กองทุนเยียวยา แลกกับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเพื่อพัฒนาประเทศ ชุมชนรับได้ไหม?
ทราบไหมว่าประเทศเราใช้พลังงานปีละเท่าไหร่? ชุมชน-สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบใดกับการสนองความต้องการอันไม่สิ้นสุดเหล่านี้? เราควรเดินเครื่องเต็มพิกัด...หยุด…หรือไปต่อพอประมาณ?
ยอดใช้ไฟพุ่ง –โรงไฟฟ้าใหม่จ่อคิวผุด โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคใต้
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานพบว่าไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามรายได้ประชาชาติเฉลี่ยปีละ 4.2% และส่วนใหญ่ใช้ในด้านอุตสาหกรรมกว่า 50 % ภาคครัวเรือน 27 % ส่วนภาคเกษตรกรรมน้อยที่สุดเพียง 0.2 % ทั้งนี้กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเดือนเม.ย.ปี55 อยู่ที่ 26,121 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มจากปีที่แล้วกว่า 15% และมีแนวโน้มว่าจะไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของไทยในอนาคต จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะพยายามหาแหล่งพลังงานเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการ
เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีแผนจะผุดขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 30 แห่งในภาคอีสาน และโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ซึ่งรองรับโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เช่นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
ซึ่ง วิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุดที่ 2 เปิดเผยว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุดที่ 2 ในสงขลา ยังอยู่ในขั้นเริ่มตอกเสาเข็ม จะใช้เวลาสร้างเสร็จต้นปี 57 ซึ่งรองรับการผลิตในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงจะนะชุดที่ 1 ผลิตได้ 700 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าขนอม 800 เมกะวัตต์ ตอนนี้ภาคใต้ยังต้องเสริมการผลิตอีกประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องอาศัยภาคกลางส่งมาช่วย แต่ในอนาคตโรงจะนะชุดที่ 2 จะสามารถรองรับได้พอดี แต่ก็ยังไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ต้องวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตอีก
“กองทุนเยียวยาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า”คำตอบแบบราชการ
พร้อมๆกับแนวโน้มการผุดขึ้นของโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (กกพ.) ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 เพื่อเป็นทุนให้บริการไฟฟ้าลงสู่พื้นที่ต่างๆ และเพื่อพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องนำเงินส่งกองทุนฯ เพื่อการพัฒนาชุมชนทุกเดือน
เอนก นาคะบุตร ประธานสถาบันส่งเสริมความรู้ท้องถิ่น กล่าวว่าการบริหารจัดการกองทุนเดิมไม่ค่อยโปร่งใส ชาวบ้านเข้าไม่ถึงกองทุน แต่หลังจากมีกองทุนใหม่ กกพ. มีการคัดเลือกคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) และ คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) มาจากเวทีประชาชนคัดเลือกโดยเวทีประชาคมหมู่บ้าน
“เป็นกรรมการจากชาวบ้านกว่า 2 ใน 3 น่าจะสามารถสรรงบฯที่เป็นธรรมโปร่งใสให้ในเขตพื้นที่ 5 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้า นำไปพัฒนาชุมชนได้ แต่ก็ต้องรอดูว่าจะเป็นไปอย่างที่คิดไว้คือชาวบ้านสามารถข้าถึงได้จริงหรือไม่” เอนกกล่าว
เสียงขานรับจากชุมชนเจ้าของพื้นที่ เยียวยาเท่าไรก็ไม่คุ้มค่าผลกระทบ
โรงไฟฟ้าแต่ละประเภทมีต้นทุนการผลิต เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอีกทางเลือกหนึ่งน่าลงทุนเพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำเป็นอันดับสองรองจากนิวเคลียร์ คือเพียง 2.94 บาทกิโลวัตต์/ชั่วโมง เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ก๊าซ และชีวมวล ต้นทุนต่างกันกว่า 10 บาท กิโลวัตต์/ชั่วโมง แม้ว่าต้นทุนการผลิตของถ่านหินจะต่ำแต่ก็สร้างผลกระทบด้านฝุ่นละออง สารพิษ และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ได้มากประเภทอื่นถึง 10 เท่า ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ 20 แห่ง
ชาวบ้านราชบุรี อุบลราชธานี ตรัง และอีกหลายๆพื้นที่ออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พวกเขามีข้อกังขาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันได้บทเรียนจากกรณีโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะ ลำปาง และกรณีมาบตาพุด ระยอง ที่ในวันนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือเยียวยาผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อมได้ ยังเป็นคดีในชั้นศาล ล่าสุดชาวบ้าน อ.บางหมาก จ.ตรัง กว่า 1,000 คน ออกมาเคลื่อนไหวปฏิเสธการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ แม้ กฟผ.จะให้เหตุผลว่าเป็นถ่านหินแบบซับบิทูมินัส ที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าถ่านหินลิกไนต์ ในแม่เมาะก็ตาม
