ชงเองเบิกเอง-ไม่สนโดนท้วง! ละเอียดคำพิพากษาคุก 70 ปี ผอ.ร.ร.โกงค่าอาหารกลางวันเด็ก
“…จำเลยในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่อนุมัติเบิกจ่ายเงินและควบคุมกำกับให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์และถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ จากนั้นจำเลยทำสัญญายืมเงินไปจำนวน 24 สัญญา โดยไม่เสนอโครงการและวัตถุประสงค์ และเป็นการอนุมัติให้ตนเองยืมไปใช้เกินความจำเป็น และไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในทางราชการ เพราะว่าโครงการอาหารกลางวันมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จำเลยต้องยืมเงินประเภทโครงการอาหารกลางวัน และอนุมัติให้ตนเองยืมเงินในโครงการดังกล่าวอีก และไม่ปรากฏว่า นำเงินไปใช้ในโครงการอาหารกลางวัน…”
จำเลยใช้โอกาสที่ตนมีหน้าที่ดังกล่าวทำบันทึกขอยืมเงินประเภทเงินอุดหนุนอื่น และประเภทเงินโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านมะรือโบตกโดยไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ของการยืมเงินว่าจะนำไปใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมใดของโรงเรียน ขัดต่อระเบียบทางราชการ จำเลยใช้อำนาจโดยมิชอบอนุมัติให้ตนเองยืมเงินดังกล่าว เมื่อจำเลยได้รับเงินที่ยืมไปแล้วได้เบียดบังเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตน ไม่ได้นำเงินไปใช้จ่ายในโครงการหรือแผนงานใดของโรงเรียน ทั้งยังไม่ส่งใช้เงินยืมรายเก่าตามกำหนดเวลา พิพากษาจำคุก 70 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 35 ปี
จำเลยขอให้รอการลงโทษโดยอ้างว่าได้นำเงินที่ยืมไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนบ้านมะรือโบตกหลายกิจกรรมและบางส่วนนำไปใช้ปรับปรุงห้องพักครูเป็นประโยชน์แก่ราชการ รวมทั้งจำเลยได้จ่ายเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแล้วนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานการใช้เงินยืมว่าจำเลยนำไปใช้ในกิจกรรมใดของโรงเรียนตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งหากจำเลยนำไปใช้ในกิจกรรมดังกล่าวจริง จำเลยย่อมสามารถแสดงหลักฐานการใช้เงินยืมดังกล่าวได้โดยไม่ยาก การกระทำของจำเลยกระทบต่อระเบียบแบบแผนการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอันเป็นการกระทำที่ร้ายแรง แม้จำเลยจะชดใช้คืนเงินยืมพร้อมดอกเบี้ยแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นภายหลังจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและเป็นเรื่องทางแพ่งเท่านั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 พิพากษาลงโทษนายเฉลิม พละสิทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ในคดีทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก (อ่านประกอบ : คุก 70 ปี! อดีต ผอ.ร.ร.มะรือโบตก จ.นราธิวาส ทุจริตค่าอาหารกลางวันเด็ก)
เพื่อให้ทราบที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายละเอียดตามคำพิพากษาฉบับเต็มคดีดังกล่าว ดังนี้
@ชงเอง-อนุมัติเอง ยืมเงิน 24 สัญญา 8.4 แสน โดนท้วงแต่ไม่สน
ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนบ้านมะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อประมาณต้นปี 2552 ผอ.ตรวจสอบภายใน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 3 ได้รับมอบหมายจาก ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 ให้ตรวจเงินคงเหลือประจำวันของโรงเรียนบ้านมะรือโบตก ตารายงานเงินคงเหลือประจำเดือนวันที่ 31 มี.ค. 2552 และวันที่ 30 เม.ย. 2552 พบว่า มีการใช้จ่ายเงินผิดปกติ
จำเลยทำบันทึกขอยืมเงิน 24 สัญญา เป็นเงินประเภทอุดหนุน 12 สัญญา ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. 2550-18 ก.พ. 2552 และประเภทโครงการอาหารกลางวัน 12 สัญญา ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2550-28 เม.ย. 2551 รวมทั้งหมด 840,261 บาท ในการยืมเงินดังกล่าวต้องมีแผนงานประจำปีรองรับ โดยให้บุคลากรที่รับผิดชอบเป็นผู้เสนอโครงการผ่านคณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียนเพื่ออนุมัติ เมื่อคณะกรรมการอนุมัติแล้วเสนอผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติเพื่อพิจารณาอนุมัติ และดำเนินการใช้เงินตามโครงการต่อไป
แต่จำเลยกลับยืมเงินทั้ง 2 ประเภทเองทั้งหมด แต่ไม่มีเอกสารประกอบการยืม เช่น รายละเอียดของโรงการต้นเรื่อง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียนทักท้วงแล้วว่า ไม่สามารถยืมเงินดังกล่าวได้ แต่จำเลยยังอนุมัติให้ตนเองยืมเงิน และอนุมัติให้ตนเองทำสัญญายืมเงินและรับเงินยืมไป หลังจากที่จำเลยยืมเงินไปตามสัญญาฉบับแรกแล้ว การยืมครั้งต่อไปจำเลยเป็นผู้ทำบันทึกขอยืมและอนุมัติเอง โดยยังไม่ได้ใช้หนี้เงินตามสัญญาฉบับก่อน ทั้งที่เจ้าหน้าที่การเงินได้ทักท้วงว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดระเบียบการเบิกเงินจากคลัง พ.ศ.2520 และระเบียบการเบิกเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2551
@ตรวจสอบเจอแต่เพิกเฉย คืนตอนโดนตั้ง กก.สอบวินัยแล้ว
