“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” เอ็กซเรย์ทุนเพื่อชุมชน แนะวิธีการใช้เงินให้งอกเงย
ต้องไม่ให้เงินไหลออกไปอีกทาง ทุกบาทต้องไหลในชุมชนหลายๆ รอบ”
แนวทางการสนับสนุนแหล่งทุนชุมชนโดยผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ที่กระจายลงสู่ภูมิภาค จัดเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งในความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า ‘เศรษฐกิจระดับรากหญ้า’ ซึ่งประชาชนจะคุ้นเคยกับวิธีการนี้ในช่วงสมัยของรัฐบาลทักษิณ ด้วยเพราะนโยบายชิ้นเอก อย่าง ‘กองทุนหมู่บ้าน’(รายละเอียดท้ายเรื่อง) และการอุดหนุนเงินในรูปแบบอื่นๆ สามารถสร้างกระแสตอบรับเรื่อยมา จนถึงรัฐบาลของนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปัจจุบัน
หากแต่ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการกระจายรายได้ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างนโยบายกองทุนหมู่ บ้าน เนื่องด้วยเป็นที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทย กลับไม่คิดเช่นนั้น ด้วยเหตุผลอ้างอิงง่ายๆที่ว่า อย่างน้อยถ้าโครงการนี้สำเร็จตามเป้าจริง ทำไมการเดินทางตลอด 7 ปี (2544-2551) กลับไม่ทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นสักเท่าไร
ทำไมถึงบอกว่าวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนโดยวิธีสนับสนุนแหล่งทุนชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่ประสบผลสำเร็จ
เพราะรายได้สุทธิที่ประชาชนกลุ่มนั้นได้รับจริงๆยังมีไม่เท่าไร รายได้ที่มาจากการประกอบอาชีพโดยมีเงินกองทุนสนับสนุนยังมีน้อย ส่วนมากรายได้สุทธิของคนกลุ่มนี้มาจากการขายแรงงาน เช่น เสร็จจากทำนาก็เข้าไปขับแท็กซี่ ไปรับจ้างหรือบางครั้งลูกส่งเงินมาให้ใช้จ่าย เนื่องจากรายได้สุทธิที่หามาได้จริงๆไม่พอเลี้ยงชีพ
มองว่ากระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากหญ้าที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ก่อนจะตอบคำถาม ต้องรู้ก่อนว่ารากหญ้าคืออะไร อย่าไปคิดว่ารากหญ้าหมายถึงแค่เพียงคนชนบท ยังชีพด้วยการเกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร ตัวเลขมันก็บอกเราว่า กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร นั้นมีเพียง 12 ล้านคนเท่านั้นที่ ซึ่งในจำนวน 12 ล้านคนนี้ ก็มีถึงประมาณ 3 ล้านคน ที่เป็นลูกจ้าง เช่น รับจ้างตัดอ้อย ขุดมัน กรีดยาง ดำนา หรือเป็นกรรมกรเรือประมง ซึ่งคนพวกนี้เป็นเพียงอาชีพรับจ้าง จัดว่าเป็นแรงงานแต่ไม่ใช่ชาวนา ชาวไร่จริงๆ บางคนลงมาจากป่า จากเขา
