ทำหมันแล้วท้อง 12 ปี สปสช.จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้วกว่า 42 ล้าน
12 ปี สปสช.จ่ายช่วยเหลือ กรณีทำหมันหลุด-ท้อง กว่า 42 ล้าน แพทยสภา ยันไม่มีวิธีการคุมกำเนิดใดๆ ที่ได้ผล 100% ยิ่งการคุมกำเนิดชั่วคราวด้วยวิธีการฉีดยาคุมก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 6%
ทําหมันแล้ว ทําไมยังท้องได้ เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วใครรับผิดชอบ
ทำหมันแล้วท้อง เป็น “พยาธิสภาพ” หรือ “เหตุสุดวิสัย” ?
คำตอบเหล่านี้ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา เคยให้ข้อมูลถึงวิธีการทำหมันที่ราชวิทยาลัยสูติฯ แนะนำ ก็ยังมีโอกาสท้อง 0.2% และงานวิจัยที่มีการรีวิวล่าสุดยังพบว่า เมื่อทำหมันในปีแรกมีโอกาสท้อง 1:1000 แต่ผ่านไป 10 ปีมีโอกาสท้อง 10:1000 หรือ 1% ยิ่งการคุมกำเนิดชั่วคราวด้วยวิธีการฉีดยาคุมก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 6% ฉะนั้น จึงไม่มีวิธีการคุมกำเนิดใดๆ ที่ได้ผล 100% (อ้างอิง:สปสช.ชดเชย ‘ทำหมันแล้วท้อง’ ไม่ถูก ชี้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เดือดร้อน รพ.ต้องจ่ายสิทธิอื่นด้วย)
และนับตั้งแต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 และมีมติเห็นชอบให้กรณีสตรีที่รับบริการทำหมันแล้วตั้งครรภ์ รวมถึงการคุมกำเนิดชั่วคราว ได้แก่ ฉีดยาคุม ฝังยาคุม และใส่ห่วงแล้วตั้งครรภ์ เป็นเหตุสุดวิสัยในระบบการรักษาพยาบาล เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น
ประเด็นดังกล่าว ทางคณะกรรมการแพทยสภา มองว่า จะเกิดความโกลาหลตามมา กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 แพทยสภามีมติขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณา"ทบทวน" และ "ยุติ" การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ในกรณีการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการคุมกำเนิด ทั้งในมิติด้านกฎหมาย และมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ช่วงต้นปี 2561 สปสช.จัดเวทีถกแถลง ระหว่างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งในเวทีดังกล่าวก็ยังมีความเห็นต่างกรณีจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตาม มาตรา 41
บ้างเห็นว่า ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดกรณีทำหมันแล้วท้อง เป็น “พยาธิสภาพ” หรือ “เหตุสุดวิสัย” ขอให้จ่ายเพื่อมนุษยธรรม และลดความขัดแย้งในระบบสุขภาพ
ฟากฝั่งที่เห็นต่าง ผู้แทนแพทยสภา เห็นว่า มาตรา 41 ระบุว่าการช่วยเหลือเบื้องต้นให้เป็นกรณีความเสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยหน่วยบริการเท่านั้น ทั้งใน มาตรา 42 ยังกำหนดให้ไล่เบี้ยสอบสวนผู้กระทำผิดอีก แม้ว่าที่ผ่านมาบอร์ด สปสช.จะไม่เคยให้มีการไล่เบี้ยก็ตาม ขณะที่ในการพิจารณาของอนุกรรมการระดับจังหวัด ยังมีการตัดสินที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีกรณีการอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเหตุตั้งครรภ์หลังการทำหมัน โดยให้เหตุผลว่า แม้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ให้มีการจ่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือทางศีลธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว เรื่องนี้จึงควรแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากให้มีการช่วยเหลือกรณีตั้งครรภ์หลังจากทำหมันแล้ว เพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ทั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยไม่มีกฎหมายรองรับเป็นเรื่องอันตรายมาก
อีกทั้งยังมีตัวเลขที่ สปสช.ได้รวบรวมสถิติการยื่นคำร้องและการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ตั้งแต่ปี 2549-2560 พบว่า มีการยื่นคำร้องกรณีการทำหมันจำนวน 792 ราย จากคำร้องทั้งหมด 10,445 ราย แยกเป็นการผ่าตัดทำหมันจำนวน738 ราย และเป็นการทำหมันชั่วคราว 54 ราย รวมเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตลอดในช่วง 12 ปี จำนวน 42,879,000 บาท (อ้างอิง:เตรียมเสนอบอร์ด สปสช.ตั้ง คกก.ร่วมหาข้อยุติ จ่ายเงินช่วยตาม ม.41 กรณีทำหมันแล้วท้อง)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดดูข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ.2555 และแนวทางการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือ (ยี่ต๊อก) ในความเสียหายแต่ละประเภท ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เฉพาะความเสียหายกรณีคุมกำเนิดแล้วตั้งครรภ์ มีแนวทางการพิจารณาช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้
ตามหนังสือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช.03/ว 1243 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 และหนังสือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช.03/ว 0185 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 แจ้งแนวทางการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีคุมกำเนิดแล้วตั้งครรภ์ ตามมติคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข โดยถือว่า เป็นความเสียหายกรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เพื่อใช้ประกอบการพิจาณาคำรร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
1.กรณีทำหมันแล้วตั้งครรภ์ ซึ่งยึดความเห็นของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมติการประชุมครั้งที่ 6/2554 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 ที่เห็นชอบให้การตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดทำหมันหญิงเป็นเหตุสุดวิสัย เข้าเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ให้ทำความเข้าใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้รับบริการว่า การตั้งครรภ์ภายหลังทำหมันที่เกิดจากท่อนำไข่ต่อกันเอง เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ใช่ความผิดพลาดจากการให้บริการ
แนวทางการจ่ายเงินเบื้องต้น กรณีทำหมันแล้วตั้งครรภ์ ให้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลืองเบื้องต้น จำนวน 60,000 บาท
หากการตั้งครรภ์ภายหลังการทำหมันมีผลกระทบต่อมารดา เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์เป็นพิศษ หรือมีผลกระทบต่อทารก เช่น ความเสี่ยงผิดปกติจากโรคที่มารดาเป็นขณะตั้งครรภ์ หรือภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด และรวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐานะของครอบครัว ให้เป็นดุลยพินิจพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเพิ่มได้อีกไม่เกิน 40,000 บาท
2.กรณีคุมกำเนิดชั่วคราว (เฉพาะฉีดยาคุม ฝังยาคุม และใส่ห่วง) แล้วตั้งครรภ์ ภายใต้เงื่อนไข ผู้รับบริการต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยบริการและข้อแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัดแล้วเกิดการตั้งครรภ์ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
แนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีคุมกำเนิดชั่วคราวให้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 30,000 บาท
หากการตั้งครรภ์ภายหลังการคุมกำเนิดชั่วคราวนี้มีผลกระทบต่อมารดา ผลกระทบต่อทารก และผลกระทบต่อเศรษฐานะของครอบครัว ให้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 20,000 บาท
3.กรณีสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนคลอด
หากการตั้งครรภ์ภายหลังการทำหมันหรือคุมกำเนิดชั่วคราวครั้งนั้น มีข้อมูลในขณะยื่นคำรอ้งหรือขณะพิจาณาว่า การตั้งครรภ์นั้นสิ้นสุดแล้ว ให้จ่ายเงินช่วยเหลืองเบื้องต้น ตามแนวทางดังนี้
กรณีทำหมันแล้วตั้งครรภ์ ให้พิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 30,000 บาท
กรณีคุมกำเนิดชั่วคราว ให้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 15,000 บาท
และนี่คือ กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง
ผู้หญิงอายุ 37 ปี เข้ารับบริการคลอดบุตร ครรภ์ที่ 3 และทำหมันหลังคลอดที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2558 ตรวจพบว่า ตั้งครรภ์ จึงได้เข้ารับบริการฝากครรภ์ และได้เข้ารับบริการคลอดบุตร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ขณะอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ บุตรที่เกิดจากการตั้งครรภ์หลังทำหมัน มีการคลอดก่อนกำหนด และมีอาการปอดอักเสบ และลำไส้เล็กอุดตัน ได้รับการผ่าตัดและรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน และต้องมีการติดตามรักษาต่อไปอีก
ประกอบการตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 4 สามีมีอาชีพรับจ้างก่อสร้างมีรายได้วันละ 300 บาท และต้องเลี้ยงดูบุตรคนสุดท้องอายุ 4 ขวบ
กรณีนี้ตั้งครรภ์หลังทำหมัน จึงเป็นเหตุสุดวิสัยจากระบบการรักษาพยาบาล จัดเป็นความเสียหายประเภทบาดเจ็บและเจ็บป่วยต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาเทียบกับแนวทางการพิจารณากรณีคุมกำเนิดแล้วตั้งครรภ์ จึงจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 60,000 บาท และเมื่อพิจารณาผลกระทบที่ได้รับจากการตั้งครรภ์แล้ว
กรณีนี้ บุตรที่เกิดจาการตั้งครรภ์หลังทำหมัน มีการคลอดก่อนกำหนด และมีอาการปอดอักเสบและลำไส้เล็กอุดต้น ได้รับการผ่าตัดและรักษาในโรงพยาบาล และต้องมีการติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐานะ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นอีกไม่เกิน 40,000 บาท
กรณีนี้จึงจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 60,000 +ไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งอยู่ในอัตราที่กำหนดตามข้อ 6 (3) ของข้อบังคับฯ
ขอบคุณภาพประกอบจาก:www.amarinbabyandkids.com