16 องค์กรสิทธิออกแถลงการณ์ร่วม ไทยควรหยุดฟ้องปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
16 องค์กรร้องทางการไทย-บริษัทธรรมเกษตร จำกัด บ.ฟาร์มไก่ของไทย ยุติดำเนินคดีหมิ่นประมาท แพ่งและอาญาต่อนาน วิน และสุธารี วรรณศิริ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ทางการไทยและบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟาร์มไก่ของไทย ควรยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งทางบริษัทได้ฟ้องต่อ นาน วิน และสุธารี วรรณศิริ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวโดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ และองค์กรระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับชาติอีก 15 องค์กรในแถลงการณ์ร่วมวันนี้ หากศาลตัดสินว่ามีความผิด นาน วิน ได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสี่ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท ขณะที่สุธารี วรรณศิริ ได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหกปี และปรับไม่เกิน 600,000 บาท
ศาลอาญากรุงเทพมีกำหนดไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญานัดแรกวันนี้
“คำฟ้องเหล่านี้เป็นความพยายามข่มขู่และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ทางการไทยควรยุติคำฟ้องนี้” กล่าวโดย เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ “บริษัทกำลังมุ่งโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดโปงการข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิแรงงาน”
การฟ้องคดีนี้เป็นผลเนื่องมาจากภาพยนตร์ความยาว 107 วินาทีของฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฟ้องคดีหมิ่นประมาทของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ต่ออดีตคนงาน 14 คนที่มาจากเมียนมาก่อนหน้านี้ โดยในภาพยนตร์ดังกล่าวที่เริ่มเผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. 2560 อดีตคนงานสามคนให้ข้อมูลว่า ทางบริษัทฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับตน หลังจากคนงานได้ร้องเรียนกับทางการไทยว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งการให้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย การไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา และการยึดเอกสารประจำตัว รวมทั้งหนังสือเดินทางเอาไว้
แถลงการณ์วันนี้ยังเรียกร้องให้ทางบริษัท “ถอนฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาและถอนฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งที่ไร้ซึ่งน้ำหนักต่อแรงงานข้ามชาติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมโดยสันติซึ่งคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย”
บริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาและแพ่งล่าสุดนี้ต่อ นาน วิน และสุธารี วรรณศิริ เมื่อเดือน ต.ค. 2561 โดยกล่าวหาว่า นาน วิน อดีตคนงานจากเมียนมา เผยแพร่ข้อมูลที่เป็น “เท็จ” เกี่ยวกับข้อการหาการละเมิดสิทธิแรงงานโดยบริษัท โดยอ้างถึงภาพยนตร์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่ง นาน วิน ปรากฏตัว และการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กกิจกรรมสาธารณะหนึ่งในกรุงเทพ ฯ
คำฟ้องต่อ สุธารี วรรณศิริ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของฟอร์ตี้ฟายไรต์ เกิดจากข้อความทวิตเตอร์ จำนวนสามข้อความบนทวิตเตอร์ของเธอ เมื่อเดือน ต.ค. 2560 ซึ่งเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์
บริษัทธรรมเกษตรยังได้ฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งต่อ สุธารี วรรณศิริ โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท เนื่องจากทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศของทางบริษัท
“งานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่อาญากรรม” เอมี สมิธ กล่าว “สุธารี วรรณศิริ และนาน วิน เป็นผู้เสียหายรายล่าสุดจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมซึ่งแพร่ระบาดในประเทศไทย และพวกเขาจะไม่ใช่รายสุดท้ายหากทางการไทยไม่กระทำการใด ๆ อย่างเด็ดขาด”
องค์ร่วมลงนามมีดังนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ฟอรั่มเอเชีย (FORUM-ASIA) สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation) และอื่น ๆ
แถลงการณ์วันนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยทำให้ “การหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางแพ่ง มิใช่ความผิดทางอาญา”
ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ถือว่าโทษจำคุกสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง และไม่อาจถือเป็นบทลงโทษที่เหมาะสมได้เลย
องค์กรในแถลงการณ์นี้ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยบัญญัติกฎหมายให้มีการป้องกัน “การฟ้องคดีปิดปาก (Strategic Litigation Against Public Participation – SLAPP)”
“การดำเนินงานเพื่อยุติการฟ้องคดีปิดปาก สอดคล้องกับการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิ” ดังที่ได้กล่าวในแถลงการณ์นั้น นับว่าการดำเนินการทางกฎหมายนั้นจะสอดรับกับความพยายามในขณะนี้ของรัฐบาลไทยในการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
วิดีโอจากองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ 14 คนที่โดนบริษัทฟ้องหมิ่นประมาท หลังจากที่แจ้งเหตุการละเมิดสิทธิแรงงานในบริษัท