กสทช. ประกาศทิศทางและนโยบายการดำเนินงานปี 62 กำหนด 5 เป้าหมาย
สำนักงาน กสทช. ประกาศทิศทาง-นโยบายการดำเนินงานปี 62 กำหนด 5 เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ 5G แก้ปัญหาทีวีดิจิตอลในระยะยาว จัดทำแผนหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ให้ 191 เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว พร้อมจับมือหลายหน่วยงานระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย
วันที่ 3 ธันวาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ประกาศทิศทางและนโยบายการดำเนินงานปี 2562 โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมาได้มอบหมายนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหารสำนักงาน กสทช. พร้อมผลักดัน 5 เป้าหมายให้เกิดขึ้นจริงในปี 2562 ได้แก่
1.สนับสนุนนโยบายรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5G เร็วที่สุด โดยจะดำเนินการดังนี้
1.1 ทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ (Set Zero โทรคมนาคม) ที่สะท้อนความต้องการคลื่นความถี่ที่สมเหตุสมผล เหมาะสมกับบริบทอุตสาหกรรม และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
1.2 ทบทวนเงื่อนไขและระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ (Term of payment) ของคลื่นที่ประมูลไปแล้ว และที่จะนำมาประมูลใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบโครงข่ายและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
1.3 ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้งานคลื่นความถี่ 5G ใหม่เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G โดยแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (Nation Wide) และใบอนุญาตแบบที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (Specific Area) เช่น ในเขตพื้นที่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G
1.4 กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (Multiband) ในการต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz/ 2.6 GHz, 3.5 GHz/ 26GHz, 28 GHz)
1.5 ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดังกล่าว
รวมทั้งการเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ ตามประกาศซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามประกาศดังกล่าว และจะตั้งคณะทำงานดำเนินการตามประกาศดังกล่าวตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 โดยมีเป้าหมายในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz เป็นลำดับแรก
2. แก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอลในระยะยาว โดยประกอบด้วย 4 แนวทาง ดังนี้
2.1 เร่งรัดปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เพื่อนำไปใช้ประกอบกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าว ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างเป็นธรรม
2.2 สนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในส่วนของค่าภาระอันเกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ Must Carry จนถึงปี 2565
2.3 สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (MUX) เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอลร้อยละ 50 ของค่าเช่าโครงข่ายจนถึงปี 2565
2.4 สนับสนุนให้มีการสำรวจความนิยม (Rating) ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอลที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสามารถนำเอาข้อมูลการสำรวจความนิยมรายการดังกล่าวไปใช้อ้างอิงเพื่อหารายได้ได้อย่างเป็นธรรม
3. จัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เพื่อรองรับมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน” ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. .... ที่จะกำหนดให้ กสทช. เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลเกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมทั้งหมด
4. เร่งรัดและร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ในการนำเลขหมายโทรศัพท์ 191 มาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว (National Single Emergency Number) ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่จะสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้ง และสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถระงับและจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันเหตุการณ์ ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. เร่งรัด สนับสนุน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี ในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย