เครือข่ายธุรกิจยื่นอานันท์-หมอประเวศนำปฏิรูปสังคม ย้ำต้องอิสระเกิดจากประชาชน
ทีดีอาร์ไอฟันธงหากไม่กระจายรายได้ ประชาชนลุกฮือ-รัฐประหารเกิดอีก ทาง เดียวต้องขับเคลื่อนสังคมสวัสดิการ สมาคมธนาคารไทยชี้ประชานิยมทำลายสมดุลการคลังไปไม่รอด ตัวแทนชุมชนมองแผนปรองดองเหมือนจะสร้างบ้านแต่ไม่มีพิมพ์เขียว แนะสังคยานาปัญหาชาวบ้านทั้งหมดก่อน เครือข่ายธุรกิจ-ชาวบ้าน ยื่นหนังสือนายกฯตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสังคมมีอานันท์-หมอประเทศ เป็นหัวขบวน ย้ำต้องเป็นอิสระและเกิดจากภาคประชาชน.
วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่วิระยะประกันภัย ลุมพินี เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(เอสวีเอ็น) และองค์กรภาคีจัดเสวนา“เศรษฐกิจ เติบโตไม่ได้ ภายใต้สังคมที่ล้มเหลว” โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวนิช ผอ.วิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐเปรียบเหมือนยามเฝ้าบ้านยามวิกาลซึ่งล้มเหลวในการทำ หน้าที่ ทำให้ชาวบ้านรากหญ้าจำนวนมากลุกขึ้นมาเรียกร้องโดยตั้งโจทย์ใหญ่คือการแก้ไข ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม และท่ามกลางสังคมไทยที่มีการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม หากปล่อยไว้จะเกิดการปฏิวัติประชาชนและการกดขี่ปราบปรามหรือรัฐประหารอีก ซึ่งการกระจายความเท่าเทียมมี 2 ลักษณะคือ 1.กระจายรายได้แบบประชานิยม โดยผู้มีบารมีจับกลุ่มกับภาคทุน ซึ่งไม่ตอบโจทย์ลดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แต่เป็นการให้สิทธิแบบนำเงินมาถลุง 2.ขับเคลื่อนสู่สังคมสวัสดิการ ซึ่งเป็นทางเลือกเดียวที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมทุกคนทุกภาคส่วนในสังคม
“ความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ความต่างของคนในและนอกระบบ สะท้อนผ่านค่าจ้าง จุดสำคัญและเร่งด่วนคือต้องปิดช่องว่างทางชนชั้น รายได้ โดยทำ 2 เรื่องคือ ให้สิทธิบังคับใช้ให้เป็นไปได้และสร้างสวัสดิการ”
นายสมเกียรติ กล่าวถึงบทบาทของภาคธุรกิจว่า นายทุนและธุรกิจไทยจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างคนด้อยสิทธิและชนชั้นนำทาง เศรษฐกิจสังคม 2 วิธีคือ 1.ทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งต่อคนระดับล่างคือไม่ทำลายฐาน ทรัพยากรดินน้ำป่าจนไปกระทบต่อวิถีชุมชน 2.รับผิดชอบต่อคนชั้นกลาง โดยสนับสนุนการศึกษา ฝึกอบรมแรงงาน สร้างความเป็นธรรมให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและเอ็สเอ็มอี 3.ร่วมสร้างและผลักดันการเมืองสังคมให้มีกติกา มีการบังคับใช้กฏกติกากฏหมาย
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำคือกลไกที่มีอยู่ไม่ได้ส่งเสริม การกระจายอำนาจและสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง รัฐต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ใช้พื้นที่และชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เชื่อมโยงเครือข่ายประชาชน แก้กระบวนการได้มาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เพื่อให้ได้ตัวแทนชุมชน จริง ส่วนภาควิชาการต้องไม่จำกัดเฉพาะส่วนกลาง สถาบันการศึกษาในพื้นที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชนให้เกิดกลไกการเรียนรู้ ส่วนบทบาทภาคเอกชนต้องเริ่มรับผิดชอบต่อลูกจ้างตัวเองก่อน แล้วก้าวไปรับผิดชอบสังคมชุมชน ต้องสร้างบทบาทใหม่ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม ซึ่งมีการจัดการแบบเอกชนแต่เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายสมเกียรติ พ้นภัย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านประสบความเหลื่อมล้ำทางสังคมมานานแต่พอทนและคานอยู่ได้ แต่ขณะนี้ระบบทุนนิยมรุนแรงขึ้นจนทนได้ยาก การปฏิรูปประเทศเหมือนการสร้างบ้านหลังหนึ่ง แผนปรองดองก็ยังไม่เห็นเค้าโครงที่เป็นไปได้เหมือนบ้านที่ยังไม่มีแปลน ทั้งที่มีคนพร้อมจะก่อสร้างอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือนักวิชาการ หากจะทำให้สำเร็จต้องสังคายนาปัญหาของชาวบ้านทั้งหมด แล้วทำให้ชุมชนฐานรากเข้มแข็ง
“ตอนสมานฉันท์ก็คือร่วมมือกับนายทุน พอถึงแผนปรองดองก็เหมือนดองไว้ไม่รู้จะเห็นผลเมื่อไร ยกตัวอย่างปัญหาเขื่อนปากมูลเรียกร้องมาเกือบ 20 ปีก่อนมีเสื้อเหลืองเสื้อแดง แล้วก็ไม่ได้เรียกร้องเพื่ออำนาจแต่เพื่อปากท้อง วันนี้ยังแก้ไม่หลุดเลย ถ้ารัฐจะแก้ไขปัญหาจริงๆง่ายมาก เพราะชาวบ้านมีเครือข่าย และกลุ่มปัญหารวมถึงทางออกที่ชัดเจนยื่นไปแล้ว แต่รัฐไม่ทำและมักอ้างว่าติดขัดข้อกฏหมาย”
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดจากแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบแท่งยิ่งยาวยิ่งดี ทำให้คนรวยกระจุกตัวอยู่ด้านบน ส่วนคนจนอยู่ด้านล่าง ซ้ำร้ายแท่งนั้นยังแตกและรั่วทำให้รายได้ไหลไปไม่ถึงคนข้างล่างกลายเป็น ตะกอน
“การแก้ปัญหาคือทำอย่างไรไม่ให้พวกอิทธิพลมาขี่หลังกอบโกยผลประโยชน์จากคนจน ที่ผ่านมาชาวบ้านรู้สึกดีจากประชานิยม แต่การเอาเงินมาทุ่มแก้ต้นตอปัญหาไม่ได้และทำให้ฐานะการคลังไม่สมดุล ต้องคิดให้ดีไม่เช่นนั้นอาจไม่รอด ถ้าให้อะไรฟรีต่อไปเมื่อไม่ฟรีชาวบ้านจะรับได้หรือ” นายธวัชชัย กล่าว
ทั้งนี้เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 15 องค์กรยื่นหนังสือผ่านนายอภิรักษ์ไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” โดยเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน และ น.พ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน และรัฐบาลต้องนำข้อเสนอของคณะกรรมการฯไปปฏิบัติ รวมทั้งออกกฏหมายรองรับฐานะของคณะกรรมการฯให้มีผลผูกพันทุกรัฐบาลจนกว่าจะ บรรลุภารกิจในการปฏิรูป
นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานเอสวีเอ็น เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ที่รัฐบาลพูดถึงคณะกรรมการฯ ชุดต่างๆที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ ยังขาดชุดหนึ่งคือคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งภาคประชาชนควรมีส่วนคิดและเสนอชื่อบุคคลที่คิดว่าเหมาะสมด้วย เสียงสะท้อนจากชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายธุรกิจส่วนหนึ่งเห็นว่าผู้ที่เหมาะ สมมาเป็นประธานร่วมคือสองท่านนี้
“ภาคสังคมเห็นว่าคณะกรรมการฯหลายชุดที่เคยเสนอๆไปมักถูกเก็บเข้าลิ้นชักหรือ ดองไว้เหมือนในหลายยุคสมัยที่ผ่านมา การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความ เป็นธรรมเป็นข้อเสนอภาคประชาชนที่มาก่อนแผนปรองดองด้วยซ้ำ ดังนั้นกรรมการชุดนี้จึงต้องเป็นอิสระและเกิดจากภาคประชาชนจริงๆ” .