หรือถ้าคุณจะบอกว่าเศรษฐกิจรากหญ้า หมายถึงเศรษฐกิจของกลุ่มคนที่ทำการเกษตร ในชนบทหรือค้าขายในระดับท้องถิ่น คุณลองไปดูว่าปัจจุบันนี้ใครเป็นเจ้าของไร่ ใครเป็นเจ้าของสวนยาง กลุ่มคนเหล่านี้คือพวกนายทุนทั้งนั้น ท้องถิ่นไม่ได้มีแค่เฉพาะคนจน ความไม่เข้าใจของสังคมทำให้เราเข้าใจผิด นั่นก็เพราะเราไม่อยู่กับความเป็นจริง มันจึงแยกไม่ออก เราไปตั้งข้อสรุปว่าคนในท้องถิ่นคือคนจน เราต้องช่วยเหลือ แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด บางอย่างมันอยู่ในมือนายทุนหมดแล้ว
ขณะนี้ชาวไร่ชาวนาคือคนส่วนน้อยไปแล้ว ในชนบทคนที่อยู่กับบ้านคือคนแก่หรือเด็ก ส่วนลูกหลานอยู่ในกรุงเทพฯหมด ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 5 คน ลูกๆ อยู่กรุงเทพฯ 3 คน ทิ้งพ่อกับแม่อยู่กับบ้าน ตกลงครอบครัวนี้เป็นคนกรุงเทพหรือชนบท ส่วนรายได้ที่เลี้ยงครอบครัวมาจากคนที่อยู่ในเมืองส่งมา นี่คือความจริง
ดังนั้นหากเรานิยามว่ารากหญ้าคือคนเล็กคนน้อย ที่ไม่มีอำนาจ เพราะรากหญ้าไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ ตามจำนวนแล้วหญ้าก็ต้องย่อมมีจำนวนมากกว่าต้นไม้ หญ้านี่คือใคร คือคนยากคนจน คนด้อยโอกาสทั้งหลาย ไม่ใช่เพียงแค่เป็นคนต่างจังหวัด รากหญ้าไม่ใช่แค่เฉพาะชาวนาเมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าเราจะดูเศรษฐกิจของคนด้อยโอกาส ต้องดูทั้งหมด ต้องดูที่คน ไม่ใช่ท้องถิ่น
ในหนึ่งท้องถิ่นมันมีทั้งคนรวยและคนจน หากแต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยคนรวยทั้งหมด ซึ่งถ้าจะดูเศรษฐกิจคนยากคนจน ต้องถามว่าเศรษฐกิจคืออะไร เศรษฐกิจมีเรื่อง การผลิต การบริโภค การกิน การใช้ การซื้อขายแลกเปลี่ยน ดูที่รายได้รายจ่าย รายได้มาจากไหน รายจ่ายไปทางไหน ดูทั้งตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน
ตัวเลขบอกว่าสังคมไทยปัจจุบัน รายได้ที่ชาวไร่ชาวนาผลิตเองมีไม่ถึง 40% รายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกไร่นา เช่น เงินที่ลูกส่งมาให้ เช่น เงินที่ได้จากรับจ้างทำงาน ส่วนลูกจ้างรายได้หลักคือรับจ้างทำงาน รายได้ของเกษตรกร 60 % มาจากนอกไร่นา เช่น รับจ้างขับแท็กซี่ ทำงานในเมือง
การช่วยเหลือที่รัฐทำอยู่ โดยบอกว่าช่วยเหลือเกษตรกร คนยากคนจนในชนบท มีผลทางเศรษฐกิจน้อย แต่ผลทางการเมืองมาก คือรัฐบาลมักจะโฆษณาให้เห็นว่า คนในชนบทขาดเงิน ขาดทอง ไม่มีแหล่งทุน เลยเอาเงินมาให้ โดยความคิดที่ว่า เงินที่อัดไปในภาคชนบทจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
แสดงว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันวิธีการนี้ใช้ไม่ได้ผลเลยในทางเศรษฐกิจ
