ทำทุกอย่างแม้กระทั่งเก็บขี้ไก่ “พล.อ.อนุพงษ์” ย้อนวันวานลำบากยากเข็ญ สู่ความเข้าใจไทยนิยม ยั่งยืน
"บิ๊กป๊อก" ย้อนวันวานเล่าความหลังอดีตเคยยากจน ก่อนพลิกชีวิตด้วยกลไกคล้าย ๆ "ไทยนิยม ยั่งยืน" เผยไม่มีโครงการใดสร้างรายได้ ถ้าปชช.ไม่ลงมือทำ "เเจกเงิน" เท่ากับ "ประชานิยม" ไม่ช่วยยืนหยัดอยู่ได้
ใกล้ครบ 1 ปี สำหรับ “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคี จัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการฯ โดยมี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) เป็นประธาน
โครงการดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ จากระดับชาติสู่ระดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน ในด้านความรู้และการลงทุน
ทั้งนี้ ไฮไลท์ช่วงหนึ่งอยู่ที่ถ้อยแถลงของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ย้อนวันวานในอดีตให้ผู้เข้าร่วมงานฟังถึงชีวิตที่เคยยากเข็ญ จนต้องใช้กลไกคล้าย ๆ โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เข้าไปพลิกชีวิตครอบครัวให้ลุกขึ้นฟื้นคืนได้
“ผมเองนั่งคิดอยู่นานหลายวัน กว่าจะถึงวันนี้ว่า ผมจะเล่าเรื่องนี้ดีหรือไม่ แล้วตัดสินใจว่า ถ้าเล่าคงไม่เสียหายอะไร”
พล.อ.อนุพงษ์ ได้เล่าถึงชีวิตครอบครัวช่วงชีวิตต้องประสบกับความยากลำบาก "ผมได้ใช้กลไกคล้าย ๆ โครงการฯ แก้ไขปัญหาของครอบครัว"
ก่อนจะชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมงานลองคิดว่า ความสำเร็จอยู่ที่ไหน?
“ครอบครัวผม คุณแม่มีร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์อยู่ที่เสาชิงช้า เมื่อแต่งงานกับคุณพ่อจึงขายร้าน เพราะต้องเลี้ยงลูก และยึดอาชีพเป็นแม่บ้าน อาศัยอยู่บ้านหลวงไปเรื่อย ๆ เพราะคุณพ่อรับราชการ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
จนกระทั่งซื้อบ้านจัดสรรของตนเอง เมื่อ 60 ปีที่แล้ว จึงเริ่มเกิดปัญหา เนื่องจากลูก 4 คน ต้องเรียนหนังสือทั้งหมด แต่พ่อทำงานคนเดียว เริ่มมีปัญหาการผ่อนบ้าน จนสะเทือนถึงการกินอยู่ในแต่ละวัน เงินเก่าหมดแล้ว”
และวันหนึ่งคุณแม่ของพล.อ.อนุพงษ์ได้ไก่มาจากเพื่อน 24 ตัว ตอนนั้นมุ่งหวังอย่างเดียว คือ จะให้มีอาหาร
บิ๊กป๊อก เล่าว่า ความจริงในบ้านปลูกทุกอย่างโดยไม่ต้องซื้อ ยกเว้นซื้อหมูอย่างเดียว ต่อมาคุณแม่คิดว่า “เลี้ยงแล้วน่าจะขายได้”
คุณแม่บิ๊กป๊อกจึงเดินทางไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น
“เดินไปหา ไม่ใช่ให้กระทรวงเกษตรฯ เดินมาหา” บิ๊กป๊อก เน้นย้ำ และว่า คุณแม่ไปเรียนอบรมการเลี้ยงไก่ แล้วเริ่มมาซื้อลูกไก่ไข่ เลี้ยงเป็นพัน ๆ ตัว แต่ละวันเราจึงมีไข่ราว 2,000 ฟอง
