ภาคปชช. บุก สธ. อัดแพทยสภา ปล่อย บ.เบียร์ยักษ์ใหญ่ ออกบูทโชว์โลโก้ช้างในงานหมอชวนวิ่ง
ภาคประชาชน บุก สธ. อัดแพทยสภา ปล่อยบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ ออกบูท โชว์โลโก้ช้าง ในงานหมอชวนวิ่ง ทั้งที่คำพิพากษาศาล ระบุว่า โลโก้เครื่องดื่มตราช้าง มีความผิดตามกฎหมาย จี้สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชง สธ. วางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 เวลา13.00 น.ที่อาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ผ่านทาง แพทย์หญิงกฤษณา สนองคุณ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่แพทยสภา ปล่อยให้มีตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มตราช้าง ปรากฏในกิจกรรม “หมอชวนวิ่ง” ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เนื่องจากรูปแบบของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ใกล้เคียงกับตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ โลโก้เบียร์ช้างอย่างมาก และล่าสุดศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่า การโฆษณาตราสัญลักษณ์ “เครื่องดื่มตราช้าง” มีความผิดมาตรา 32ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
นายคำรณ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯได้รับการร้องเรียนว่า ในกิจกรรมหมอชวนวิ่ง ที่ดำเนินงานโดยแพทยสภา นัดสุดท้าย จัดขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุข มีการออกบูทของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มหาชน พบว่าภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ได้มีตราสัญลักษณ์ “เครื่องดื่มตราช้าง” ซึ่งเข้าข่ายการโฆษณาตราสัญลักษณ์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากโลโก้ดังกล่าวมีรูปแบบใกล้เคียงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อ “ช้าง” อย่างมาก ซึ่งเป็นอุบายฉ้อฉลของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หวังผลในการโฆษณา ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจความคิดประชาชนของสวนดุสิตโพลล์ ทั้งสองครั้ง ในปี 57 และ 58 ที่ระบุว่าเมื่อเห็นตราสัญลักษณ์ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่า ร้อยละ90 เห็นว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องนี้ ศาลได้พิพากษาแล้วว่า การโฆษณา ตราสัญลักษณ์ “เครื่องดื่มตราช้าง” มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551มาตรา 32 มีบรรทัดฐานชัดเจนอยู่แล้ว
“กิจกรรมดีๆ ที่มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ดารานักแสดง และประชาชน มาวิ่งออกกำลังกายเป็นจำนวนมากแบบนี้ หากมีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง จะขัดแย้งกับเป้าหมายในการจัดงานวิ่งเพื่อสุขภาพ ถูกทำให้เสียคุณค่าของเจตนารมณ์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ จึงไม่เหมาะสมที่สถาบันวิชาชีพอย่างแพทยสภา จะมีความใกล้ชิดสนิทสนมและทำงานร่วมกับธุรกิจที่ทำลายสุขภาพ ยิ่งการเชิญมาออกบูทแบบนี้ เท่ากับเป็นการไม่ไว้หน้าบทบาทกระทรวงสาธารณสุขในการบังคับใช้กฎหมาย สร้างความอับอายให้กับแวดวงสาธารณสุข สร้างความสับสนต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของกระทรวง
จากกรณีที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้องต่อสธ.และขอเรียกร้องผ่านไปยังกรรมการ แพทยสภา ดังนี้
1. ให้ดำเนินการตั้งการสอบสวน กิจกรรมงาน “หมอชวนวิ่ง” นัดสุดท้ายที่กระทรวงสาธารณะสุขแล้วปรากฏมีบูทบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีตราสัญลักษณ์“เครื่องดื่มตราช้าง” ซึ่งมีคำพิพากษาแล้วว่าผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสม
2. กำชับแพทยสภา ในฐานะสภาวิชาชีพแพทย์ ตลอดจนทุกหน่วยงานในสังกัด สธ.ให้ระมัดระวังการดำเนินกิจกรรมร่วมกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสินค้าทำลายสุขภาพอื่นๆ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะหน่วยงานดูแลสุขภาพ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ไม่ตกเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดของธุรกิจน้ำเมา
3. รมว.สธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ขอให้เร่งออกอนุบัญญัติ ห้ามหน่วยงานด้านสาธารณสุขรับการสนับสนุนจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เช่นเดียวกับกรณีการควบคุมยาสูบ) รวมถึงเร่งออกอนุบัญญัติเพื่อควบคุมและบังคับใช้กฎหมายกับตราสัญลักษณ์ เสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กลุ่มธุรกิจนี้สร้างขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย และนำมาโฆษณาสื่อสารการตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
4. ขอสนับสนุนกิจกรรม “หมอชวนวิ่ง” ด้วยถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดี และควรทำต่อไปให้กว้างขวาง แต่ผู้จัดควรมีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจหรือสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับภารกิจสร้างเสริมสุขภาพ และขอเรียกร้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยุติทุกความพยายามที่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย ควรแสดงความรับผิดชอบสังคมด้วยการเคารพกฎหมาย
ขณะที่ นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังว่า จะรับเรื่องนี้ไว้เพื่อนำเรียนรัฐมนตรี และตรวจสอบตามข้อกฎหมาย ซึ่งจะนำเข้าหารือในที่ประชุมอนุกรรมการ โดยจะเชิญฝ่ายแพทยสภาเข้าให้ข้อมูล ในส่วนข้อเรียกร้องเรื่องอนุบัญญัติเพื่อมากำกับให้ชัดเจน ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของ รัฐมนตรีด้วย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าต้องว่าไปตามเนื้อผ้า ไม่มีการช่วยเหลือหรือปกป้องใคร หากตรวจสอบพบว่าทำผิด