มาตราการภาษีโซเดียม
แพทย์โรคไต เผยคนไทยกินเค็มสูงถึง 2 เท่า ส่งผลป่วยโรคไต 7.6 ล้านคน ความดัน 13 ล้านคน ชี้รัฐแบกภาระรายจ่ายสุขภาพถึงปีละ 1 แสนล้านบาท พบผู้มีรายได้น้อยป่วยสูงสุดถึง 70% เหตุไม่มีทางเลือก ย้ำสินค้าสุขภาพต้องถูกกว่าสินค้าทำลายสุขภาพ เผยมาตรการลดโซเดียมในอมริกา-แคนาดา ช่วยป้องกันผู้เสียชีวิตถึง 10% ขณะที่ประธานชมรมเพื่อนโรคไตหนุนสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสินค้าที่มีโซเดียมสูง เหตุได้รับผลกระทบโดยตรงจากอาหารโซเดียมสูง ส่งผลไตวายตั้งแต่อายุยังน้อย ชี้หากปล่อยให้คนไทยกินเค็มต่อไปจะเป็นภาระทางสุขภาพของประชาชนและประเทศ
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การที่กรมสรรพสามิตจะมีมาตรการจัดเก็บภาษีในอุตสาหกรรมอาหารที่มีโซเดียมสูง ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะทุกวันนี้คนไทยกินเค็มสูงถึง 2 เท่า ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื่องรัง หรือ NCDs ได้แก่ ความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน และโรคหัวใจขาดเลือด 750,000 คน เฉพาะค่าใช้จ่ายในการล้างไตสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี ค่าฟอกเลือด 2 แสนบาท/คน/ปี และมีจำนวนคนไข้ที่ฟอกเลือดเพิ่มขึ้นปีละ 2,000 คน/ปี ยังไม่นับรวมค่ายารักษา ส่งผลให้รายจ่ายทางสุขภาพของรัฐสูงถึงปีละ 50,000-100,000 ล้านบาท/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 15%
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว มาตรการนี้เป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญเพราะโรค NCDs เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ดำเนินมาตรการลดการบริโภคเค็ม โดยพบว่าหากลดให้ได้อย่างน้อย 30% จะสามารถช่วยป้องกันชีวิตคนไม่ให้เสียชีวิตถึง 10% และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50,000-100,000 ล้านดอลลาร์/ปี สำหรับการดำเนินมาตรการลดการบริโภคเค็มในสังคมไทย ที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับอ.ย. เพื่อขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมเป็นเวลาหลายปี โดยขอความร่วมมือให้ปรับสูตรลดโซเดียมลง 30% ภายใน 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแต่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความเค็มสูงคือ อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และกลุ่มขนมขบเคี้ยวที่กระทบต่อสุขภาพของเด็ก การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอาหารอุตสาหกรรมที่มีโซเดียมสูงจะช่วยให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่มีโซเดียมลดลงมากขึ้น เพราะจากประสบการณ์ต่างประเทศพบว่า ประชาชนเลือกซื้อสินค้าด้วยเหตุผลเรื่องราคาผลิตภัณฑ์ถึง 80% มากกว่าคำถึงถึงสุขภาพเพียง 20% เช่นในมาตรการภาษีโซเดียมของประเทศฮังการีที่ได้ผลมากกว่าการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว
“มาตรการภาษีโซเดียมเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดการเพื่อสุขภาพของประชาชน และหากมีข้อกังวลว่าจะกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยจะเดือดร้อนนั้น จากข้อมูลพบว่า 70% ของผู้ป่วยโรคNCDs มาจากผู้ที่มีฐานะยากจน เพราะมีทางเลือกน้อยและส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำจึงไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล ดังนั้นเราควรปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้โดยทำให้อาหารดีต่อสุขภาพราคาถูกกว่าสินค้าที่ทำลายสุขภาพ โดยสินค้าที่ลดโซเดียมในหมวดเดียวกันที่ไม่เสียภาษีก็ไม่ควรอาศัยจังหวะนี้ขึ้นราคา นอกจากนี้มาตรการที่ควรทำควบคู่กันคือ การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคโดยมีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเพื่อเป็นทางเลือกกับผู้บริโภค” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ตนขอสนับสนุนมาตรการจัดเก็บภาษีโซเดียมในอุตสาหกรรมอาหารที่มีโซเดียมสูงของรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายที่ดีในการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการกินเค็ม ชอบกินขนมขบเคี้ยวและกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทำให้เป็นความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุไม่ถึง 25 ปี และเป็นไตวายระยะสุดท้ายเมื่ออายุ 30 ปี ในสมัยนั้นหลักประกันสุขภาพยังไม่ครอบคลุมค่าฟอกไต ฟอกเลือด ทำให้มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 6,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 72,000 บาท ดังนั้นหากรัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลถึง 4 โรค ทั้งเบาหวาน หัวใจ ความดัน ไต ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐแบกไว้จะสูงถึงปีละหลายหมื่นล้านบาท หากปล่อยให้คนไทยบริโภคเค็มต่อไปจะเป็นภาระทางสุขภาพของประชาชนและต่อประเทศ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.sanook.com