ถึงถามไงว่า ไอ้การที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น คือเศรษฐกิจใคร ถ้าต้องการให้เศรษฐกิจของคนจน ชาวไร่ ชาวนาดีขึ้นต้องหมายความว่าเงินที่กู้ไปถูกนำไปสร้างผลผลิต และผลผลิตนั้นเกิดการหมุนเวียนเป็นรายได้ในชุมชน แต่ปัจจุบันเมื่อเงินถึงมือชาวนาแล้ว ก็มักจะออกจากท้องถิ่น มาสู่ภาคธุรกิจ เช่น ต้องเอาไปซื้อปุ๋ย เงินก็ไปอยู่ที่นายทุนค้าปุ๋ย เอาไปซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ เงินก็อยู่ที่นายทุนค้าอาหารสัตว์ ซึ่งเมื่อลงทุนไปแล้วสามารถเกิดผลิตผลได้มากกว่าเงินที่ลงทุนไปก็ถือว่าโอเค มีเงินเหลือในชุมชน แต่ถ้ารายได้ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไปแล้วเงินที่หายไปจะไปอยู่ที่ใครถ้าไม่ใช่นายทุน
ขณะนี้เงินที่ลงไปให้ชุมชน กลายเป็นนกต่อที่จะดูดเงินกลับเข้าเมืองใหม่อีก มันผิดจากหลักที่ควรจะเป็น เศรษฐกิจที่โตขึ้นกลับกลายเป็นเศรษฐกิจของนายทุน
จากสถานการณ์ที่ว่าปัญหาคืออะไร
ปัญหาอยู่ที่ประสิทธิภาพของชาวนาเอง เขาต้องรู้ว่าเงินที่คุณได้ไปจะใช้อย่างไรถึงจะให้มันงอกเงย รวมถึงรัฐต้องมีโครงการกำกับการใช้เงิน พิจารณาดูว่าเงินที่ปล่อยกูไป มีการใช้อย่างไร เพื่อให้เกิดดอกออกผล ในแบบที่ควรจะเป็น เพื่อให้มันเกิดผลผลิต สมมติทุกคนอยากจะกู้ ก็ต้องพิจารณาว่ากู้ไปทำอะไร เหมาะสมหรือไม่ มีที่ปรึกษา ตรวจสอบ ควบคุม หรืออาจจะเรียกว่า มีโครงการกำกับการใช้เงิน เพื่อไม่ให้ผู้กู้กลายเป็นเพียงดูดทรัพย์จากท้องถิ่นมาสู่เมืองอีก
ส่วนความสำเร็จของกองทุนที่รัฐแจกจ่ายมาให้กลับวัดกันที่ว่ามีเงินใช้ให้ครบเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าเงินที่เอามาใช้มาจากไหน ประสบความสำเร็จจากการนำไปสร้างอาชีพจริงหรือไม่
เท่ากับว่าที่ผ่านมาปัญหาไม่ได้อยู่ที่การไม่มีแหล่งทุน แต่อยู่ที่การนำไปใช้มากกว่า
แหล่งทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องทำในลักษณะให้ครั้งเดียวแล้วจบ เช่น กู้ไปทำนา 5หมื่นบาท ก็สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างตัวเอง เกิดการหมุนเวียนในชุมชน มิใช่กู้ทุกกองทุนเพื่อนำกองทุนนี้ ไปใช้หนี้กองทุนนั้น เท่าที่ผมทำอยู่ ไอ้คนกู้เหล่านี้ หนีไปทำงานในเมือง คำถามคือเงินที่หายไปทำอะไร ที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาหรือ ไม่มีการตามไปกำกับว่าใครไปทำอะไร รัฐบาลรู้อย่างเดียวว่าให้ยืมแล้ว ได้กลับคืน ก็จบ แต่ไม่รู้ว่า ไปเอาเงินไหนมาใช้หนี้ จริงอยู่ที่พฤติกรรมนี้ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่เกินครึ่งมันเป็นอย่างนั้น
กลายเป็นว่า ชาวนามีที่นา 10 ไร่ ไปกู้ ธ.ก.ส. มาทำนา พอมีกองทุนหมู่บ้าน ก็กู้อีก ถามว่าเอาไปทำก็ตอบว่าเอาไปทำนา นี่ยังไม่รวมทุนอื่นๆ ที่พร้อมจะให้เงินทุนแก่ชาวบ้านเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น กองทุนสหกรณ์ เอสเอ็มแอล กองทุนมิยาซาว่า แถมยังมีทุนเล็กทุนน้อย อย่าง ทุนสัจจะออมทรัพย์อีก ถามว่านา 10 ไร่ คุณจะกู้เงินทุกกองทุนเลยเหรอ
