เชฟรอน-สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง-สจล. จัด “เอามื้อสามัคคี” พลิกฟื้นเขาหัวโล้นอุทยานแห่งชาติศรีน่าน
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 4 ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 ณ พื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน บ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่เรียนรู้ หลุมขนมครกบนพื้นที่สูง ฟื้นฟูธรรมชาติ พร้อมถ่ายทอดตัวอย่างของผู้ที่เปลี่ยนจากผู้บุกรุกมาเป็นผู้พิทักษ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วประเทศสานต่อแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นจำนวนมหาศาลในจังหวัดน่าน ทำให้สูญเสียพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ถึง 1.5 ล้านไร่ในพื้นที่ราบสูง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำร้อยละ 40 ของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งทำให้เกิดสภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดน่าน และในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย
“การแก้ปัญหาต้องสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นเขาหัวจุก โดยนำศาสตร์พระราชาทั้งเรื่องทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม ออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อกักเก็บน้ำ ปลูกพืชเพื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น การทำกสิกรรมธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต เมื่อชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้การรุกป่าก็จะลดลง นับเป็นการเปลี่ยนผู้บุกรุกให้เป็นผู้พิทักษ์อย่างยั่งยืน” นายวิวัฒน์กล่าว
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แกนนำภาคเอกชน กล่าวว่า “เป้าหมายของโครงการฯ ในปี 6 ยังคงเน้นการขยายพื้นที่การพัฒนาจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ ตามแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชาที่เกิดจากความห่วงใยพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เราจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีมาแล้วใน 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ จันทบุรี สระบุรี และน่าน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อที่จะได้สร้างต้นแบบที่หลากหลาย เป็นแรงบันดาลใจต่อไปในทุกกลุ่มสังคมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ”
กิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้ มีพนักงานและผู้บริหารเชฟรอน และยังมีเครือข่ายคนมีใจจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และผู้ที่สนใจสมัครผ่านทางเฟซบุ๊คโครงการ รวมทั้งสิ้นกว่า 500 คนเข้าร่วมกิจกรรม โดยจัดขึ้นในพื้นที่ 7 ไร่ ของนางสาววริศรา จันธี (กานต์) ชาวบ้านผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล หัวหน้าศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เครือข่ายภาควิชาการกล่าวว่า “หลักการออกแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง ที่สอดคล้องกับพื้นที่และสังคมที่นี่ คือ จะต้องเก็บน้ำไว้ในป่า สร้างหนองน้ำให้เป็นแหล่งน้ำในหน้าแล้ง เพื่อจะได้เพาะปลูกพืชได้ทั้งปี และสามารถสร้างแหล่งอาหารของตัวเอง เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”
ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. (ITOKmitl) ได้จัดทำโครงการวิจัย ‘การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม’ เพื่อจัดเก็บข้อมูลเรื่องการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เป็นระบบและได้มาตรฐานทางวิชาการ สามารถนำฐานข้อมูลมาประมวลผลในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากเชฟรอน โครงการวิจัยนี้ มีระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และจะสิ้นสุดในปี 2561 นี้ โดยทำการวิจัยใน 3 พื้นที่ คือ ลำปาง อุดรธานี และตาก ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 ราย รวมพื้นที่ 400 ไร่ นอกจากนี้ ยังได้ทำการเอามื้อเพื่อขยายผลภายในจังหวัดของโครงการวิจัย และนอกพื้นที่วิจัย อาทิเช่น กาญจนบุรี เชียงใหม่ และน่าน ทั้งนี้ ทางศูนย์บูรณาการฯ มีแผนจะนำเสนอผลงานวิจัย และนำมาถอดบทเรียนเพื่อจัดทำเป็นชุดความรู้และคู่มือ เพื่อขยายผลให้พื้นที่ชุมชนอื่นๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต
นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้พาชาวบ้านบ้านห้วยเลาลงมือทำตามศาสตร์พระราชาเป็นคนแรก กล่าวว่า “หลังจากชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานฯ ได้ไปอบรมศาสตร์พระราชาที่ชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) หัวหน้าอุทยานได้ให้เจ้าหน้าที่มาช่วย เอารถมาดันดินให้เป็นหัวคันนาทองคำ แต่เครื่องจักรทำได้ไม่ดีเท่ากำลังคน พื้นที่ที่ขุดก็ต้องแก้ไข เพราะหนองอยู่สูงเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ความมีใจและความกระตือรือร้นอย่างมากของชาวบ้านที่จะเดินตามศาสตร์พระราชาและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เราจึงเข้ามาช่วย โดยได้จัดให้มีการเอามื้อไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่งานยังไม่เสร็จจึงต้องมาทำอีกครั้งให้สำเร็จ เพื่อให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของแปลงอื่นๆ ที่จะมาเรียนรู้และนำไปทำเองได้
ทั้งนี้ กิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้ประกอบด้วย การหมักดองดินเพื่อปรับสภาพดินให้เป็นกลางและช่วยย่อยสลายเปลือกข้าวโพดให้เป็นปุ๋ย การขุดคลองไส้ไก่และการสร้างฝายชะลอน้ำและจัดการน้ำให้ทั่วถึงในพื้นที่ การขุดปรับแก้ไขหนองน้ำเดิมเพื่อให้ใช้งานได้จริง การปั้นหัวคันนาทองคำเพื่อสร้างระบบนิเวศและแหล่งอาหารบนคันนา การเปลี่ยนเปลือกเป็นปุ๋ย ทำคอกหมักปุ๋ยจากเปลือกข้าวโพดใช้ประโยชน์จากเศษพืชที่มีมากในพื้นที่ให้เป็นปุ๋ย การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพรสจืดเพื่อปรับปรุงบำรุงดินและล้างสารพิษที่ตกค้างในดิน การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ห่มดินด้วยเปลือกข้าวโพด แห้งชาม น้ำชาม เพื่อให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น การหยอดเมล็ดพันธุ์พืชบำรุงดิน ได้แก่ ข้าวเปลือก ถั่วเขียว พริก มะเขือ และฟักทอง เพื่อให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน และมีผลพลอยได้เป็นอาหาร และการโปรยเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ล่อแมลง เพื่อล่อแมลงให้มาช่วยผสมเกสรดอกไม้ ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับพืช
นายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ผู้นำขับเคลื่อนกิจกรรมกลุ่มจอบเปลี่ยนน่าน เครือข่ายโคกหนองนาทีมศรีน่าน หนึ่งในคนบันดาลใจของโครงการฯ เล่าถึงสภาพปัญหาของการใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่อุทยานศรีน่านของชาวบ้านว่า “อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2537 ต่อมาปี 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่านเพิ่มเติมทำให้ชาวบ้านที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานก่อนการประกาศในพระราชกฤษฎีกากลายเป็นผู้บุกรุก
