กสม.หารือ สธ. ส่งเสริมหญิงวัยเจริญพันธุ์รับประทานวิตามินบี9 ลดความพิการแต่กำเนิด
กสม. ฉัตรสุดา หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมหญิงวัยเจริญพันธุ์รับประทานวิตามินโฟลิก (บี 9) เน้นคุ้มครองสิทธิแม่และเด็กเชิงป้องกันเพื่อลดความพิการแต่กำเนิด
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยถึงการเข้าพบนายแพทย์กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิงพรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด และนายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เพื่อหารือร่วมกับอธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ถึงแนวทางการดำเนินการลดความเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดของเด็ก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ความพิการแต่กำเนิดของบุคคลส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนพิการและคนในครอบครัว รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการรับบริการสาธารณสุข ตลอดจนความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสาธารณะ และการถูกเลือกปฏิบัติจากการจ้างงาน
โดยที่ “ความพิการแต่กำเนิด” เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไทยต้องเผชิญ เนื่องจากในแต่ละปีมีเด็กที่คลอดและพิการแต่กำเนิดกว่าปีละ 30,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดูแลราวปีละ 1,000 ล้านบาท ทั้งที่ในทางการแพทย์โดยการแนะนำขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ความพิการแต่กำเนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์รับประทานวิตามินโฟลิก (Folic Acid) หรือ บี 9 ในปริมาณที่เหมาะสม ตั้งแต่ก่อนและหลังตั้งครรภ์ 3 เดือน ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงจากการพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 20 – 50 และลดโอกาสการเกิดและการเกิดซ้ำความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาทได้ถึงร้อยละ 70
ตนเห็นว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเชิงป้องกันของหญิงวัยเจริญพันธุ์และทารกที่จะกำเนิด อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 12 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 24 ซึ่งรับรองว่า รัฐภาคีควรดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอดและของเด็กแรกเกิด ตลอดจนประกันให้มีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมแก่มารดาทั้งก่อนและหลังคลอด รวมถึงการแนะแนวให้ความรู้แก่บิดามารดาในเรื่องโภชนาการและการวางแผนครอบครัว จึงได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นการติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลตามข้อเสนอแนะของ กสม. เมื่อปี 2560 กรณีนโยบายและแผนการดำเนินงานเพื่อลดความพิการแต่กำเนิดโดยการกำหนดให้วิตามินโฟลิก (Folic Acid) เป็นส่วนประกอบในอาหาร ด้วย โดยได้ข้อสรุปว่า
ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมจะเร่งรัดการผลิตวิตามินโฟลิก ขนาดเม็ดละ 400 ไมโครกรัม (0.4 มิลลิกรัม) ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมที่หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับประทานต่อเนื่องทุกวันในช่วงก่อนและหลังตั้งครรภ์ 3 เดือน และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุขจะได้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีการผสมวิตามินโฟลิกในอาหารที่เหมาะสมที่คนไทยรับประทานเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยตนในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข จะร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้มีการส่งเสริมการให้โภชนศึกษาแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์และคู่สมรสที่พร้อมจะมีบุตร ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีส่วนในการวางแผนครอบครัวให้ได้ทราบถึงประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เพื่อเป็นการลดโอกาสเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดของทารกต่อไป
“การส่งเสริมให้หญิงที่ต้องการมีบุตรได้รับประทานวิตามินโฟลิกเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่สำคัญมาตรการหนึ่งในการที่จะคุ้มครองสิทธิของแม่และเด็กที่จะเกิดมาในภายหลัง ให้ไม่ต้องตกอยู่ในภาวะแห่งความพิการที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตในหลายด้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมว่ารัฐบาลได้เห็นความสำคัญและมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้วอย่างต่อเนื่อง” นางฉัตรสุดา กล่าว