว่า ได้เปรียบ แต่ก็มีอุปสรรค เรื่องพื้นที่การลงทุน ด้วยภูมิประเทศเวียดนาม เป็นภูเขาเยอะ พื้นที่ราบมีน้อยมาก ฉะนั้น การหาพื้นที่ขยายกำลังการผลิต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ข้อมูลล่าสุด ปี 2561 ซี.พี.เวียดนามฯ มีกำลังการผลิตสุกรขุน 6.5 ล้านตัว ไก่เนื้อ 66 ล้านตัว ไข่ไก่ 750 ล้านฟอง กุ้ง 6,500 ตัน ปลาแพนกาเซียสดอลลี่ 45,800 ตัน และลูกกุ้ง 11,200 ล้านตัว
ธุรกิจสัตว์น้ำ (กุ้ง-ปลา ) เท่านั้น ที่ส่งออก ไปยัง ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮ่องกง จีน และยุโรป ปริมาณ 20,000 ตัน ส่วนสัตว์บกจะจำหน่ายในประเทศ ซึ่งระยะอันใกล้นี้ซี.พี.เวียดนามมีแผนลงทุนทั้งการสร้างโรงงานแปรรูปสุกรส่งออก เงินลงทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โรงงานแปรรูปไก่ส่งออก เงินลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งโรงงานอาหารสัตว์ด้วย
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายกุ้งล้านตัน บริษัท ซี.พี.เวียดนามฯ คาดว่า จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดกุ้งอยู่ประมาณ 5 แสนตัน ทั้งมีแผนขยายกำลังการผลิตโรงเพาะฝักลูกกุ้งเพิ่มขึ้นให้ได้ 5 หมื่นล้านตัว (จากปัจจุบันฝักลูกกุ้ง 1.2 หมื่นล้านตัว) ส่วนโรงงานผลิตอาหารกุ้ง เพิ่มกำลังการผลิตอีกประมาณ 2 แสนตันต่อปี (จากปัจจุบัน 3 แสนตันต่อปี)
"เราพยายามแสดงความจริงใจพัฒนาประเทศเขา พยายามหาทางส่งออกสินค้าให้ได้ ในอดีตหากเทียบกับจีนและไทย เวียดนามส่งออกสัตว์น้ำ มีต้นทุนสูง แต่ผลจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ วันนี้เวียดนามมีต้นทุนต่ำแล้ว เป็นประเทศมีศักยภาพการส่งออก แข่งขันไม่แพ้ประเทศใด เราจึงเตรียมลงทุนการส่งออกเรื่องไก่ก่อน”
ขณะที่นายจิรวิทย์ รชตะนันทน์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ซี.พี.เวียดนามคอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2017 ซี.พี.เวียดนามเจอวิกฤติราคาหมูตกต่ำเป็นประวัติการณ์ " 3 กิโลกรัม ขายแสนกว่าด่อง" เรียกว่าถูกมากๆ
"25 ปีตั้งแต่เราทำธุรกิจ ไม่เคยเจอรุนแรงขนาดนี้ ปี 2016 สุกรจีนมีราคาแพง ขาดตลาด ทำให้สุกรจากเวียดนามไหลเข้าตลาดจีน นี่เองทำให้วงจรเพี้ยนไปหมด คนเวียดนามก็โหมเลี้ยงสุกรกันใหญ่ เพราะได้ราคาดี มีกำไร
ต่อมาปี 2017 พอจีนห้ามนำเข้าสุกรที่ลักลอบตามชายแดนเท่านั้น ผู้เลี้ยงสุกรเจอวิกฤติเลย บางรายไม่สามารถแบกรับภาระได้ ก็เลิกเลี้ยง และออกจากตลาดไป"
บทเรียนจากวิกฤติราคาสุกรตกต่ำที่เวียดนามปีนั้น ซี.พี.เวียดนาม พบว่า เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) คือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success) เพราะไม่ว่าราคาหมูจะดีหรือไม่ดี เกษตรกรได้เงินแน่นอนจากการเลี้ยง บริษัทฯ เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงไว้ทั้งหมด ขณะที่สัญญามีอายุปีต่อปี ดังนั้นที่เวียดนาม contract farming ได้รับความสนใจมาก ผู้เลี้ยงสุกรไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง มีครอบครัวเกษตรกรเวียดนามเข้าร่วมระบบ contract farming ถึง 2,410 ครอบครัว
สุดท้ายใครที่เป็นห่วงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และภาคการขนส่งของเวียดนาม ผู้บริหารซี.พี.เวียดนาม ยืนยันว่า กำลังดีวันดีคืน เวียดนามครองแชมป์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสูงสุดในอาเซียน "จากเมื่อก่อนนั่งรถกัน 6 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้เหลือ 1-2 ชั่วโมง เวียดนามพัฒนาไปเร็วมาก เพราะเขามีเงินแล้ว"
คณะสื่อมวลชนไทยเยี่ยมชม โรงงานอาหารแปรรูป ที่ฮานอย ชมสถานที่ และกระบวนการผลิต
สุพัฒน์ ศรีธนาธร รองกก.ผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารแปรรูปครบวงจร บริษัท ซี.พี.เวียดนาม ระบุ
ห้าดาวก็เป็นธุรกิจอาหารสำเร็จรูปที่เติบโตดีในเวียดนาม ชาวเวียดนามเป็นเจ้าของธุรกิจห้าดาวถึง 500 ครอบครัว
โรงงานอาหารแปรรูป ไก่ ไส้กรอก ณ กรุงฮานอย ปัจจุบันไส้กรอก C.P. มีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 20%
คณะสื่อมวลชนไทยเยี่ยมชม โรงงานอาหารสัตว์ จังหวัดหายเซียง
รง.อาหารสัตว์แห่งนี้ ทันสมัยสุดในโลก ออกแบบโดยบริษัทเรโนลด์ ของฝรั่งเศส
กำลังการผลิต 6 หมื่นตัน/เดือน ขายในประเทศเวียดนามอย่างเดียว
ข้าวโพดวัตถุดิบหลักทำอาหารสัตว์
ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอาเจนติน่า-บราซิล เก็บในถังไซโล ควบคุมคุณภาพได้ง่ายกว่า
โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์ (บก) 6 หมื่นตัน/เดือน
มีสินค้าสต๊อก 7 พันตัน หรือ 3 วัน อนาคตรับออเดอร์ผ่านออนไลน์