เขาเล่าต่อถึงความยากลำบากที่บางครั้งน้ำเลี้ยงไก่ยังไม่มี น้ำประปาไม่ไหล
บิ๊กป๊อกในวันนั้นต้องเข็นน้ำจากแหล่งน้ำมาเลี้ยงไก่ ก่อนจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนเกษตรกรที่กำลังประสบเจอปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ ทำได้แล้ว แต่ติดปัญหาด้านการตลาด
"ทุกคนในครอบครัวของผมช่วยกันเลี้ยงไก่ ตั้งแต่ผสมอาหาร เลี้ยงเอง เก็บไข่ แม้กระทั่งขาย ตั้งแต่ใส่ตะกร้าขายในหมู่บ้าน และขายในตลาดราชวัตร เพราะมีไข่ออกมามาก
คุณแม่ของผมเริ่มมองเห็นทาง ถ้าอย่างนี้ไปที่กระทรวงเกษตรฯ เพราะเราซื้อไก่ตัวละ 10 บาท แม่จึงไปอบรมการฟักไข่ คราวนี้ยังขายไก่อยู่ แต่ฟักลูกไก่ขาย เราทำอย่างนี้ประมาณ 4-5 ปี จนสามารถผ่อนบ้านปลดหนี้ทั้งหมด ซึ่งภายใต้ความยากลำบากของครอบครัว ผมต้องทำทุกอย่างแม้กระทั่งเก็บขี้ไก่”
ฉะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ จึงมองว่า โครงการใดที่จะช่วยพี่น้องประชาชนได้นั้น ความสำเร็จอยู่ที่พี่น้องประชาชนต้องทำ เหมือนรัฐเป็นแม่นกที่สอนให้ลูกนกบิน ประชาชนต้องเป็นคนบิน รัฐเป็นเพียงพี่เลี้ยง
“รัฐเข้าไปถามเหมือนที่โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เข้าไปถามว่า ท่านอยากทำอะไร ต่างจากคุณแม่ของผมต้องเดินเข้าไปหากระทรวงเกษตรฯ แต่โครงการนี้รัฐนำความรู้ไปให้ เรามีกองทุนทั้งเป็นบุคคล สินเชื่อ จากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มอบให้”
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนั้น สื่อมวลชน และประชาชนทั้งหมด มักมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการสร้างรายได้ ยืนยันว่า ไม่มีโครงการใดจะสร้างรายได้ ถ้าประชาชนไม่ทำขึ้นมาเอง ไม่พัฒนาตนเอง ไม่มีทางเลย
“ไม่มีทางที่จะทำให้คนเป็นหมอได้ โดยที่คุณไปสอบแทน คุณให้ความรู้ได้ แต่เขาต้องไปสอบให้ได้เอง ทุกอาชีพต้องทำอย่างนั้น”
ช่วงท้าย บิ๊กป๊อก เผยด้วยว่า เขาชั่งใจอยู่หลายวันควรจะมาประจานตนเองหรือเล่าให้ฟังหรือไม่ แต่อยากเน้นว่า "ถ้าผมไม่พูดว่าโครงการนี้ทำอย่างที่นายกรัฐมนตรีต้องการคือนำโอกาสไปให้ประชาชนต้องรู้ว่าควรพัฒนาให้ตนเองให้ดีขึ้นอย่างไร และยืนยันว่าต้องทำอย่างนี้ ถ้าท่านไม่เข้าใจ ไม่ช่วยกันขับเคลื่อน ประชาชนก็จะหาโครงการที่ได้เงิน ซึ่งมีทางเดียว คือ ‘แจกเงิน’ เรียกว่า ‘ประชานิยม’ ซึ่งท่านคงรู้ซึ้งว่าไม่ใช่วิถีทางที่ยั่งยืน ไม่มีทางเลย เพราะให้เป็น 1 เดือน หมด 1 เดือน ให้ 1 ปี หมด 1 ปี ไม่ได้ช่วยให้ยืนหยัดอยู่ได้”