เมื่อตรวจพบ ผอ.ตรวจสอบภายใน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 3 ดำเนินการให้จำเลยส่งใช้เงินคืนเพื่อล้างหนี้ตามระเบียบ แต่จำเลยเพิกเฉย จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยแก่จำเลย จำเลยจึงนำเงินทั้งหมดที่ยืมไปมาส่งใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย
เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.โรงเรียน ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่รับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาของรัฐ จำเลยจึงต้องบริหารจัดการโรงเรียนด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ รวมทั้งด้านงบประมาณ
การที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งทีมบริหารโรงเรียน มอบหมายให้ครูและบุคลากรของโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนจึงควรให้ผู้รับผิดชอบตามคำสั่งโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเสนอโครงการที่สอดคล้องกับแผนประจำปี แล้วเสนอเรื่องให้คณะกรรมการโรงเรียนพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วผู้รับผิดชอบโครงการทำบันทึกขอยืมเงินเสนอเรื่องให้จำเลยในฐานะหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุมัติและทำสัญญายืมเงินไปใช้ตามโครงการ และผู้ยืมจะต้องส่งหลักฐานการจ่ายและเงินทีเหลือจ่ายที่ยืมไป (ถ้ามี)
การที่จำเลยทำบันทึกขอยืมเงินประเภทอุดหนุนอื่น และประเภทโครงการอาหารกลางวัน ทั้ง ๆ ที่มีครู และบุคลากรรับผิดชอบตามโครงการดังกล่าวอยู่แล้ว นอกจากนี้จำเลยไม่ได้เสนอโครงการและวัตถุประสงค์ของการยืมเงินว่าจะนำไปใช้ในกิจกรรมใดของโรงเรียนให้คณะกรรมการโรงเรียนพิจารณาอนุมัติก่อน แต่จำเลยกลับอาศัยอำนาจในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนงานราชการอนุมัติให้ตนเองยืมเงิน ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่การเงินทักท้วงว่า ไม่สามารถยืมเงินดังกล่าวได้ เพราะไม่ระบุวัตถุประสงค์ของการยืมและควรให้ผู้รับผิดชอบโครงการตามแผนเป็นผู้ขอยืมเงินไปใช้จ่าย
@ยืมเงินไปใช้เกินความจำเป็นเข้าตัวเอง ไม่ใช่ประโยชน์ทางราชการ
จำเลยในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่อนุมัติเบิกจ่ายเงินและควบคุมกำกับให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์และถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ จากนั้นจำเลยทำสัญญายืมเงินไปจำนวน 24 สัญญา โดยไม่เสนอโครงการและวัตถุประสงค์ และเป็นการอนุมัติให้ตนเองยืมไปใช้เกินความจำเป็น และไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในทางราชการ เพราะว่าโครงการอาหารกลางวันมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จำเลยต้องยืมเงินประเภทโครงการอาหารกลางวัน และอนุมัติให้ตนเองยืมเงินในโครงการดังกล่าวอีก และไม่ปรากฏว่า นำเงินไปใช้ในโครงการอาหารกลางวัน หลังจากนั้นได้ยืมเงินโดยไม่เสนอโครงการและวัตถุประสงค์ของการยืมอีกหลายครั้ง และไม่คืนเงินยืมรายเก่าให้เสร็จสิ้นไปก่อน
การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุม กำกับ การใช้จ่ายงบประมาณโรงเรียนบ้านมะรือโบตก ที่จำเลยเป็นหัวหน้าส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียน
จำเลยจึงมีควาผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หลังจากจำเลยรับเงินยืมไปแล้วได้เบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนเองในขณะที่จำเลยมีหน้าที่จัดการ และรักษาเงินงบประมาณของโรงเรียนบ้านมะรือโบตก จึงเข้าลักษณะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์และเบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นของตนโดยทุจริตอีกฐานหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งการกระทำของจำเลยในแต่ละวันดังกล่าวข้างต้น มีเจตนาเพื่อเบียดบังเอาเงินไปเท่านั้น และเป็นการกระทำต่างกรรมการต่างวาระกัน 14 กระทง เมื่อการกระทำของจำเลยมีความผิดตามมมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
@คุกกระทงละ 5 ปี รวม 70 ปี-สารภาพลดโทษเหลือ 35 ปี ไม่รอลงอาญา
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 14 กระทง เป็นจำคุก 70 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 35 ปี
ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษโดยอ้างว่า ได้นำเงินที่ยืมไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนบ้านมะรือโบตกหลายกิจกรรม และนำเงินบางส่วนนำไปใช้ปรับปรุงห้องพักครูเป็นประโยชน์แก่ทางราชการ รวมทั้งจำเลยได้จ่ายเงินยืมคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแล้วนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานการใช้เงินยืมว่า จำเลยนำไปใช้ในกิจกรรมใดของโรงเรียนตามที่กล่าวอ้าง
หากจำเลยนำไปใช้ในกิจกรรมดังกล่าวจริง จำเลยย่อมสามารถแสดงหลักฐานการใช้เงินยืมดังกล่าวได้โดยไม่ยาก การกระทำของจำเลยกระทบต่อระเบียบแบบแผนการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอันเป็นการกระทำที่ร้ายแรง แม้จำเลยจะชดใช้คืนเงินยืมพร้อมดอกเบี้ยแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นภายหลังจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย และเป็นเป็นเรื่องทางแพ่งเท่านั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/