องค์กรสตรี-เยาวชน หอบตำราร้อง ศธ. พบเนื้อหาบางส่วนลดทอนความเสมอภาคทางเพศ
องค์กรสตรี-เด็กเยาวชนหอบตำราเรียนร้อง ศธ.หลังพบเนื้อหาบางส่วนลดทอนความเสมอภาคระหว่างเพศ ชูความคิดชายเป็นใหญ่ เรียกร้องให้ทบทวน มุ่งสร้างความเท่าเทียมทางเพศ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น เพื่อลดปัญหาความรุนแรง หยุดการล่วงละเมิดทางเพศ การกดขี่ทางเพศสภาพ การล้อเลียน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2561 เวลา09.30น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย นายอิมรอน เชษฐวัฒน์ แกนนำเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา เครือข่ายเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่เคยถูกกระทำด้วยความรุนแรง กว่า30คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านทาง นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสะท้อนเนื้อหาบางส่วนในตำราเรียนที่ลดทอนความเสมอภาคระหว่างเพศ พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มหลักสูตรความเสมอภาคระหว่างเพศ บรรจุในตำราการเรียนการศึกษา เช่น มีการเพิ่มกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน
นางสาวอังคณา กล่าวว่า จากปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอนที่พบว่า มีเนื้อหาบางส่วนที่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ การให้เกียรติเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ซ่อนความคิดแบบชายเป็นใหญ่ มีส่วนในการบ่มเพาะความคิดความเชื่อที่ผิดๆ เช่น บทบาทผู้หญิงต้องดูแลบ้านช่อง ทำงานบ้าน ดูแลลูก และครอบครัว ผู้ชายมีความแข็งแกร่งเป็นผู้นำมากกว่า ผู้ชายเปรียบเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นต้น ซึ่งมีส่วนทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทยทวีความรุนแรง สะท้อนจากข่าวความรุนแรงทางเพศ ซึ่งอันดับหนึ่งเป็นข่าวข่มขืน รองลงมาเป็นข่าวอนาจาร และข่าวพยายามอนาจาร ซึ่งผู้กระทำเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือเป็นบุคคลในครอบครัว ส่วนอายุของผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20ปี และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า และจากปัจจัยกระตุ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
นางสาวอังคณา กล่าวว่า เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ประจำปี 2561 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ผลักดันมาตรการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจ ป้องกันและแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และในฐานะที่ ศธ. เป็นผู้กำกับดูแลหลักสูตรการเรียนการสอน เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังแนวความคิดและทัศนคติให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เช่น การข่มขืน การกระทำทารุณกรรมทางเพศ การกดขี่ทางเพศสภาพ การล้อเลียน การทำร้ายร่างกาย เป็นต้น จึงมีข้อเสนอต่อ ศธ.เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1.ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหลักสูตรเจนเดอร์(Gender) หรือความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender Equality)ไปปรับใช้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เป็นต้น 2. ให้ความสำคัญในการออกแบบหลักสูตรที่ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และควรพัฒนา ปรับ หรือแก้ไขและยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีการกดทับ ตอกย้ำความคิด ความเชื่อในการมองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศอื่นๆ เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำ เข้มแข็ง ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก เป็นต้น 3. พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพครูที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น และบุคลากรต้องมีแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก 3 ช่วง คือ เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยรุ่น และวัยรุ่น 4. ผลักดันให้แต่ละสถานศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรง ต่อผู้หญิง และเด็ก ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เน้นย้ำและสร้างเจตจำนงร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายอิมรอน เชษฐวัฒน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาต้องทบทวนการเรียนการสอน พื้นฐานสำคัญคือให้เด็กเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และผลักดันให้มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศให้มากขึ้น วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลก็ควรผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมในทุกๆปี เพื่อตอกย้ำ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนครูผู้ปกครองต้องเน้นสอนลูกหลานให้เท่าทันมิติต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญอย่าครอบงำความคิดของเด็ก ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็ก ครูต้องทำหน้าที่และอำนวยความสะดวก ควรเป็นวิทยากรและสร้างกระบวนการ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่วิชาลอยอยู่กลางอากาศ เด็กอยากรู้อยากเห็น คลื่นของข้อมูลมีจำนวนมาก ดังนั้นอย่าไปจำกัดความคิดของเด็ก เพราะเด็กไม่ใช่เสื้อผ้าโหล แต่เด็กทุกคนเป็นเสื้อสั่งตัด อย่าไปยัดเยียด แต่ต้องกระตุ้นให้เด็กคิดอย่างหลากหลาย