สนช.รับหลักการแก้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ยกเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ให้ สธ.ดูแล
สนช.รับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับแก้ไข ยกเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ที่ไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบให้กระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแล ด้าน กมธ.กำหนดกรอบพิจารณาให้เสร็จวันที่ 6 ธ.ค.นี้และเสนอให้ สนช.พิจารณาก่อนสิ้นเดือน
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติ (สนช.) มีมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ... ทั้งร่างฉบับของ สนช. และร่างฉบับของรัฐบาล ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีหลักการคล้ายคลึงกันคือให้ยกเว้นเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ที่ไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบออกจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 โดยให้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องมีการขึ้นทะเบียน ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี เพียงแต่ต้องจดแจ้งเท่านั้น รวมทั้งลดโทษลง ไม่มีโทษจำคุก ขณะที่โทษปรับเหลือไม่เกิน 1 แสนบาทจากเดิมที่กำหนดไว้ 5 แสนบาท
นอกจากนี้ สนช.ยังตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งมี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธานกรรมาธิการฯ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นรองประธานคนที่ 1 พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นรองประธานคนที่ 2 ตลอดจนผู้แทนจากรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสมาชิก สนช. รวมทั้งหมด 15 คน โดยให้แปรญัตติภายใน 7 วัน และให้คณะกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณาภายใน 30 วัน
ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้ประชุมนัดแรก โดยได้พิจารณาร่างหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายโดยยึดร่างฉบับของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการและเหตุผล แต่มีประเด็นย่อยที่ต้องทำให้ชัดเจน 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การแยกอำนาจการควบคุมกำกับให้ชัดเจนระหว่างกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งดูแลเครื่องเอกซเรย์ที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ โดยให้แยกเจ้าหน้าที่ในการดูแลกำกับออกจากกันไปเลย
2.การอุทธรณ์คำสั่ง ในร่างกฎหมายฉบับนี้หากมีผู้ต้องการอุทธรณ์คำสั่ง ต้องอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งที่ประชุมมองว่าคนออกคำสั่งคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การอุทธรณ์คำสั่งก็ควรอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
3.โทษของการไม่จดแจ้งหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย ปรับ 1 แสนบาท ซึ่งฝ่ายการแพทย์ยังมองว่าค่อนข้างสูง เพราะร่างฉบับเดิมกำหนดโทษปรับ 1 หมื่นบาท จึงต้องหารือกันว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่
อย่างไรก็ดีทั้ง 3 ประเด็นนี้คิดว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะไม่ใช่ประเด็นในหลักการ โดยกรรมาธิการได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องปรับให้ตกผลึกก่อนเสนอให้คณะกรรมาธิการชุดใหญ่พิจารณา โดยกำหนดระยะเวลาการทำงานวันที่ 4 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมคณะทำงานในช่วงเช้าแล้วประชุมกรรมาธิการในช่วงบ่าย จากนั้นวันที่ 6 ธ.ค. จะประชุมคณะกรรมาธิการทั้งเช้าและบ่ายเพื่อดำเนินการให้เสร็จไปเลยเนื่องจากประเด็นที่แก้ไขกฎหมายนี้มีไม่มาก น่าจะมีข้อยุติและส่งให้ สนช.พิจารณาได้ไม่เกินสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ และน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการออกกฎหมายทั้งหมดภายในระยะเวลาการทำงานของ สนช.ชุดนี้
"ในฐานะนายกทันตแพทยสภา อยากขอบคุณ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ รัฐบาลและ สนช. ที่พยายามเร่งกฎหมายให้ทันการพิจารณาในรัฐบาลชุดนี้ เพราะหากล่าช้าออกไปจะทำให้เกิดปัญหากับฝ่ายปฏิบัติ มีผลกระทบกับคลินิกเล็กๆหรือโรงพยาบาลชุมชน ดังนั้นหากกฎหมายนี้ได้รับการแก้ไขได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นที่ยอมรับของผู้ปฏิบัติและเป็นผลดีต่อประชาชน" ทพ.ไพศาล กล่าว