อนาคต-ความท้าทาย Social Enterprise ในประเทศไทย
" Social Enterprise ไทย มีแต่ปลาตัวเล็ก ปลาไซต์กลาง อยู่ในบ่อน้ำที่ใหญ่มาก เต็มไปด้วยฉลามไล่กินปลาตัวเล็ก"ม.ล.ดิศปนัดดา ดิสกุล เปรียบเทียบให้เห็นภาพ Social Enterprise ที่เป็นเหมือนพืชล้มลุก ไม่โตเป็นต้นไม้สักที
- วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise:SE ) คืออะไร มีแล้วดีอย่างไร
- ระบบนิเวศของ (Ecosystem) ของ SE แบบไหนที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
- (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ....ที่กำลังจะออกมีส่วนในการพัฒนา หรือทำให้อนาคตของ SE ประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างไร
คำถามในเวทีเสวนา Thailand Social Enterprise: The Way Forward จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (Thailand Institute of Justice) และเครือข่าย RoLD in Action จัดขึ้น ณ โรงแรม Aetas ซอยร่วมฤดี เมื่อเร็วๆ นี้ มีึคำตอบ
สำหรับความหมายของ "วิสาหกิจเพื่อสังคม" นั้น ในร่างกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มาตรา 3 ได้ให้ความหมาย คำว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม ว่า บริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ
"กลุ่มกิจการเพื่อสังคม" หมายความว่า บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล ชุมชน หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ
วิสาหกิจเพื่อสังคม "สฤณี อาชวานันทกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด มองว่า ไม่ว่านิยามจะแตกต่างกันอย่างไร อยากให้ดูที่แก่นสาร หรือจุดร่วมดูตั้งแต่การก่อตั้งหรือเจตนา พันธกิจที่พยายามจะแก้ปัญหาสังคมอะไรบางอย่าง ทั้งปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ปัญหาในชุมชน
ฉะนั้น การบอกว่า ใครเป็นหรือไม่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จึงคิดว่า ไม่เกี่ยวกับความเป็นนิติบุคคล
"การเงินชุมชน มีสหกรณ์ออมทรัพย์ กลุ่มการเงินของชุมชนจำนวนมาก นี่ก็คือ วิสาหกิจเพื่อสังคม ดังนั้น ไม่อยากให้ยึดติด รูปแบบนิติบุคคลต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ รูปแบบนิติบุคคลก็ดี การจ่ายปันผลก็ดี ควรเป็นการตัดสินใจของผู้ประกอบการเอง ขึ้นอยู่กับข้อพิจารณาในเชิงปฏิบัติจริงต่างๆ เช่น ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุน อาจเป็นรูปมูลนิธิก่อน เพื่อได้ลดหย่อนภาษี เป็นต้น "
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เน้นย้ำ Social Enterprise ต้องมองที่วิสัยทัศน์ (Vision) เจตนาก่อตั้งขึ้นมาทำอะไร และดูที่ผลลัพธ์ทางสังคม ในเมื่อมีพันธกิจเพื่อสังคม การรายงานตัวเลขทางการเงินแบบทั่วๆไปอาจไม่เพียงพอ คำว่า ผลลัพธ์ทางสังคม จึงเป็นหัวใจของการทำกิจการเพื่อสังคม ซึ่งความแตกต่างของกิจการเพื่อสังคมกับองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานเพื่อสังคม แตกต่างจาก Start up คือ กิจการเพื่อสังคมพยายามทำงานเพื่อบรรลุพันธกิจเพื่อสังคมด้วย
