เผยโฉม ธ.กสิกรในลาว โอกาส ความท้าทายธุรกรรมออนไลน์-อิทธิพลกลุ่มทุนต่างชาติ
"...หากเทียบกับของประเทศไทย โดยเทียบประชากร สปป.ลาวจำนวน หนึ่งร้อยคน จะพบว่ามีแค่ 26 คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินออนไลน์ได้ โดยกิจกรรมธุรการออนไลน์ที่คนลาวมักจะใช้ออนไลน์ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐานเช่นการต่อทะเบียนรถเป็นต้น ซึ่งปัญหาความไม่พร้อมของระบบธุรกรรมออนไลน์ของ สปป.ลาว ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยต้องรอให้มีการวางระบบของทางภาครัฐฝั่ง สปป.ลาวก่อน จึงจะสามารถเข้าไปเจาะตลาดตรงนี้ได้"
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสร่วมคณะสื่อมวลชนเดินทางไป ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว เพื่อติดตามดูแผนงานลงทุนด้านการเงินของ ธนาคารกสิกรไทย พร้อมปัญหาอุปสรรคต่างๆ
นายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบุญ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย
นายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบุญ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงแผนงานของธนาคารกสิกร ว่า ธนาคารกสิกรไทยจะมีแผนงานต่อยอดธุรกิจในประเทศลาวด้วยเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท มุ่งเน้นไปที่ 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การเปิดสาขาหรือสำนักงานที่มีรูปแบบลักษณะเป็นธนาคารท้องถิ่นจดทะเบียน สาขาธนาคารต่างประเทศ สำนักงานผู้แทนต่างประเทศ, การขยายบริการด้านดิจิตอล และการเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินท้องถิ่นเพื่อดำเนินธุรกิจกับพันธมิตรในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจในลาวมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7 ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย เข้าไปเปิดสาขาแห่งแรกในปี 2557 จนถึงปัจจุบันธนาคาร มีพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศลาวเป็นจำนวนถึง 60 คน และไม่มีหนี้เสียแม้แต่รายเดียว
"สปป.ลาว มีจุดแข็งก็คือมีการทำนโยบายประชารัฐมาก่อนประเทศไทย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ในสมัยของนายไกสอน พมวิหาน อดีตนายกรัฐมนตรีลาว ที่ได้ขอความสนับสนุนให้ภาคเอกชนของ สปป.ลาวเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ คนไทยที่ต้องการมาทำธุรกิจใน สปป.ลาวนั้นสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้เลย โดยใช้ภาษาไทย ไม่ต้องเรียนรู้ภาษาอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด"
นายภคพงษ์ พุมอาภรณ์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (สปป.ลาว)
อย่างไรก็ดี การลงทุนธุรกิจด้านการเงิน ในลาวก็ยังมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นอยู่บางประการ โดย นายภคพงษ์ พุมอาภรณ์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (สปป.ลาว) ระบุว่า ในประเด็นเรื่องการทำดิจิทัลแบงค์กิ้งของ สปป.ลาวที่ทางธนาคารกสิกรไทยพยายามผลักดันอยู่นั้น ในขณะนี้พบว่ามีแค่ธนาคารแห่งชาติของ สปป.ลาวหรือ Bank of Laos (BOL)และธนาคารสัญชาติลาวอื่นๆเท่านั้นที่เข้าถึงการให้บริการนี้ได้
"ปัญหาก็คือแม้ว่ารัฐบาลลาวจะมีการวางระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเอาไว้ แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งหน่วยงานของ สปป.ลาวก็ไม่ได้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางออนไลน์เอาไว้"
"หากเทียบกับของประเทศไทย โดยเทียบประชากร สปป.ลาวจำนวน หนึ่งร้อยคน จะพบว่ามีแค่ 26 คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินออนไลน์ได้ โดยกิจกรรมธุรการออนไลน์ที่คนลาวมักจะใช้ออนไลน์ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐานเช่นการต่อทะเบียนรถเป็นต้น ซึ่งปัญหาความไม่พร้อมของระบบธุรกรรมออนไลน์ของ สปป.ลาว ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยต้องรอให้มีการวางระบบของทางภาครัฐฝั่ง สปป.ลาวก่อน จึงจะสามารถเข้าไปเจาะตลาดตรงนี้ได้"
นายภคพงษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าหาก สปป.ลาวสามารถผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดขึ้นมาได้จริง ธนาคารกสิกรไทยก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยในแง่ของการลงทุนเพราะจะประหยัดงบเรื่องการจัดการเงินสดซึ่งขณะนี้ ประชาชนใน สปป.ลาวยังคงใช้เงินสดถึงร้อยละ 90 และการเปิดสำนักงานใหม่ ก็คงจะลดค่าใช้จ่ายในการจัดการลงขึ้นอีกมาก เพราะจะลดจำนวนบุคลากรที่ธนาคารกสิกรต้องใช้ในธนาคารท้องถิ่นในการจัดการเงินสด
“ผมว่าในกรณีที่จะเทียบกันถึงความเป็นสังคมไร้เงินสดระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว ต้องยอมรับว่าธนาคารแห่งชาติประเทศไทยมีการวางระบบที่ดี ดังนั้นการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารด้วยกันนั้นสามารถทำได้ แต่ที่นี่ทางธนาคารแห่งชาติประเทศลาวยังไม่ได้มีการวางรากฐานแบบนั้น ดังนั้นก็ต้องหาที่เชื่อมโยงกันก่อน สรุปก็คือว่าขณะนี้ระบบธนาคารของลาวก็เหมือนของไทยสมัยก่อน ที่ต่างธนาคารต่างทำธุรกรรมกัน ธนาคารใครธนาคารมัน แต่อย่างไรก็ตามทางลาวก็ต้องวางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ เขาก็มีการวางแผนไว้ว่าจะเป็นสังคมไร้เงินสดเหมือนกัน ก็คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2020 กว่าๆ ก็น่าจะผลักดันตรงนี้ออกมาได้”นายภคพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีเรื่องการใช้คิวอาร์โค้ด เพื่อการจ่ายเงินเพื่อใช้ในธุรกรรมออนไลน์ นายภคพงษ์ ระบุว่า ยังมีปัญหาอยู่เช่นกัน โดยสามารถใช้งานได้แค่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆอย่างเวียงจันทร์ เท่านั้น โดยมีการนำร่องด้วยธนาคาร BOL เช่นกัน ดังนั้นทางกสิกรไทยก็ยังไม่สามารถจะตอบได้ชัดเจนว่าจะเข้าไปเจาะตลาดตรงนี้เมื่อไรได้
เมื่อถามถึงบทบาทของประเทศจีนที่จะเข้ามามีบทบาทในสปป.ลาว และธนาคารกสิกรไทยจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง นายพัฒนพงศ์ เป็นผู้ตอบคำถามนี้
โดยระบุว่า "ธนาคารกสิกรไทยขณะนี้มีบริการการเงินหลักๆใน 3 สกุลได้แก่เงินกีบลาว เงินดอลลาร์สหรัฐ และก็เงินบาทไทย แต่แม้ว่าธนาคารกสิกรไทยจะยังไม่มีการให้บริการเงินหยวน อาทิในเรื่องการรับฝากเงินหยวนแต่ทางธนาคารกสิกรไทยก็มองว่าในอนาคตเงินหยวนจะเข้ามามีความสำคัญในภูมิภาคลาวเป็นอย่างมากเนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ส่งเงินเข้ามาลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง จะเป็นกลไกทำให้เงินหยวนเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่จะมีการแลกเปลี่ยนในอนาคตใน สปป.ลาว ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยก็จะต้องจับตาในประเด็นเหล่านี้ และจะต้องดูว่าปีไหนที่มีการแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นมูลค่าสูง เพื่อที่ธนาคารกสิกรไทยจะได้ปรับตัวให้เหมาะสมต่อไป
ขณะที่นายภคพงษ์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า คาดการณ์กันว่าปัจจัยในด้านการเข้ามาของกลุ่มการเงินในต่างประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเร่งให้ สปป.ลาวต้องผลักดันการเป็นสังคมไร้เงินสดให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน