ชาวประจวบร้องผู้ว่าฯ แก้นายทุนฮั้วราคา นำมะพร้าวนอกทุบตลาดไทย
ชาวบ้านร้องผู้ว่าฯ ประจวบแก้ปัญหามะพร้าวราคาตก เผยนายทุนฮั้วราคานำเข้ามะพร้าวอินโด เขมร ป่วนตลาดไทย จังหวัดเตรียมเทงบ 5 ล้านแปรรูปน้ำมันมะพร้าว
วันที่ 12 มิ.ย. 55 ที่ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรปลูกมะพร้าวประมาณ 200 คนเข้ายื่นหนังสือต่อนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำเหลือเพียงลูกละ 3 บาท โดยนายสัมฤทธิ์ แก้วทิพย์ ตัวแทนเกษตรกรต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ราคามะพร้าวที่ตกต่ำเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชจำพวกแมลงหนามดำ หนอนหัวดำ จนต้องทำลายด้วยวิธีตัดโค่นและเผาทางมะพร้าว เกษตรกรหลายคนจึงหันปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ยางพารา ปาล์ม ส่งผลให้ผลผลิตลดน้อยลงไม่มีป้อนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงต้องมีการสั่งเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ซึ่งมีราคาถูกและคุณภาพดีกว่า ซึ่งต้นปี 55 ที่ผ่านมาแม้จำนวนต้นมะพร้าวจะน้อยลง แต่จำนวนผลผลิตกลับสูงขึ้นเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน จึงเป็นปัจจัยให้ราคาต่ำลง
ทั้งนี้นายสัมฤทธิ์ ยังอ้างว่าปัญหาราคามะพร้าวจะไม่ตกต่ำมาก หากพ่อค้าคนกลางไม่ตกลงยินยอมรับซื้อมะพร้าวราคาลูกละ 3 บาทมาเก็บไว้ เพื่อหวังขายทอดตลาดในอีก 2 เดือนข้างหน้าเมื่อรัฐบาลสั่งปรับราคา ซึ่งเกษตรกรต้องเสียค่าสอยและเก็บมะพร้าว 2 บาท และได้เงินเพียงลูกละ 1 บาทเท่านั้น
ด้านนางขวัญเรือน พินประดับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโชติ รุ่งเรือง ผู้ประกอบการรับซื้อมะพร้าว อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 54 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศยุโรปย่ำแย่จนยอดการสั่งซื้อมะพร้าวทั้งในและนอกประเทศลดน้อยลง ส่งผลกระทบยังผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมาเก็บไว้ในสต๊อก และต้องรีบระบายสู่ตลาดภายใน 2 เดือน มิฉะนั้นมะพร้าวจะงอกหน่อและส่งขายไม่ได้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาวิธีพยุงราคาสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการสั่งนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ จนส่งผลให้มะพร้าวในประเทศค้างสต๊อก นางขวัญเรือนกล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการต้องนำเข้ามะพร้าว เพราะปี 54 มะพร้าวขาดแคลนอย่างหนัก แต่ปีนี้มีการคาดการณ์ผิด เนื่องจากมะพร้าวกลับให้ผลผลิตสูงและระบายสู่ตลาดไม่ทัน ราคาจึงตกต่ำ อย่างไรรัฐบาลได้ยกเลิกสัญญานำเข้าตั้งแต่สิ้นพ.ค. แล้ว ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการลักลอบขนส่งมะพร้าวจากนอกประเทศแน่นอน เพราะเป็นผู้ไปเจรจาการค้าที่อินโดนีเซียด้วยตนเอง
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ได้ประชุมผู้ประกอบการผลิตและส่งออกมะพร้าวขอให้ผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมอนุมัติงบประมาณจังหวัด 5 ล้านบาท จัดตั้งโครงการแปรรูปผลผลิตเป็นน้ำมันมะพร้าวสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลสำนักงานพาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุ จ.ประจวบมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ 461,292 ไร่ เกษตรกร 23,463 คน สร้างรายได้เข้าจังหวัดประมาณ 4.5 ล้านบาท/ปี โดยปี 54 ไทยมีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศราว 1 แสนตัน ปี 55 จะมีการนำเข้า 2 แสนตัน ซึ่งตั้งแต่ม.ค.-เม.ย. มีการนำเข้าแล้ว 1.7 หมื่นตันก่อนยกเลิกสัญญา โดยปี 54 มะพร้าวมีราคาสูงสุดลูกละ 20 บาท ขณะที่ปี 55 กลับเหลือเพียง 3 บาทจากเดิมเมื่อม.ค.55 ยังมีราคาอยู่ที่ 17 บาท และมีการลักลอบนำเข้าปีที่ผ่านมา 97,000 ผล
อย่างไรก็ตามมีแหล่งข่าวอ้างว่าราคามะพร้าวที่ตกต่ำในปัจจุบัน แท้จริงเกิดจากผู้ประกอบการผลิตน้ำกะทิและแปรรูปมะพร้าวรายใหญ่ของไทยนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศมากเกินไป จนผูกขาดตลาด สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร อีกทั้งมีผู้ลักลอบนำเข้ามะพร้าวราคาถูกจากต่างประเทศหลายแสนตัน ซึ่งนอกจากทำกลไกตลาดปั่นป่วนแล้วยังทำให้เกิดการระบาดของศัตรูพืชที่ติดมากับการขนส่งด้วย.