รู้จัก ‘สายพันธุ์โกโก้’ ในวันที่รัฐดันปลูกแทนยางแก้ราคาต่ำ จริงจังหรือแค่โปรยยาหอม?
ทำความรู้จักพันธุ์ “โกโก้ลูกผสมชุมพร 1” หลังรัฐเตรียมดันนโยบายปลูกทดแทนยางพารา แก้ราคาตกต่ำ ท่ามกลางคำเตือน ไม่ควรเร่งรีบ
นโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ปลูกโกโก้ทดแทนการทำสวนยางพารา ซึ่งมีราคาตกต่ำอย่างมาก แม้จะเป็นนโยบายที่หลายภาคส่วนสนับสนุน แต่ก็มีความเห็นว่า ไม่ควรเร่งรีบ ด้วยเหตุผลนานาประการ โดยเฉพาะความไม่พร้อมของสายพันธุ์มีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในพืชชนิดนี้ยังมีน้อย
ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและได้รับการยอมรับมาก คือ พันธุ์โกโก้ลูกผสมชุมพร 1 โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ระบุว่า ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อ 17 มิ.ย. 2537
พันธุ์โกโก้ลูกผสมชุมพร 1 เป็นคู่ผสมระหว่างพันธุ์ Pa7 กับ Na32 ซึ่งทั้งสองพันธุ์ได้จากการเก็บรวบรวมโดย Dr. F. J. Pound เมื่อปี พ.ศ. 2481 จากต้นที่ปลอดจากโรค Witches' broom ในประเทศเอกวาดอร์ แล้วนำไปเก็บรวบรวมไว้ที่ประเทศทรินิแดด ต่อมาปี พ.ศ. 2486 Dr. A. F. Posnette ชาวอังกฤษได้ผสมลูกพันธุ์ดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกและส่งไปทดลองในประเทศกาน่า ในปี พ.ศ.2487
สำหรับประเทศไทย ลูกผสมคู่นี้ได้นำเข้ามาจากรัฐซาบาร์ของประเทศมาเลเซียในปี 2522 โดย พณฯ พ.ต.อ.กฤช สังขทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) ในขณะนั้น
ส่วนการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรได้ทำการค้นคว้าวิจัยพัฒนาพันธุ์โกโก้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร
โดยทำการเปรียบเทียบพันธุ์โกโก้ลูกผสมจากประเทศมาเลเซียเพื่อหาพันธุ์ที่ดีจำนวน 14 พันธุ์ กับพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกอยู่เดิม
ผลการทดลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524-2536 พบว่า ลูกผสม Pa7xNa32 ให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอกว่าพันธุ์ลูกผสมอื่น ๆ เป็นลูกผสมที่ดีทั้งในด้านการให้ผลผลิตและคุณภาพเมล็ด เหมาะที่จะใช้เป็นพันธุ์ปลูกสำหรับเกษตรกร
โดยมีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตเมล็ดโกโก้แห้งสูงสุดตลอดเวลาการทดลอง 13 ปี สูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกประมาณ 31.4% ให้ผลผลิตเฉลี่ย 127.2 กก./ไร่ มีความสม่ำเสมอในการให้ผลผลิต มีความทนทานต่อโรคกิ่งแห้งและโรคผลเน่าดำปานกลาง เป็นต้น
เพียงแต่มีข้อจำกัด จะต้องปลูกลูกผสมคู่อื่นร่วมด้วยอย่างน้อย 1 สายพันธุ์ในแปลงเดียวกัน โดยปลูกคละปนกันไปเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร และระยะแรกต้องมีร่มเงา หากจะปลูกร่วมในแปลงมะพร้าว ไม่ควรเป็นดินทรายจัด
‘อนันต์ ดาโลดม’ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร วิจัยทดสอบสายพันธุ์ เพราะไทยไม่มีพันธุ์โกโก้เป็นของตัวเอง อาจจะมีพันธุ์พื้นเมืองบ้าง ซึ่งจากการพัฒนาสายพันธุ์และทดลองปลูกใน จ.ชุมพร และสุราษฎร์ธานีบางส่วน ปรากฎว่าได้ผลดี
ต่อมาได้ขยายพื้นที่ปลูกไปยัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในอ.บางสะพานน้อย อ.บางสะพานใหญ่ ดังจะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะเป็นสวนมะพร้าวมาก่อน
อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ไทยส่งเสริมการปลูกโกโก้เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ทั้งนี้ ประเทศที่มีการปลูกมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีมะพร้าวเยอะ และละตินอเมริกา แถบประเทศฮอนดูรัส เปอร์โตริโก บราซิล โดยภาคใต้ของประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นรายได้เสริม
อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เนื่องจากมีความเสี่ยง แต่สนับสนุนให้ปลูกเป็นพืชแซมต้นมะพร้าวหรือยางพาราแทน
ทั้งนี้ ยังแสดงความเห็น หากจะส่งเสริมให้ปลูกจริงจัง จะต้องมีตลาดและสถานที่รับซื้อรองรับอย่างชัดเจน เนื่องจากโกโก้เป็นพืชต้องอาศัยการแปรรูปเข้ามา ไม่สามารถขายสดได้ มิฉะนั้นจะเหมือนในอดีตที่เคยเกิดปัญหาบริษัทแปรรูปรับซื้อปิดตัว ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
......................................................
จึงกล่าวได้ว่า ‘โกโก้’ อาจเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเป็นทางเลือกช่วยสร้างรายได้เสริมได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า นโยบายของรัฐจะจริงจังกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด หรือแค่โปรยยาหอมออกมาย้อมใจชาวสวนยางพาราที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำในช่วงใกล้เลือกตั้งเท่านั้น .
อ่านประกอบ:อย่ารีบร้อน! อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เตือนรัฐส่งเสริมปลูกโกโก้แทนยาง ย้ำไม่เหมาะกับอีสาน