“อุทยานฯ มีพื้นที่กว่า 600,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ 12,000 ไร่ ผมจึงใช้แนวทางปลูกป่าในใจคน ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปลี่ยนชาวบ้านจากผู้บุกรุกเป็นผู้พิทักษ์ ผมเคยใช้แนวทางพระราชดำรินี้จนถือว่าประสบความสำเร็จมาแล้วกับโครงการน้ำมีดโมเดล การจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วมกรณีศึกษาบ้านน้ำมีด ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ที่ทำให้ได้พื้นที่ป่าคืนมาเพื่อฟื้นฟูเป็นป่าต้นน้ำต่อไปถึง 4,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 41,000 ไร่ สำหรับที่บ้านห้วยเลา ผมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน 10 เดือน มีชาวบ้านสมัครใจไปอบรมแล้ว 9 คน พร้อมที่จะลงมือทำตาม ออกแบบพื้นที่แล้ว และมีชาวบ้านที่สนใจรอดูอยู่”
นางสาววริศรา จันธี (กานต์) ผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน บ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน กล่าวว่า “ก่อนนี้ชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด เพราะมีนายทุนเอาเมล็ดข้าวโพดมาให้ แต่กำหนดราคาขายต่ำ ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรอง ทำแล้วมีแต่หนี้ และยังมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะถางป่าขยายไร่ข้าวโพด ตัดไม้ขายเพื่อใช้หนี้ ชาวบ้านต้องซื้อข้าวกิน ทุกบ้านเป็นหนี้ไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท กานต์ทำข้าวโพด 7 ไร่ มีรายได้ 30,000 กว่าบาทต่อปี หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือปีละ 10,000 กว่าบาทเท่านั้น
“จนหัวหน้าฉิม (นายบัณฑิต ฉิมชาติ) เข้ามาเป็นหัวหน้าอุทยานฯ บอกว่ามีทางเลือกให้อยู่อย่างพอเพียง มาชวนให้ไปดูที่บ้านน้ำมีด พอกลับมาจากอบรมก็ลองทำ แต่ชาวบ้านสบประมาทว่าทำไปไม่ได้อะไรเพราะน้ำไม่มี กลับไปอบรมที่ ชตน.อีกครั้ง เขาบอกว่าขับเคลื่อนคนเดียวช้าต้องรวมกลุ่ม จึงชักชวนคนในหมู่บ้าน จนมีคนสนใจ 7 คนเป็นทีมจอบจิ๋ว และชวนคนจากหมู่บ้านอื่นทั้งหมด 26 คน แต่ตอนแรกขุดหนองไว้สูงเกิน จนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจัดทีมมาเอามื้อใหญ่ 30 คน ได้คลองไส้ไก่ ตอนนี้ปลูกข้าวไร่พันธุ์มัดน้ำ ผลไม้ พืชผักผสมผสาน ผักกูด ชะพลู ข่า เพื่อนำมาใช้ในครัวเรือน
“การขยายผลจาก 1 เป็น 2 เป็น 7 คน ในหมู่บ้านที่มาร่วมด้วยช่วยกัน เพราะเห็นว่าเป็นทางออกเดียว ความฝัน คือ อยากปลดหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี จากมีหนี้เป็นล้านตอนนี้เหลือ 500,000 บาท”
หลังจากนี้ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 จะสรุปผลงานการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ใน 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ จันทบุรี สระบุรี และน่าน ณ ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 และนำเสนอโครงการฯ ผ่านรายการ “เจาะใจ” ในรูปแบบทอล์คโชว์พิเศษ 2 ตอน โดยสัมภาษณ์ “คนต้นแบบ” ใน 4 พื้นที่ ที่มาแบ่งปันเรื่องราวความประทับใจและสร้างแรงบันดาลใจจากการนำแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัติ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์อันล้ำค่าให้กับคนรุ่นต่อไป ได้สานต่อพระราชปณิธานในการทำงานและการดำเนินชีวิตอย่างไม่รู้จบ โดยจะออกอากาศในวันเสาร์ที่ 1 และ 8 ธันวาคม 2561 เวลา 21.40 น. ทางช่อง MCOT HD ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking และ https://ajourneyinspiredbytheking.org/th/
เปลี่ยนเปลือกเป็นปุ๋ย ทำคอกหมักปุ๋ยจากเปลือกข้าวโพดใช้ประโยชน์จากเศษพืชที่มีมากในพื้นที่ให้เป็นปุ๋ย
หยอดเมล็ดพันธุ์พืชบำรุงดิน ได้แก่ ข้าวเปลือก ถั่วเขียว พริก มะเขือ และฟักทอง เพื่อให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน และมีผลพลอยได้เป็นอาหาร
ปั้นหัวคันนาทองคำเพื่อสร้างระบบนิเวศและแหล่งอาหารบนคันนา
ขุดคลองไส้ไก่ และสร้างฝายชะลอน้ำ
กิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 4 โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายคนมีใจทั่วประเทศกว่า 500 คน เข้าร่วมกิจกรรม