เสียงจากผู้ต้องขังในวันเปิดเรือนจำตรังให้ญาติเยี่ยม ‘อยากใช้สิทธิ์เลือกตั้ง’
“ผมเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำหลายเดือนแล้ว ผมคิดว่าเรือนจำในปัจจุบันสามารถที่จะทำให้ผู้ต้องขังเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกระทำความผิดมาเป็นคนดีของสังคมในอนาคตได้ ฉะนั้นรัฐก็ควรจะให้ผู้ต้องขังมีสิทธิ์ทุกอย่างเท่ากับคนไทยโดยทั่วไป”
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 เรือนจำจังหวัดตรัง พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ตรวจเยี่ยมโครงการการเยี่ยมญาติใกล้ชิด ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พบกับญาติอย่างใกล้ชิดและอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปรายงานข่าวได้
พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า สภาพเรือนจำในปัจจุบันมีผู้ต้องขังยาเสพจำนวนมาก ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์มีนโยบายในการลดผู้ต้องขังโดยใช้ข้อมูลการข่าว ผู้ค้ายาเสพติดจากผู้ต้องขังในการสนับสนุนการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งหากสามารถจับกุมรายใหญ่ได้มากก็จะลดปริมาณผู้ค้ารายย่อยได้และในที่สุดก็จะสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังได้
ในวันดังกล่าวมีเสียงสะท้อนจากผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งว่าอยากใช้สิทธิเลือกตั้ง
ผู้ต้องขังชาย ซึ่งต้องโทษคดีอาวุธปืนโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน กล่าวกับผู้สื่อข่าวจาการที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำตามคำพิพากษาของศาลและในขณะนี้ทราบความเคลื่อนไหวภายนอกว่าจะใกล้มีการปลดล็อกทางการเมือง และ จะมีการเลือกตั้ง แต่คงไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้ เนื่องจากยังไม่พ้นโทษ แต่จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำจังหวัดตรังแห่งนี้ด้วยกัน ผู้ต้องขังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะปรับแก้ปรับเปลี่ยนให้ผู้ต้องขังสามารถใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการลงคะแนนเสียงได้ทุกระดับของการเลือกตั้ง เพราะผู้ต้องขังที่เป็นคนไทย ก็ควรจะได้สิทธิ์เท่าคนไทยทุกคน ซึ่งการเลือกตั้งก็น่าจะจัดให้มีการเลือกจั้งในเรือนจำได้ ซึ่งจะเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานเท่าๆกับประชาชนคนไทยโดยทั่วไป
“ผมเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำหลายเดือนแล้วผมคิดว่าเรือนจำในปัจจุบันสามารถที่จะทำให้ผู้ต้องขังเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกระทำความผิดมาเป็นคนดีของสังคมในอนาคตได้ ฉะนั้นรัฐก็ควรจะให้ผู้ต้องขังมีสิทธิ์ทุกอย่างเท่ากับคนไทยโดยทั่วไป และสิทธิ์นั้นน่าจะเป็นสิทธิ์ในการเลือกตั้งด้วยหากเพียงแต่การเลือกตั้งของผู้ต้องขังก็ต้องอยู่ในเรือนจำส่วนรูปแบบการเลือกตั้งอย่างไรผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรจะดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่”
ขณะที่นักโทษหญิงที่ต้องโทษจำคุกคดียาเสพติดรายหนึ่ง กล่าวว่า นักโทษหญิงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นการเลือกตั้งซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิ์ของประชาชนคนไทยทุกคนก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้จำคุกก็มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งและใช้สิทธิ์ทุกครั้ง ฉะนั้น เมื่อใกล้มีการเลือกตั้ง ถึงเป็นนักโทษก็ต้องการเลือกตั้งเหมือนกัน “ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งหนูก็ไปใช้สิทธิ์เลือกทุกครั้งเมื่อเป็นนักโทษก็ยังเป็นคนไทยอยู่ก็ต้องการใช้สิทธิ์เลือกตัวแทนเราเหมือนคนไทยคนอื่นด้วยเช่นกัน”
ด้านนายภักดี แก้วเนียม ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จาการสดับรับฟังผู้ต้องขังในเรือนจำในเวลานี้ คือผู้ต้องขังอยากมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ซึ่งโดยหน้าที่ไม่ขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้
นางชญาทิต จิตหลัง ยุติธรรมจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สังเกตได้ว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตนี้ มีการตื่นตัวกันทุกวงศ์การประเด็นการให้มีการเลือกตั้งของผู้ต้องขังก็เป็นประเด็นในไลน์กลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นด้วยให้ผู้ต้องขังได้มีการเลือกตั้งด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะหาข้อมูลและรายละเอียดความน่าจะเป็นให้ครบทุกประเด็นและจะเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งรายงานให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรมทราบความต้องการและความน่าจะเป็นต่อไป
“กระทรวงยุติธรรมเป็นกระทรวงที่มีนโยบายลดความเลื่อมล้ำของสังคมประเด็นนี้เป็นประเด็นในสังคมไทย ที่น่าคิดในเชิงมนุษยชนเป็นสิทธิ์พื้นที่ฐานที่ประชาชนคนไทยน่าจะมีความเท่าเที่ยวกันโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการที่จะให้ผู้ต้องขังหรือนักโทษมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง”ยุติธรรมจังหวัดปัตตานีกล่าว
ส่วนแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ต้องขัง นายภักดี แก้วเนียม ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้เรือนจำตรังพยายามที่จะให้ชุมชนหรือสังคมมีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยให้ผู้ต้องขังได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้สังคมย่อมรับผู้ต้องขังมากขึ้นขณะนี้นโยบายของรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ได้ให้เรือนจำพัฒนาบริหารจัดการให้เรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนซึ่งจังหวัดตรังเองก็เป็นเมืองท่องเที่ยวฉะนั้นจะใช้ พื้นที่เรือนจำชั่วคราวเหรียงห้อง ต.นาท่ามเหนือ อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งมีพื้นที่จำนวน 275 ไร่ เป็นฐานในการผลิตพืชผลทางการเกษตรโดยใช้ศาสตร์พระราชาและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรทฤษฏีใหม่
“ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ก็มีโครงการกำลังใจในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์พัชรกิตติยาภา ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับผู้ต้องขังอยู่แล้วซึ่งการนำเอาพื้นที่มาพัฒนาเชิงรุกและให้ชุมชนมามีส่วนรวมในการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้ต้องขังไปด้วยนั้นจะเป็นประโยชน์กับชุมชนและสังคมของชาวตรังเป็นอย่างมาก”
ทั้งหมดคือบรรยากาศและเสียงเล็กๆจากผู้ต้องขังในวันรองอธิบดีเปิดให้ญาติมาเยี่ยม