เปิดตัวชี้วัด ‘ความยั่งยืน’ ชุมชนมั่นพัฒนา ศาสตร์พระราชาที่เห็นผลได้
ทีดีอาร์ไอ เปิดทางการ “ตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา” น้อมนำศาสตร์พระราชา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ มาปฏิบัติ ต่อยอดรูปธรรม เห็นผลชัดเจน
“ตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา” (Sustainability Community Indicators:SCI) เป็นดัชนีวัดผลความสำเร็จจากการดำเนินโครงการชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราชา ทั้งในแง่การดำเนินการและผลลัพธ์ ที่แสดงถึงความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของสมาชิกชุมชน ทั้งในด้านกายภาพ จิตใจ และวัฒนธรรม จากการน้อมนำแนวทางดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปต่อยอดปรับปรุงโครงการที่น้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและได้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การศึกษาตัวชี้วัดฯ ดังกล่าว ปัจจุบันได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์และได้ถูกนำเสนอเบื้องต้นในเวทีวิชาการระดับนานาชาติมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่เคยเผยแพร่วงกว้างในประเทศไทย
ทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดการสัมมนา “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา” ณ ห้องบอลรูม ชั้น 1 โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ
“ดร.สมชัย จิตสุชน” ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ระบุถึงความเป็นมาของโครงการฯ มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ
1.เพื่อทำการประเมินและติดตามว่าประชาชนชาวไทยน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติมากน้อยเพียงใด ทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด
และ 2.เพื่อนำเสนอศาสตร์พระราชาต่อประชาคมโลก ในฐานะที่เป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับกับแนวคิด Means of Implementation และ Financing for Development (FfD) ภายใต้ SDGs ของสหประชาชาติ
ขณะที่การพัฒนาตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนานั้น ประกอบด้วย 2 กลุ่มสำคัญ คือ
1.กลุ่มที่เป็น “กระบวนการการพัฒนา” หรือเรียกว่า ตัวชี้วัดสะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา (Sufficiency for Sustainability:SCI-S4S) ดังนี้
ความพอประมาณ (moderation), ความเพียร (perseverance), ความรอบคอบ ระมัดระวัง (prudence), ความซื่อสัตย์ (honesty), ความมีเหตุผล (reasonableness), ความรอบรู้ (knowledge, learning, information), การมีภูมิคุ้มกัน (resilience), แบ่งปัน ช่วยเหลือ (sharing/helping), สามัคคี (social coherence), รักษาสิ่งแวดล้อม (environmental protection), ระเบิดจากภายใน (explosion from within), การมีจิตสาธารณะ (public mind), พึ่งตนเอง (self-reliance), ความเป็นผู้นำ (leadership) และนวัตกรรมชุมชน (community innovation)
2.กลุ่มที่เป็น “ผลลัพธ์ของการพัฒนา” (Outcome:SCI-OC) ดังนี้
ความสุข ความพอใจ (happiness), การหลุดพ้นความยากจน (poverty_free), สุขภาพ (health), โอกาสทางการศึกษา (education), การมีงานทำ (employment), สามารถใช้จ่ายได้เพียงพอ (sufficient expenditure), มีรายได้เพียงพอ (sufficient income), สภาพความเป็นอยู่ (living condition), ทรัพย์สิน (asset), ทุนทางสิ่งแวดล้อม (environment capital), ความเท่าเทียม (equality) และทุนทางสังคม (social capital)
“โครงการฯ นี้ ทีดีอาร์ไอได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการออกแบบ สำรวจข้อมูลในการศึกษา ซึ่งในการดำเนินการระยะแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาตัวชี้วัดเบื้องต้น และจัดเก็บข้อมูลอย่างจำกัดในพื้นที่นอกเขตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วง มิ.ย. 2560 ส่วนในระยะสองเป็นการดำเนินการปรับปรุงแบบสอบถามและเก็บข้อมูลทั่วประเทศ ทั้งนอกและในเขตเทศบาลทั่วประเทศ ช่วง เม.ย.-ก.ค. 2561”
ดร.สมชัย ระบุถึงผลชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา SCI-S4S พบว่า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้คะแนนมาก และนอกเขตเทศบาลได้มากกว่าในเขตเทศบาล
ส่วน SCI-S4S ตัวชี้วัดย่อย พบว่า ตัวชี้วัดเรื่องความรอบคอบ ระมัดระวัง ได้คะแนนมากที่สุด 79.4 คะแนน ขณะที่ต่ำสุด คือ ความซื่อสัตย์ 50.8 คะแนน
เมื่อลงรายละเอียดไป ผู้วิจัย ยกตัวอย่างเรื่อง “ความซื่อสัตย์” พบว่า ในเขตเทศบาลได้ 47.6 คะแนน ซึ่งต่ำกว่านอกเขตเทศบาลที่ได้ 53.7 คะแนน โดยอาศัยคำถามเรื่องของหาย และการเลือกคนเก่งคนโกง
พบว่า ในเขตเทศบาลได้คะแนนต่ำจาก ของหายไม่ได้คืน ส่วนเรื่องเลือกคนเก่งหรือโกง ใช้เส้นสาย คะแนนไม่แตกต่างกัน
“ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า หากมีการตีความเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชาตามแนวทางนี้ คะแนนจะเป็นลักษณะนี้ ซึ่งต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า การที่นอกเขตเทศบาลได้คะแนนมากกว่านั้น เราคิดว่าดีแล้วหรือไม่”
ดร.สมชัย กล่าวถึง SCI-OC เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะกรุงเทพฯ ได้คะแนนสูงสุด 68.6 คะแนน เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ ความมั่นคั่ง การศึกษา การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ทำให้ได้คะแนน รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคใต้ ตามลำดับ
เมื่อแยกในและนอกเขตเทศบาล พบว่า ในเขตจะได้คะแนนสูงกว่า ดังนั้นจะเห็นว่า ภาพมีการสลับกันกับ SCI-S4S
ท้ายที่สุด ศาสตร์พระราชาสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ 2 แนวทาง คือ 1.การพัฒนาจะยั่งยืน หากผลลัพธ์ของการพัฒนามีความยั่งยืน กล่าวคือ แนวโน้มเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยไม่มีแนวโน้มตกต่ำลง และไม่ผันผวนมากเกินไป แม้จะผ่านเวลายาวนาน เช่น ข้ามรุ่น
2.เป็นการพัฒนาที่มีองค์ประกอบหรือกระบวนการที่เป็นการยอมรับว่านำไปสู่ความยั่งยืน เช่น การมีภูมิคุ้มกันที่ดี การมีนวัตกรรมในการผลิต การบริหาร
...การพิสูจน์ว่า SCI วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะแรกจะใช้แนวทางที่สอง และเริ่มใช้แนวทางแรก เมื่อมีการจัดทำต่อเนื่องหลายปี .