เปิดมุมมอง“คิดเปลี่ยนโลก”หนุ่มสาวผู้นำรุ่นใหม่ไทยใน One Young World Summit 2018
เปิดมุมมอง “คิดเปลี่ยนโลก” ของหนุ่มสาวผู้นำรุ่นใหม่ไทย พลังใหม่ขับเคลื่อนสังคมสู่ทิศทางความยั่งยืน ชี้เวทีประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ One Young World Summit 2018 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สร้างความเชื่อมั่นให้พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลง ช่วยแก้ปัญหาทั้งในประเทศไทยและโลกใน 5 ด้าน คือ 1.การศึกษา 2.สิ่งแวดล้อม 3.สุขภาพ 4.สิทธิมนุษยชน และ 5.การบรรเทาปัญหาความยากจนและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ คุณไม่ต้องเป็นคนใหญ่โตถึงจะมีความคิดที่ยิ่งใหญ่ เราต้องไม่สิ้นหวัง คุณคือผู้นำของวันพรุ่งนี้ และคุณสามารถเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากเห็น”
Bob Geldof นักดนตรีและนักเคลื่อนไหว ได้อ้างถึงคำพูดของ Kofi Annan อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและที่ปรึกษาของการประชุม One Young World ผู้ล่วงลับ เพื่อนำมาสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่กว่า 2,000 คนจาก 196 ประเทศ ในการประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ “One Young World Summit 2018” ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
จากความเชื่อมั่นในพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” จึงได้เดินหน้า โครงการ “ซีพีสานฝัน ปันโอกาส สู่ผู้นำรุ่นใหม่ One Young World” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยสนับสนุนผู้นำรุ่นใหม่จากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์และผู้นำเยาวชนจากองค์กรภายนอก รวม 20 คน เป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนระดับโลก “One Young World 2018” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดการเปลี่ยนโลกไปสู่ความยั่งยืน โดยการประชุมในครั้งนี้มีหัวข้อหลักของการประชุมซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของโลก 5 ด้านคือ 1.การศึกษา 2.สิ่งแวดล้อม 3.สุขภาพ 4.สิทธิมนุษยชน และ 5.การบรรเทาปัญหาความยากจนและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยได้มีผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดและแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาอย่างหลากหลาย
นางสาวณัฐนันท์ เอมอมรจิต ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ True Money International บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ในโครงการ “ซีพีสานฝัน ปันโอกาส” เล่าว่าจะนำเอาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับและแรงบันดาลใจดีๆ จากเวที One Young World มาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเครือเจริญโภคภัณฑ์และในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องของ Social Enterprise หรือ Social Business ที่สามารถทำให้ทั้งองค์กร บริษัท ลูกค้า และสังคมต่างก็ได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
“หนึ่งในตัวอย่างดีๆ จากเวทีในครั้งนี้คือ การเสียสละและทุ่มเทของคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครให้กับ Muhammad Yunus Center เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศบังคลาเทศ ที่เขาสามารถใช้พลังความคิดสร้างสรรค์มาสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงการทำแคมเปญประกวดโครงการ Social Business ของ Facebook ที่นำเอาทรัพยากรที่ตนเองมีมาใช้ในการสร้างสรรค์สังคม โดยมีคำพูดหนึ่งของ Ambassadors ของ One Young World ในปีที่แล้วที่ดีมากคือ อย่าคิดว่าคนอย่างเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตาม และที่สำคัญคือทุกองค์กรสามารถใช้ทรัพยากรหรือศักยภาพที่มีอยู่ไปช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้”
นางสาวชนากานต์ กิตติจารุจิตต์ ผู้จัดการแผนก สำนักทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าว่าในเวที One Young World มีการพูดคุยกันถึงประเด็นปัญหาเรื่องของการศึกษาว่า เทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตจะสามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการศึกษาได้จริงหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีอินเตอร์เน็ตหรือมีนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษามากมาย แต่ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความรู้ความสามารถที่จะนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในโลกโซเซียลหรือในออกมาใช้ประโยชน์กับการพัฒนาการศึกษาได้
“ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราสามารถทำให้คนที่ไม่อาจเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสามารถที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้จากโทรศัพท์พื้นฐานธรรมดา และพัฒนาให้เป็นฐานข้อมูลหนังสือเสียง ที่สามารถช่วยให้พ่อแม่ที่อ่านหนังสือไม่ออก โทรเข้าไปแล้วเปิดให้ลูกฟัง ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยคนให้เข้าถึงเรื่องของการศึกษาได้โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็มี True Corporation ที่สามารถนำเรื่องนี้ไปต่อยอดได้ ก็จะทำให้คนอีกเป็นจำนวนมากเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอินเตอร์เน็ต และยังมีแนวคิดที่ต้องการทำฐานข้อมูล digital profile ของเด็กนักเรียน ที่ไม่ได้เป็นแค่สมุดพกบอกเกรด แต่รวมข้อมูลทุกอย่าง เช่น พฤติกรรม ศักยภาพในด้านต่างๆ หรือความต้องการในการเรียนรู้ แล้วครูก็สามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ในการออกแบบหลักสูตรให้เข้าถึงนักเรียนแต่ละคนได้มากขึ้น แล้วก็สามารถส่งต่อข้อมูลขึ้นไปตามลำดับชั้น และข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของไทยในภาพรวมได้อีกเป็นจำนวนมาก”
นายณัฐวัชร์ สหะศักดิ์มนตรี เจ้าหน้าที่การค้าอาวุโส บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด เล่าถึงมุมมองเรื่องปัญหาสุขภาพที่ได้รับว่า มีผู้บริหารบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความสะอาด เขามีแนวคิดและพยายามผลักดันให้เกิดห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันโรค เพราะทุกวันนี้มีคนแค่ 1 ใน 3 ของโลกเท่านั้น ที่เข้าถึงห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ เขาจึงพยายามผลักดันให้ในพื้นที่ๆ ห่างไกลได้มีห้องน้ำสะอาด แล้วเขาก็สามารถขายผลิตภัณฑ์ของเขาได้ แล้วนำเงินกลับมาหมุนเวียนทำห้องน้ำในที่ใหม่ๆ เกิดเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน ตรงนี้เองที่ทำให้เห็นว่าการประกอบธุรกิจอะไรก็ตามก็สามารถช่วยโลกได้ ซึ่งธุรกิจที่ดีไม่ใช่แค่ผลกำไรอย่างเดียว แต่ธุรกิจที่ดีต้องสามารถทำให้โลกของเราดีขึ้นด้วย
ด้านตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มากจากองค์กรหน่วยงานภายนอก นางสาวมนัสวี ศุระศรางค์ นักกายภาพบำบัด ผู้ก่อตั้ง “คลับดูใจ” ที่เปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เล่าให้ฟังว่า เวทีนี้ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงานกับคนที่คิดและทำแบบเดียวกับเรา และยังได้เครือข่ายคนที่ทำงานแบบเดียวกันจากประเทศอื่นๆ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือสนับสนุนกันต่อในไปในอนาคต รวมถึงได้ความมั่นใจจากการพูดคุยกับวิทยากรหลายๆ คนว่า การทำงานด้านนี้นั้นควรเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ เน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าที่จะไปสนใจเรื่องปริมาณ
“เวทีนี้ได้ทำให้เราเห็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs Goal ทำให้เราได้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แล้วก็พบว่าการแก้ปัญหาเรื่องของสุขภาพ ปัญหาด้านการศึกษา หรือหัวข้อปัญหาอื่นๆ ของการประชุมในครั้งนี้เพียงด้านใดด้านหนึ่งนั้น ไม่สามารถทำให้โลกของเราก้าวไปสู่จุดหมาย SDGs ที่ทุกคนต้องการได้ เราพบว่าปัญหาทุกด้านๆ ไม่สามารถแยกออกจากกัน ดังนั้นเราจึงต้องแก้ปัญหาและขับเคลื่อนในประเด็นปัญหาเรื่องต่างๆ ไปพร้อมกัน จะมุ่งพัฒนาหรือแก้ปัญหาด้านสุขภาพเพียงเดียว แต่ว่ากลับไม่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการศึกษา มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหรือบนโลกใบนี้ได้”
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าการประชุม One Young World เป็นโอกาสที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักรู้และขยายมุมมองให้กว้างขึ้น โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อมีความรู้แล้วต้องลงมือทำเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน 3 ประการ คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
“เครือเจริญโภคภัณฑ์เชื่อมั่นในพลังและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ที่จะสามารถกำหนดทิศทางและอนาคตของโลกให้เปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ข้อได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความมุ่งมั่นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการพัฒนาทั้งธุรกิจและสังคมไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้ค่านิยม 3 ประโยชน์คือ เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน และเพื่อองค์กร”
ภายหลังจากเข้าร่วมประชุมแต่ละครั้ง ผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่จะกลายเป็น “ทูตเยาวชน” และจะกลับไปดำเนินโครงการของตัวเองหรือใช้เครือข่ายจากทูตเยาวชน One Young World ที่เกิดขึ้นเพื่อสานต่อโครงการที่ดำเนินงานอยู่ และกลับไปสร้างพลังความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กรและประเทศชาติของตนเอง โดย Kate Robertson ผู้ร่วมก่อตั้ง One Young World กล่าวว่า “ตั้งแต่ปี 2553 ทูตเยาวชน One Young World ได้ช่วยให้กว่า 17.5 ล้านคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเยาวชนสามารถทำให้เป้าหมายสำเร็จได้”
“ลองจินตนาการดูว่าโลกจะเป็นอย่างไรหากคุณสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ คุณมีพลังที่จะสร้างโลก” Professor Muhammad Yunus ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพกล่าวทิ้งท้าย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ทุกคนในที่ประชุม One Young World 2018