แต่ ทศพร กาญจนภมรพัฒน์ นายก อบต.บางหมาก จ.ตรัง เห็นด้วยหากจะมีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตำบล เพราะจำเป็นต้องใช้พลังงาน และเมื่อมีการก่อตั้งก็อยากจะนำเงินกองทุนที่ได้มาพัฒนาสาธารณูปโภค สวัสดิการชุมชน สุขภาวะ อาชีพของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ก็ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและทำประชาพิจารณ์ 3ปีจึงจะก่อสร้าง หากชาวบ้านปฎิเสธ อบต.ก็ต้องยอมรับเสียงประชาชน แต่เชื่อว่าระบบป้องกันของโรงไฟฟ้าจะควบคุมปัญหาหลังจากมีโรงไฟฟ้าได้
“เราอนุรักษ์ทรัพยากร แต่เราก็เข้าใจว่าตำบลต้องพัฒนา เราใช้ถ่านหินแบบซับบิทูมินัส ถือว่ามีผลกระทบน้อยสุด แต่ชาวบ้านได้รับข้อมูลข่าวสารน้อย ที่อีกอย่างมีการนำเข้าถ่านหินจากอินโดนิเซียผ่านท่าเรือตรังอยู่แล้ว และตนก็ไม่กลัวว่าจะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนแม่เมาะ” นายกอบต.กล่าว
ด้านสุมาพร รองเดช อดีตนายก อบต. บางหมาก จ.ตรัง กล่าวว่าชาวบ้านปรับตัวไม่ทัน เพราะการพัฒนาจะทำลายวิถีชีวิตชุมชนและสร้างมลพิษ การประกอบอาชีพประมงอาจหากินลำบาก แม้จะมีกองทุนฯที่นำเงินส่วนหนึ่งมาให้ชุมชน แต่นั่นเหมือนกับการแก้ปัญหาปลายทาง มลภาวะไม่ได้ถูกแก้ไข
“อย่าเห็นแก่งบฯที่ไฟฟ้านำเสนอ จนละเลยชาวบ้าน ทั้งนี้เราพัฒนาและสร้างสาธารณูปโภคได้ด้วยงบท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว ผมไม่ปฏิเสธโรงไฟฟ้า แต่ไม่อยากให้สร้างแบบถ่านหิน” สุมาพร กล่าว
เสียงสะท้อนคนใต้อีกจังหวัดในพื้นที่ที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และกำลังจะสร้างอีกแห่งในบริเวณใกล้กัน เฉลิม ทองพรม นายกฯอบต.คลองเปียะ อ.จะนะ แสดงความคิดเห็นว่าที่ผ่านมาได้เงินกองทุนฯ จากโรงไฟฟ้า ล่าสุดปีงบประมาณ 54 ประมาณ 2.8 ล้าน แต่เงินที่กองทุนให้เมื่อจัดสรรกระจายสู่ตำบลและหมู่บ้าน กลับไม่สามารถฟื้นฟูสภาพแวดล้อมได้เลย
“เป็นแบบเบี้ยหัวแตก เพราะเมื่องบฯลงไปสู่แต่ละหมู่บ้านมีเพียง 60,000 – 100,000 ซึ่งไม่สามารถดูแลจัดสรรให้เกิดประโยชน์ได้ อย่าไปพูดถึงการพัฒนา เพียงแค่ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากผลกระทบโรงไฟฟ้าก็ไม่เพียงพอแล้ว ทั้งน้ำเสียและควันพิษทำให้ชุมชนในพื้นที่ต้องลำบาก” เฉลิมกล่าว
นายกฯ อบต. คลองเปียะ ให้ข้อมูลอีกว่ามีการนำเงินไปใช้ไม่โปร่งใส ไปใช้ซื้อโต๊ะเก้าอี้ใหม่ แต่ไม่นำไปพัฒนาการศึกษา หรือดูแลสุขภาพ ทั้งนี้จึงต้องการให้สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แล้วนำงบลงสู่พื้นที่นั้น และต้องจัดสวัสดิการ เช่น ด้านสุขภาพควรมีแพทย์ออกตรวจร่างกายทุก 6 เดือน
“ก่อผลกระทบ แล้วตามเยียวยา” แค่ฐานคิดคำนวณ ก็บิดเบี้ยว?
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีหลักคำนวนเงินตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าดังนี้ ช่วงผู้ประกอบการรายใหม่ก่อสร้าง-วันที่จำหน่ายไฟฟ้า ชำระในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี หรือไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/ปี และช่วงระหว่างผลิตไฟฟ้าแต่ละเดือน จำแนกได้ดังนี้ ถ่านหิน,พลังหมุนเวียน,พลังน้ำ 2 สตางค์ ส่วนน้ำมันเตา,ดีเซล 1.5 สตางค์ ก๊าซธรรมชาติ,แสงอาทิตย์,ชีวมวล 1 สตางค์ ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ปัจจุบันมีกองทุนฯประเภทต่างๆกว่า 160 ทุน สร้างเม็ดเงินกว่า 3,000ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้เก็บรักษากว่า 700 ล้านบาทเพื่อพัฒนาไฟฟ้า
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่าเงินที่ได้จากกองทุนฯไม่คุ้มค่ากับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนต้องประสบ เพราะกองทุนฯตั้งขึ้นมาบนโจทย์ที่จะปันรายได้บางส่วนให้ประชาชน ดังนั้น เงินจำนวน 1-2 สตางค์เป็นเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มาจากฐานคิดเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ของประชาชน เป็นการปันส่วนที่เป็นรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนมากกว่า
ทั้งนี้ต้นเหตุแห่งปัญหามลพิษมาจากผู้ประกอบการไม่สั่งซื้อเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ไม่มีการควบคุมสารพิษหลังการผลิต และหน่วยงานรัฐบาลหย่อนยานด้านกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม
……………………
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนจากตัวอย่างในภาคใต้ เพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในประเทศ… ชาวบ้านจะต้องปรับตัวหรือต่อต้าน คำว่า “พัฒนาเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน” ที่รัฐบาลหยิบยื่นให้