หลังม่าน โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) รบ.บิ๊กตู่ ระวังยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่ได้?
"... โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (คะแนน O-NET) ให้สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศจากการตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก)จำนวน 55 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่มีผลคะแนน O-NET ในปีการศึกษา2560 ต่ำกว่าระดับประเทศเมื่อจำแนกตามแต่ละกลุ่มสาระวิชา ได้แก่ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ จำนวน 38 45 41 และ 49 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 69.09 81.82 74.55 และ 89.09 ของจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ ตามลำดับ..."
โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) เป็นโครงการตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนดีใกล้บ้าน จากโรงเรียนในสังกัดที่มีศักยภาพและสามารถดึงดูดโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้มารวมได้ ตามแผนนโยบายปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรและบุคลากร ครูไม่ครบชั้นเรียน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็ก
ถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาในการดำเนินงานตามนโยบายหลายประการ อาทิ การดำเนินการงานตามนโยบายต่ำกว่าเป้าหมาย, การคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมตามนโยบายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด รวมไปถึงการไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบาย โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า การดำเนินงานตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ต่ำกว่าเป้าหมาย
โดย สตง.สุ่มตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) จำนวน 55 แห่ง และโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 88 แห่ง ใน 13 จังหวัด พบว่า มีโรงเรียนเครือข่ายที่ต้องดำเนินการควบรวมหรือยุบเลิกตามนโยบาย จำนวน 77 แห่ง โดยมาเรียนรวมกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) จำนวน 51 แห่ง ซึ่งมีโรงเรียนเครือข่ายที่ไม่สามารถควบรวมหรือยุบเลิกได้ตามเป้าหมาย จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 36.36 ของโรงเรียนเครือข่ายที่ตรวจสอบ และปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มที่จะควบรวมหรือยุบเลิกมาเรียนรวมกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ประกอบกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ยังไม่มีการจัดทำแผนหรือกำหนดแนวทางเพื่อให้เกิดการควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนเครือข่ายในอนาคตและมีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่ไม่สามารถดำเนินการดึงดูดโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 21แห่ง คิดเป็นร้อยละ 41.18 ในจำนวนนี้มีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่ไม่สามารถดำเนินการดึงดูดโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวมได้ตามเป้าหมายทั้งหมด จำนวน 10แห่ง คิดเป็นร้อยละ 47.62ของ โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของนโยบายจำนวน 64.35ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐยังไม่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ จำนวน 782,500 บาท
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้นโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก)ยังไม่สามารถควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กได้ตามเป้าหมายที่กำหนดเกิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
นอกจากนี้การดำเนินงานยังมีปัญหาการคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมตามนโยบายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดย สตง. ตรวจสอบการควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนเครือข่าย ตามเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 88แห่ง พบว่า โรงเรียนเครือข่ายเป้าหมายที่กำหนดเป็นโรงเรียนที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีการดำเนินการตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก)จำนวน 11แห่ง คิดเป็นร้อยละ 12.50 ของโรงเรียนเครือข่ายเป้าหมายที่สุ่มตรวจสอบ และมีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) จำนวน 4แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.27ของโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 55แห่ง ที่กำหนดโรงเรียน เครือข่ายเป้าหมายเป็นโรงเรียนที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีนโยบายทั้งหมด
ทั้งนี้ โรงเรียนดีใกล้บ้าน(แม่เหล็ก) ทั้ง 4 แห่ง ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 23.65ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินการตามนโยบายเช่นเดียวกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) อื่น ๆ ที่สามารถดึงดูดโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้มาเรียนรวมได้ การที่โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) มีการกำหนดเป้าหมายเป็นโรงเรียนเครือข่ายที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีนโยบายทั้งหมด ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่กำหนด จำนวน 23.65ล้านบาท โดยมีสาเหตุมาจากขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนตามเป้าหมายของนโยบายที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกและเสนอรายชื่อโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) และโรงเรียนเครือข่ายเข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อพิจารณา แต่สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีการตรวจสอบข้อมูลสถานะปัจจุบันของโรงเรียนเครือข่ายที่ได้รับคัดเลือกทำให้โรงเรียนเครือข่ายเป้าหมายของนโยบายบางส่วนเป็นโรงเรียนที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีนโยบาย
รายงานการตรวจสอบของ สตง. ยังระบุว่า การดำเนินงานตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์
โดย สตง.ตรวจสอบพบว่า โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศดังนี้
1. โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (คะแนน O-NET) ให้สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศจากการตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก)จำนวน 55 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่มีผลคะแนน O-NET ในปีการศึกษา2560 ต่ำกว่าระดับประเทศเมื่อจำแนกตามแต่ละกลุ่มสาระวิชา ได้แก่ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ จำนวน 38 45 41 และ 49 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 69.09 81.82 74.55 และ 89.09 ของจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ ตามลำดับ และในจำนวนโรงเรียนของกลุ่มนี้ มีโรงเรียนที่มีผลคะแนนต่ำกว่าระดับประเทศทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560)จำนวน 30 35 35 และ 46 แห่ง ตามลำดับ และยังพบว่า ในปีการศึกษา 2558 มีโรงเรียนบางส่วนที่มีคะแนนสูงกว่าระดับประเทศ แต่เมื่อเข้าร่วมตามนโยบายแล้วได้คะแนนต่ำกว่าระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่มีคะแนนสอบ O-NET เปรียบเทียบต่ำกว่าระดับประเทศทุกกลุ่มสาระวิชา ทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560)จำนวน 24 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ คิดเป็นร้อยละ 43.64
2.โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยกระดับผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (คะแนน NT) เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศจากการตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) จำนวน 55 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่มีผลคะแนน NT ในปีการศึกษา 2560 ต่ำกว่าระดับประเทศเมื่อจำแนกตามด้านที่มีการทดสอบ ได้แก่ ด้านภาษา ด้านคำนวณ และด้านเหตุผล จำนวน 30 35 และ 31 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 54.55 63.64 และ 56.36 ของจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ ตามลำดับ และในจำนวนโรงเรียนของกลุ่มนี้ มีโรงเรียนที่มีผลคะแนนต่ำกว่าระดับประเทศทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560)จำนวน 19 24 และ 20 แห่ง ตามลำดับ และยังพบว่า ในปีการศึกษา 2558 มีโรงเรียนบางส่วนที่มีคะแนนสูงกว่า ระดับประเทศ แต่เมื่อเข้าร่วมตามนโยบายแล้วได้คะแนนต่ำกว่าระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่มีคะแนนสอบ NT เปรียบเทียบต่ำกว่าระดับประเทศทุกด้านที่ทดสอบ ทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560)จำนวน 12 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ คิดเป็นร้อยละ 21.82
3. โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ยังไม่สามารถยกระดับผลการทดสอบความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้(คะแนน RT) เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศ จากการตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) จำนวน 54 แห่ง (ไม่พบข้อมูลการสอบ 1 แห่ง) พบว่า เมื่อจำแนกตามด้านที่ทดสอบ ได้แก่ ด้านการอ่านรู้เรื่องและการอ่านออกเสียง มีโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่มีผลคะแนนในปีการศึกษา 2560 ต่ำกว่าระดับประเทศ จำนวน 22 และ 19 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 40.74 และ 39.15 ของจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ และในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่มีผลคะแนนต่ำกว่า ระดับประเทศทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 -2560) จำนวน 13 และ 10 แห่ง ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่า โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์วัสดุ ครุภัณฑ์ตามนโยบายกล่าวคือ ในการดำเนินการตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) แห่งละ 3.35ล้านบาท รวม 55 แห่ง เป็นเงิน 184.25 ล้านบาท โดยมีการใช้จ่ายงบเงินอุดหนุนในการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการศึกษาจำนวน 105.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.21ของงบเงินอุดหนุน ซึ่งจากการสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์ วัสดุ ครุภัณฑ์ที่มีการจัดซื้อจากงบเงินอุดหนุนของโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) จำนวน 55 แห่ง พบว่า โรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ไม่มีการใช้ประโยชน์วัสดุ ครุภัณฑ์ เป็นจำนวนมาก เช่น โปรแกรม ห้องสมุดโปรแกรมบริหารและงานสนับสนุน โปรแกรมสื่อ E-Book เป็นต้น จึงอาจส่งผลให้ไม่เกิดการพัฒนา คุณภาพของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของนโยบายการที่นโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษา ของนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ ย่อมส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสที่จะได้เรียนจากโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทางวิชาการ ไม่สามารถดึงดูดโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงให้มาเรียนรวมเพิ่มเติม และขาดโอกาส ในการใช้งบประมาณจากการจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาแต่ไม่ใช้ประโยชน์ อย่างน้อยจำนวน 14.01ล้านบาท
สาเหตุปัญหามาจากไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดในการยกระดับคุณภาพของผู้เรียนให้ครอบคลุมทุกด้านอย่างชัดเจน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ยังไม่มีการดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงานที่กำหนดอย่างจริงจัง
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบาย/โครงการ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปแล้ว (อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่ )
ผลการแก้ไขปัญหาจากนี้เป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไป
@ รายละเอียดแผนงานใช้จ่ายงบประมาณ โรงเรียนดีใกล้บ้าน