นักวิชาการแนะชาวนาเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าว-รวมกลุ่มต่อรองสู้เรื่องราคา
“อัมมาร” ติงรัฐเลิกรับจำนำข้าว ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะชาวนาเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าว-รวมกลุ่มต่อรองสู้เรื่องราคา
เมื่อวันที่ 20 พฤจิกายน ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “นโยบายข้าวไทยจะไปทางไหน” ที่จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับข้าวยังเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ในทุกรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมักจะเข้ามาแทรกแซงราคาข้าวเพื่อสร้างความนิยม อาทิ การให้รัฐบาลเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศและรับจำนำข้าวทุกคุณภาพซึ่งจะ ส่งผลให้ เกษตรกรไม่มีแรงผลักดันและพัฒนาผลผลิต แทนที่จะลดราคาข้าวให้ต่ำลง หรือส่งเสริมขายสัญญาประกันราคาข้าวล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรลดความเสี่ยงจากความผันผวน
“ขณะนี้ระบบการทำนาได้เปลี่ยนไปแล้ว ชาวนาไม่ใช่คนจนทั้งหมด ประกอบกับต้นทุนในการทำนาไม่ได้อยู่ที่แรงงานเท่านั้น แต่มีการใช้เครื่องจักรกล มีการจ้างแรงงานจากที่อื่น ทั้งนี้ข้าวที่เข้ามาอยู่ในการควบคุมของรัฐ ไม่ใช่ข้าวของคนจนทั้งหมด กรุณาอย่าทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น โดยอ้างว่าช่วยเหลือคนจน” นายอัมมารกล่าว
ด้านนางสาวภคอร ทิพยธนเดชา ผู้จัดการฝ่ายเศรษฐกิจจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ข้าวเป็นไปอย่างผันผวน ขณะที่ราคาข้าวไทยเมื่อต้นปีสูงขึ้น เกิดจากประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งเจอวิกฤติทางธรรมชาติ มิได้เป็นเพราะคุณภาพข้าวของไทยสูงขึ้นจนทำให้มีราคา ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพข้าวในประเทศให้สูงขึ้น โดยอาจจะส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกร การสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวและโรงสีที่มีคุณภาพ ในพื้นที่ชุมชนที่จำเป็น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยเก็บข้าวให้มีคุณภาพ ทำให้ราคาไม่ตก ก่อนจะทยอยปล่อยขายไปเมื่อราคาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แทนการรีบปล่อยออกไปทั้งหมดหมด เพราะกลัวข้าวจะเสื่อมคุณภาพจากความชื้นอย่างที่เป็นอยู่
“สำหรับการตั้งโรงสีข้าวชุมชน หรือไซโลเก็บข้าวในพื้นที่จำเป็นนั้น รัฐควรจะให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเองทั้งหมด เนื่องจากคนในพื้นที่จะรู้รายละเอียดในชุมชนของตนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามรัฐจะต้องช่วยเหลือทางด้านเงินทุน ให้ความรู้ด้านการบริหารเป็นระบบให้แก่คนในท้องถิ่นควบคู่ด้วย”
นางสาวภคอร กล่าวต่อว่า ชาวนาเองก็ต้องรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของตนเองด้วย เช่น ต้องรู้ว่าควรจะใช้วัตถุดิบอย่างไรให้พอดี ไม่ให้สิ้นเปลืองเกินไป รู้จักพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เหมาะสมกับตลาดโดยมีรัฐเป็นผู้ให้ความรู้ อาทิ ชาวนาต้องรู้ว่าข้าวที่มีคุณภาพดี อย่างข้าว 100 % ก็จะขายในรูปแบบข้าวเม็ด ให้แก่ประเทศในทวีปเอเชีย และแอฟริกา ที่นิยมกินข้าวเป็นหลัก ส่วนที่มีคุณภาพรองลงมา ก็จะขายในประเทศแถบอื่น นำไปใช้ในส่วนผสมอื่นเช่น แป้ง เหล้า ดังนั้นต้องรู้จักแยกประเภทผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อจะขายได้ในทุกๆรูปแบบ
“นอกจากนี้ชาวนาเองก็ต้องไม่ตายเดี่ยว ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองขณะนี้ชาวนาที่ยังทำนาอย่างโดดเดี่ยวและไม่ได้รับการช่วยเหลือ อยู่นอกเขตชลประทานยังมีอยู่มาก มีเพียงประมาณ22% เท่านั้น ที่อยู่ในการดูแลของชลประทาน” ผู้จัดการฝ่ายเศรษฐกิจจุลภาคฯ กล่าวและว่ามาตรการการรับจำนำข้าวนั้น ควรเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น รัฐบาลควรเลิกและปล่อยไปตามกลไก ตลาด เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพข้าวให้มากขึ้น