กพร. ผนึกภาครัฐ-เอกชนอัด 1,250 ล้าน พัฒนาอุตฯรีไซเคิลเศษโลหะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จัดพิธีเปิดโครงการ นำร่องรีไซเคิลเศษโลหะอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพิธีลงนามความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน จำนวน 7 ราย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก กว่า 1,250 ล้านบาท
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของ กพร. ในการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้เข้าสู่ยุค 4.0 คือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สมัยใหม่เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ได้จัดพิธีเปิดโครงการลดมลภาวะทางอากาศจากโรงงานรีไซเคิลเศษโลหะ โดยเฉพาะมลพิษที่ตกค้างยาวนานซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่จงใจ (U-POPs) อาทิ ไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาพบการปลดปล่อยสารไดออกซินหรือฟิวแรนจากอุตสาหกรรมหลอมโลหะของไทยแต่ละปีมีปริมาณมากกว่า 119 กรัม TEQ (Toxic Equivalent) หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของการปลดปล่อย U-POPs จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด การดำเนินโครงการจึงตั้งเป้าลดปริมาณการปลดปล่อยมลพิษดังกล่าวให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยใช้เทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique: BAT) และแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice: BEP) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อหลอมโลหะเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กพร. จะดำเนินงานร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยจำนวน 7 ราย ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด บริษัท เอ็น.ที.เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไดกิ อลูมิเนียม อินดัสทรี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม จำกัด ภายใต้วงเงินกว่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,250 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี
การดำเนินงานโครงการดังกล่าว จะมีการกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ “การพัฒนากฎระเบียบ” เพื่อปรับปรุงกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมหลอมโลหะตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ “การพัฒนาบุคลากร” เพื่อจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับกระบวนการรีไซเคิลเศษโลหะ รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการรับซื้อเศษโลหะรายย่อย
ในเรื่องการคัดแยกขยะหรือของเสีย รวมทั้งการจัดเก็บที่ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากสารปนเปื้อนที่ติดมากับเศษโลหะได้อย่างตรงจุดมากที่สุด “การพัฒนาโรงงาน” เพื่อจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลเศษโลหะต้นแบบที่มีการนำ BAT/BEP มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต จำนวน 4 โรงงาน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการได้เข้ามาศึกษา พร้อมบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปปรับใช้ในโรงงานได้จริง ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการจะมีการประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ภาคเอกชนและประชาชนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามประเมินผลมาตรการต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่มีการปลดปล่อย U-POPs ด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังพิธีเปิดโครงการและการลงนามความร่มมือฯ ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “ทิศทางอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะไทยในยุค 4.0” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ถึง 4 ท่านได้แก่ นางสุนีย์ ปิยะพันธุ์พงศ์ นายกสมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Dr. Pasquale Spezzano ด้าน BAT/BEP จากประเทศอิตาลี เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมงาน โดยมี ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน Industrial Symbiosis ของ UNIDO เป็นผู้ดำเนินรายการ
“กพร. มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานโดยยึดแนวทางการสานพลังประชารัฐ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้สามารถก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน” นายวิษณุ กล่าวทิ้งทาย