กมธ.เคาะแก้กฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ฯ แยกเครื่องเอกซเรย์การแพทย์ให้ สธ.ดูแล
กมธ.พิจารณากฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติประชุมนัดสุดท้าย ยึดร่างฉบับรัฐบาลมอบอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ คาดบรรจุเข้าวาระเร่งด่วน สนช. 20-21 ธ.ค.นี้ และน่าจะพิจารณาแล้วเสร็จก่อนปีใหม่
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ฉบับแก้ไข เปิดเผยว่า กมธ.ได้ประชุมนัดสุดท้ายและพิจาณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยยืนยันตามร่างฉบับเดิมของรัฐบาลซึ่งมีสาระสำคัญคือการแยกเอาเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ที่ไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบที่ใช้ในสถานพยาบาล ออกจากการกำกับดูแลของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มาให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ดูแล
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 31 มาตรา ซึ่ง กมธ.ได้พิจารณารายละเอียดและคิดว่ามีประเด็นเล็กๆ ที่ยังไม่ชัดเจนและอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติใน 4 ประเด็นย่อย อย่างไรก็ดี การแก้ไขประเด็นย่อยเหล่านี้ได้ตกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่าง สธ.และ ปส.ในการกำกับดูแล โดยเบื้องต้นอยากแยกกันให้ชัดเจนไปเลย ซึ่งตามกฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐมนตรีสาธารณสุขออกกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
"ในการออกกฎกระทรวงนี้ต้องผ่านคณะกรรมการ เราก็มองว่าอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ ถ้าเกิดรัฐมนตรีสาธารณสุขออกกฎกระทรวงแล้ว บอร์ด ปส.ไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้การทำงานไปไม่ได้ เราเห็นว่าเมื่อแยกการทำงานแล้วก็ควรให้ชัดเจน กฎกระทรวงนี้ก็ไม่ควรมาผ่านบอร์ด ปส.อีก แต่ร่างกฎหมายเดิมออกแบบไว้แบบนั้น ถ้าจะแก้ก็จะต้องไปแก้มาตราที่เกี่ยวข้องอีกหลายมาตราและเกรงว่ากฎหมายจะออกไม่ทัน และถ้าถ้อยคำในร่างกฎหมายใช้คำว่า "ออกกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของบอร์ด ปส." ไม่ใช่ "โดยความเห็นชอบโดยบอร์ด ปส." ซึ่งถ้อยคำที่เขียนไว้นี้ไม่ได้แข็งมาก ถ้ารัฐมนตรียังยืนยันว่าจะใช้กฎกระทรวงนี้ก็ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้จึงตกไป" ทพ.ไพศาล กล่าว
2.เรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ อยากให้แยกกันให้เด็ดขาด เพราะผู้ปฏิบัติหน้าที่ยังเกรงว่าเจ้าหน้าที่ ปส.อาจมาไล่ตรวจ ไล่จับในคลินิก หรือในทางกลับกันเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจไปตรวจเครื่องเอกซเรย์อื่นที่ ปส.ดูแลได้ แต่ทางฝ่ายกฎหมายและตัวแทนกฤษฎีกาชี้แจงว่าเมื่อเขียนถ้อยคำในลักษณะนี้แล้ว ตามกฎหมายถือว่าแยกกันชัดเจนแล้ว ดังนั้นในประเด็นนี้จึงตกไป
3.การอุทธรณ์คำสั่ง กรณีผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย เช่น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าอธิบดีเห็นว่าเครื่องเอกซเรย์ที่นำมาจดแจ้งไม่มีมาตรฐานพอก็อาจไม่รับจดแจ้ง ผู้ที่ได้รับคำสั่งนี้มีสิทธิอุทธรณ์ได้โดยให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่ง กมธ.มองว่าอาจเกิดความล่าช้าและน่าจะให้รัฐมนตรีสาธารณสุขพิจารณารับอุทธรณ์ได้
อย่างไรก็ดีหากจะแก้ไขในประเด็นนี้จะผิดหลักการที่ร่างมา ต้องกลับไปตั้งต้นที่ ครม.ใหม่และจะทำให้การแก้ไขกฎหมายล่าช้าไม่ทันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดปัจจุบัน ประกอบกับผู้แทน ปส.ชี้แจงว่าประเด็นนี้ไม่น่ามีปัญหาเพราะได้กำหนดกฎหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์แล้ว โดยจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาในประเด็นอุทธรณ์ และถ้าเป็นประเด็นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ก็คงต้องตั้งแพทย์หรือทันตแพทย์มาเป็นผู้พิจารณา และที่ผ่านมาแทบไม่มีเรื่องอุทธรณ์เลย ดังนั้น กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่น่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้นประเด็นนี้จึงตกไป
4.เรื่องโทษ ถ้าไม่จดแจ้งเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และถ้าจดแจ้งแล้วไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยก็จะมีโทษปรับอีก 1 แสนบาท ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขมองว่ายังรุนแรงไป เพราะตามร่างกฎหมายเดิมมีโทษปรับแค่ 1 หมื่นบาท แต่ทางผู้แทนกฤษฎีกาชี้แจงว่าโทษปรับ 1 หมื่นบาทไม่เหมาะสม เพราะถ้าค่าปรับต่ำก็จะทำให้อาจมีคนบางส่วนไม่จดแจ้ง แม้ว่าผู้แทนด้านสาธารณสุขจะชี้แจงว่าเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์มีกฎหมายคุมอยู่ 2-3 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.สถานพยาบาล ผู้ที่มีเครื่องเอกซเรย์ต้องตรวจมาตรฐานและความปลอดภัยไม่เช่นนั้นอาจต่ออายุใบอนุญาตสถานบริการไม่ได้ อย่างไรก็ดี ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าโทษ 1 แสนบาท เป็นเพดานสูงสุด ไม่ใช่ปรับ 1 แสนบาททุกครั้ง ดังนั้น กมธ.เสียงส่วนใหญ่คิดว่าน่านะพอรับได้ จึงให้คงเดิมเอาไว้
"สรุปเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ร่างกฎหมายก็ยังเป็นร่างฉบับเดิมที่รัฐบาลเสนอ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระใดๆ ขั้นตอนต่อไป นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาน กมธ.จะบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาใน สนช. คาดว่าน่าจะบรรจุได้ในวันที่ 20-21 ธ.ค. 2561 หรือถ้าไม่ทันก็น่าจะเป็น 27-28 ธ.ค. 2561 เพราะฉะนั้นคิดว่ากฎหมายนี้น่าจะได้รับการพิจารณาก่อนปีใหม่และเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ทุกคน" ทพ.ไพศาล กล่าว