"แปลว่า ในเชิงนโยบายนั้นรัฐต้องเข้าส่งเสริมความหลากหลายของกิจการให้มากที่สุด สร้างแรงจูงใจให้คนอยากเข้ามาลองผิดลองถูก ส่งเสริมให้เกิดการติดตามผลลัพธ์ทางสังคมให้ชัดเจน"
ด้านผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม อาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความท้าทายของ Social Enterprise ในประเทศไทย ที่เคยคิดว่าขาดเงินทุน แต่จากการเก็บข้อมูล พบว่า Social Enterprise ขาดคน ไม่ได้ต้องการเฉพาะคนมีความสามารถ แต่ต้องมี Passion ด้วย
"คนส่วนใหญ่เมื่อตั้ง SE มาระยะหนึ่ง ก็ต้องเลือกระหว่างเงินกับผลลัพธ์ทางสังคม ขณะที่ SE ที่ตั้งมานานแล้ว ก็เจอปัญหาใครจะมาทำต่อ ลูกหลานไม่มี Passion ขาดคน"ผศ.ดร.พิชญ์วดี ระบุ พร้อมกับชี้ว่า คนรุ่นใหญ่ไม่ได้อยากทำกิจการเพื่อสังคม อยากเป็น Start Up รวยเร็ว และ Ecosystem ระบบการศึกษาไทยก็เอื้อให้เด็กเดินไปทางนี้ด้วย
ส่วน (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.... นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม บอกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่คิดว่าต้องมีกฎหมาย มีแค่ระเบียบสำนักนายกฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อให้คนทำความดีแล้ว จากนั้นก็มาคิดว่า ทำอย่างไรให้คนทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านไปหลายปี ภายใต้ความเบลอๆ ภายใต้ที่เหมือนจะดี ก็มีความยากอยู่เยอะ เช่น หากเป็นมูลนิธิหารายได้ ต้องเสียภาษีจากรายได้ ทำบัญชีหลบเลี่ยง
"ผมเจอคำถาม ใครเป็น SE ก็จะพยายามเลี่ยงตอบ ไม่ต้องชัดเจนขนาดนั้น หลายคนเข้าใจ SE ต้องไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ หรือผู้บริโภคอยากช่วย SE เราจะรู้ได้อย่างไร สมัยก่อนไม่รู้ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ยังคุ้นกับ CSR CSV มากกว่า SE " นายณัฐพงษ์ อธิบายถึงที่มาของความคิด หรือประเทศไทยควรมีกฎหมายเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ
อดีตผอ.สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ยังให้มุมมองถึง Social Enterprise ไม่ได้เป็นยาวิเศษ ไม่ได้วิเศษขนาดว่า ใครใช้เครื่องมือนี้แล้วจะกลายเป็นคนดีกว่าคนอื่น ซึ่งในสาระของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการบอกเพียงว่า ใครอยากทำดีในรูปแบบนี้ กฎหมายนี้ช่วยให้เกิดง่ายและอยู่รอด ทำอย่างไรภาคประชาชน เอกชน ร่วมทำงานพัฒนาได้ง่ายขึ้น และทำอย่างไรให้ระบบบริการภาครัฐ บริการสาธารณะ Social Enterprise ตอบโจทย์นี้ได้
"ใครศึกษากฎหมายฉบับนี้ สำนักงานกับกองทุนที่ตั้ง ไม่ใช่เงินรัฐสักบาท เงินทั้งหมดมาจากผลกำไร ถือเป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างใหม่ เป้าหมายของกฎหมาย คือผู้ประกอบการทางสังคม และหวังภาคเอกชนขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม โดยแปลงเงิน CSR ครั้งคราว มาทำงานเพื่อสังคมระยะยาว "
ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ มองบวก และไม่คิดว่า กฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จะกลายเป็นช่องทางให้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ เห็นเป็นช่องทางหนึ่งในการลดภาษี เพราะเงิน CSR ปีละหมื่นล้านบาท หากเขาใช้เครื่องมือใหม่ทำงาน อย่างสร้างสรรค์ เป็นหุ้นส่วนกัน โตไปด้วยกันได้
"ผมหวังภาครัฐ กพร.จะมีรูปแบบองค์กรแบบใหม่ ไม่ใช่มีแต่รัฐวิสาหกิจอย่างเดียว ทำขาดทุนไม่มีใครเดือดร้อน ทำอย่างไรให้เกิด Social Enterprise ทำบริการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล รถเมล์ เกิดได้ทั้งสิ้น ฉะนั้น ผมหวังรัฐเองใช้เครื่องมือนี้ในการเปลี่ยนตัวเอง"
SE ไทยแผนธุรกิจไม่เหลาให้แหลม
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ มองพัฒนาการ Social Enterprise ในไทยยังมีความท้ายทาย ที่สำคัญขาดทักษะการทำธุรกิจ การบริหาร ไม่มีการเหลาแผนธุรกิจให้แหลม
" Social Enterprise ไทย จึงมีแต่ปลาตัวเล็ก ปลาไซต์กลาง อยู่ในบ่อน้ำที่ใหญ่มาก เต็มไปด้วยฉลามไล่กินปลาตัวเล็ก"ม.ล.ดิศปนัดดา เปรียบเทียบให้เห็นภาพ Social Enterprise ที่เป็นเหมือนพืชล้มลุก ไม่โตเป็นต้นไม้สักที
ม.ล.ดิศปนัดดา ยังมองถึง (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ....ทำให้หลายคนตื่นตัว Social Enterprise คืออะไร และหาความหมาย เชื่อว่า 5 ปีข้างหน้า ก็ยังมั่ว ขมุกขมัวของผู้บริโภค ลองซื้อ Social Enterprise หรือไม่ เหมือนการลองไวน์ไหนดีไม่ดี ต้องทดลองดื่ม
"ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมฯ โครงสร้างบ้านดี แต่ปลั๊กไฟอยู่ตรงไหน เฟอร์นิเจอร์วางตรงไหนต้องไปฟังคนเข้ามาใช้ การมาของตัวกฎหมายนี้ ถือเป็นบ้าน มีเกณฑ์การเข้าบ้านชัดเจน ซึ่งต้องทดลองกันไปว่า คนเข้ามาบ้านใช่หรือไม่ เป็นหน้าที่คณะกรรมการคอยปรับเกณฑ์"
ม.ล.ดิศปนัดดา เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจ คนเริ่มตั้งคำถาม ถามที่มาผลิตภัณฑ์สร้างผลกระทบหรือไม่ จึงถือเป็นช่วงสร้างความเข้าใจ ส่วนบทบาทภาคเอกชน ช่วย Social Enterprise ให้เติบโตได้ด้วยการให้ความรู้ ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ กฎหมาย การจดทะเบียน ช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น
" ผู้บริโภคต้องเริ่มตั้งคำถามผลิตภัณฑ์มีที่ไปที่มาอย่างไร ภาคเอกชนต้องตั้งคำถาม เราควรทำอย่างไรถึงจะพัฒนา Social Enterprise เติบโตมากขึ้นกว่านี้ อยากให้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ มอง Social Enterprise เป็นคน เป็นลูก ส่งเสริมให้เขาหาอาหารให้เป็น ทำธุรกิจให้ได้ เป็นคนดี ตัดสินใจอยากครอบคลุม เป็นการลงทุนให้เป็นบริษัทที่สมบูรณ์ โดยใช้กลกลทางการตลาดให้ Social Enterprise เติบโต ซึ่งการเติมตรงนี้ เราจะเห็นภาพ Social Enterprise แบบที่อังกฤษ"
สุดท้าย ความเห็นในเวทีต่างแสดงความเป็นห่วงตรงกัน เรื่องของการแปลงสารโครงการ CSR เป็น Social Enterprise ซึ่งจะยิ่งทำให้สังคมสับสนกันไปใหญ่ โดยติงบริษัทเอกชนอยากตั้ง Social Enterprise ขึ้นมาแข่ง แทนที่จะช่วยและจับมือทำงานกันแบบหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมกัน