ผ่าโครงสร้างศูนย์เฉพาะกิจ มท.เช็คการข่าวเลือก ส.ว.-ส.ส. ทหารพรึบป้องม็อบ?
“…นี่คือโครงสร้างหลักของศูนย์เฉพาะกิจฯ กระทรวงมหาดไทย ตั้งระดับอำนวยการ ไล่มาจนถึงระดับอำเภอ น่าสังเกตว่า มีทหาร/ตำรวจ เข้าร่วมโดยตำแหน่งเป็นจำนวนไม่น้อย อ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และการกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างการได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจสนับสนุนและประสานงานการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อสนับสนุนและประสานงานการได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ โดยมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และนายอำเภอทุกแห่ง ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยต้องดำเนินการตามกรอบและภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการสนับสนุนและประสานงานการได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส.
โดยมีสาระสำคัญให้รายงานเหตุการณ์ทางโทรศัพท์และโทรสารของศูนย์เฉพาะกิจดังกล่าว ในวันเลือก ส.ว. ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด รวมถึงรายงานทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ
สำหรับแผนงานของกระทรวงมหาดไทยในการตั้งศูนย์เฉพาะกิจดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.ฝ่ายอำนวยการ แบ่งย่อยเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการศูนย์เฉพาะกิจฯ มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน เป็นประธานฯ อธิบดีกรมการปกครอง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าในกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกระทรวงมหาดไทย ปลัด กทม. หรือผู้แทน หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการปกครองท้องที่ เป็นกรรมการ และเลขานุการฯ ผอ.ส่วนการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักบริหารการปกครองท้องที่ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการฯ โดยอำนาจหน้าที่สำคัญคือ วินิจฉัยและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฉพาะกิจฯปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
และคณะทำงานฝ่ายประสานงานและธุรการ มีรองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการปกครองท้องที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ มีหน้าที่สำคัญคือ การประสานงานระหว่างกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้การได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง
2.ฝ่ายปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะทำงานฝ่ายประสานงานรักษาความสงบเรียบร้อยและการข่าว มีรองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีหน้าที่สำคัญคือ ติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์ข่าวสารและความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคล กลุ่มองค์กร และความเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะแนวโน้มการกระทำความผิดกฎหมาย รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย มีรองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการปกครองท้องที่ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีหน้าที่สำคัญคือการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการควบคุม ดูแล ในการสนับสนุนข้อกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส.
คณะทำงานฝ่ายการสื่อสาร มีรองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ มีหน้าที่สำคัญคือการวางระบบการติดต่อสื่อสาร ระหว่างศูนย์เฉพาะกิจฯทั่วประเทศ กับศูนย์ใน กทม. นอกจากนี้ให้รวบรวมและรายงานผลการดำเนินการให้แก่คณะกรรมกรศูนย์เฉพาะกิจฯ กระทรวงมหาดไทย ทราบ
ส่วนศูนย์เฉพาะกิจระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัด กทม. เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัด/รองปลัด กทม. เป็นรองประธานฯ โดยส่วนใหญ่มีฝ่ายทหาร/ตำรวจ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เช่น รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นกรรมการ
มีหน้าที่สำคัญคือ อำนวยการ สนับสนุน การได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส. ประสานการปฏิบัติงานกับศูนย์เฉพาะกิจฯ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงจัดทำแผนเผชิญเหตุ และติดตามสถานการณ์ ข่าวสารความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะหรือเหตุไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวบรวมรายงานเหตุการณ์จัดส่งให้ศูนย์เฉพาะกิจสนับสนุนและประสานงานการได้ซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส.
ขณะที่ศูนย์เฉพาะกิจระดับอำเภอ มีนายอำเภอ/ผอ.เขต เป็นประธานกรรมการ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร และผู้แทนกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เป็นรองประธานกรรมการ มีหน้าที่สำคัญคือ จัดทำแผนเผชิญเหตุ และติดตามสถานการณ์ ข่าวสารความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะหรือเหตุไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่
นี่คือโครงสร้างหลักของศูนย์เฉพาะกิจฯ กระทรวงมหาดไทย ตั้งระดับอำนวยการ ไล่มาจนถึงระดับอำเภอ น่าสังเกตว่า มีทหาร/ตำรวจ เข้าร่วมโดยตำแหน่งเป็นจำนวนไม่น้อย อ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และการกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างการได้มาซึ่ง ส.ว. และเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ
ท่ามกลาง ‘โค้งสุดท้าย’ ก่อนจะเกิดการเลือกตั้ง ส.ส. ในช่วงต้นปี 2562 ที่กำลังจะถึงนี้ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/