แต่ถ้ามีที่ดิน 10 ไร่ กู้กองทุนแรก 5 หมื่น ได้ข้าวมา 50 ถัง กู้กองทุนที่สองอีก 5 หมื่น แล้วสามารถผลิตข้าวได้ 100 ถัง กู้กองทุนที่สามอีก 5 หมื่นได้เพิ่มอีกเป็น 200 ถัง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็พอรับได้เนื่องจากถือว่าได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันข้อสรุปที่ได้มา มันชี้ว่าชาวนาขาดทุน ไอ้เงินที่อัดลงไปก็ไม่ได้ผลอะไร ชาวนากลายเป็นเครื่องมือ ที่จะนำกำไรจากท้องถิ่นมาสู่เมือง เว้นแต่ในกรณีที่เมื่อเสียเงินไปซื้อวัตถุดิบจากนายทุนที่อยู่ในเมือง ชาวนาสามารถสร้างกำไรได้มากกว่าทุน มีรายได้มากกว่ารายจ่าย นั่นก็เท่ากับว่า เงินที่รัฐอัดไปเป็นตัวโอนเพื่อดึงรายได้นำมาสู่ท้องถิ่น
นอกจากนั้น บางหมู่บ้านมีคนแค่ 60 ครัวเรือน หรือบางที่มีคนแค่ 80 คน แต่ได้เงินกองทุน 1 ล้านบาท ถามว่าตัวเงินมันสอดคล้องกับจำนวนประชากรไหม มีการพิจารณาหรือไม่ว่าควรจะจัดสรรเงินในปริมาณเท่าใด
ในสมัยที่เคยเป็นที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจพรรคไทยรักไทย เรื่องนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ปีแรกผมมองเห็นปัญหาแล้วว่ามันคืออะไร เห็นทางแก้แล้วว่าต้องหาวิธีการกำกับเงินเพื่อให้มีการตรวจสอบว่าเงิน 1 บาทจะถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง จะเกิดดอกออกผลอย่างไร ทำโครงการกำกับ อย่างน้อยก็ต้องมีคณะกรรมการกำกับว่าเงินทำอะไรบ้าง แต่เค้าก็ไม่เอา เวลาผ่านมาคนต่างคิดว่าโครงการนี้สำเร็จเนื่องจากมียอดหนี้เสียน้อยมาก แต่ไม่มีใครสนใจว่าเงินที่เอามาใช้หนี้นั่นเอามาจากไหน ทั้งที่ความจริงชาวบ้านส่วนใหญ่นำเงินจากกองทุนอื่น หรือไปขายแรงงาน ให้ลูกส่งเงินมาให้ ถ้าสมมติว่ากองทุนหมู่บ้านมันช่วยเศรษฐกิจได้จริง นับจากปี 44-51 ก็7 ปีไปแล้ว ดังนั้นชาวนาควรมีรายได้มากกว่ารายจ่ายแล้ว แต่นี่กลับเป็นหนี้มากขึ้น เพราะรายจ่ายมากกว่ารายได้
ทั้งๆที่ทุกคนรู้ว่าการหาแหล่งทุนชุมชนยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูก ทำไมยังถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือวิธีการอื่นๆ
วิธีการนี้มันได้มาซึ่งการเกิดประสิทธิภาพของการได้เสียง ขณะที่ชาวนาเองก็ชอบ เพราะได้เงินมาง่ายๆ มันได้ผลที่การได้รับความนิยมมากกว่าผลผลิต น้อยคนที่จะสนใจว่าจุดสุดท้ายเงินไหลไปอยู่ที่ใคร เหมือนคุณดูดน้ำจากแม่น้ำเข้าไปในบ่อ แล้วมีคนดูดจากบ่อไปอีกที ซึ่งในที่นี้ชาวบ้านเปรียบเสมือนบ่อน้ำ ที่รัฐซึ่งเป็นแม่น้ำผันน้ำมาให้
ถ้าถามว่าแนวทางดังที่ว่ากันมาทั้งหมดนี้มาถูกทางไหม ก็ต้องย้อนกลับถามว่าถูกทางในเรื่องของอะไร ถ้าหวังจะได้คะแนนเสียงก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ชาวบ้านเองก็มีเงินมาหมุนใช้ พอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
ถ้าเป็นเช่นนั้น จากนี้ไปเงินกองทุนควรจะนำไปจัดสรรให้แก่คนกลุ่มไหน จึงจะเป็นการช่วยเหลือและเกิดประโยชน์
ต้องทำความเข้าใจว่าประชากรในภาคแรงงานก็จัดว่าเป็นคนกลุ่มรากหญ้า ตัวเลขบอกว่า 80% ของคนในภาคแรงงานเป็นคนในส่วนท้องถิ่น แต่เงิน 8 หมื่นกว่าล้านที่รัฐพยายามอัดให้แก่คนรากหญ้านั้นไม่เคยนำมาส่งเสริมในภาคแรงงานเลย ทั้งๆที่คนพวกนี้ส่วนใหญ่ต้องกลายเป็นหนี้นอกระบบ ต้องกู้เงินดอกเบี้ยร้อยละ 6-8 เพื่อส่งเงินให้พ่อแม่ที่บ้าน เอาไปใช้หนี้แก่กองทุนที่ยืมมาในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
คำถามคือแล้วเงินที่ชาวบ้านกู้มาเหล่านั้นหายไปไหน ถ้ามองในแง่ดีก็อาจจะหมดไปกับการเลี้ยงหลาน ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน แต่ถ้ามองในแง่ร้ายเงินเหล่านั้นหมดไปกับมอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นดีวีดี ซึ่งก็ต้องถามว่ามือถือนำไปช่วยในการผลิตในนาได้ไหม ถ้าใช่ก็ถือว่าเป็นทุน ถ้านำเงินซื้อรถไถ ซื้อยา ก็ถือว่าเป็นทุน แต่ถ้าไม่ใช่นั่นคือการสิ้นเปลือง
การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าหรือชุมชนควรจะเป็นอย่างไร
การกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนคือ เงินทุกบาทต้องไหลในชุมชนหลายๆรอบ ถ้าจากรัฐบาล ไปชาวนา เข้าสู่นายทุน แล้วจบ แบบนี้ไม่ใช่
ถ้าเงินไปเข้ามือนายทุนท้องถิ่นยังพอฟังได้ ถ้านายทุนท้องถิ่นไปจ้างแรงงานที่อยู่ในท้องถิ่น ก็ยังดี แต่ขณะนี้มันไม่ใช่ มันเป็นไปอย่างที่บอกคือเข้าสู่นายทุนที่อยู่ในเมือง ผ่านการซื้อสิ่งสิ้นเปลือง
การให้เงินไหลในชุมชนหลายๆรอบ ยกตัวอย่างเช่น มีเงินกองทุน 1 ล้านบาท มีคนกู้ไป 2 หมื่น นำไปซื้อพันธุ์ปลาจากหมู่บ้านใกล้เคียง นำมาเลี้ยง พอได้ปลาก็เอามาทำปลาสด ขายในหมู่บ้านหรือใกล้เคียง มีการแปรรูปปลา เกิดโรงงานแปรรูปปลา พอปลาหมด ก็นำไปซื้อลูกปลาใหม่ เป็นเช่นนี้หลายรอบ แต่จะมีกี่รายที่เป็นแบบนี้ อย่างน้อยๆ ถ้า ไม่ผ่านหลายรอบ เงินที่มีอยู่แล้ว ก็อย่าให้ออกชุมชน เช่น แทนที่จะซื้อปลากิน ก็ทำกินเอง ปลูกผักกินเอง แบบนี้ก็สามารถทำให้ทรัพย์สินไม่ออกไปจากชุมชน ซึ่งนี่คือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจแบบทุนนิยม มันถูกกระตุ้นได้ 2 ทางเท่านั้น คือกระตุ้นผ่านการบริโภคและการลงทุน การบริโภคโดยซื้อของใช้จ่าย การลงทุนก็คือ มีการซื้อวัตถุดิบ มีการจ้างแรงงาน แล้วต้องเกิดการไหลหลายๆรอบ เกิดการผลิตอย่างต่อเนื่องมีการเลี้ยงปลา ก็มีการผลิตบ่อปลา โรงงานผลิตปลาแห้ง โรงปลาร้า ว่ากันไป แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ ไอ้ที่บอกว่าชาวนา ปลูกข้าวกินเองมันไม่ใช่แล้ว มีแต่ปลูกข้าวเปลือก ไปขายแล้วซื้อข้าวมากิน กลายเป็นชาวนาขายข้าวเปลือกเพื่อไปซื้อข้าวสาร
ฉะนั้นเศรษฐกิจตอนนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยนายทุน ไม่ใช่ชาวนา ชาวนามีสภาพเหลือแค่ลูกจ้าง ทุกวันนี้ชนบทเสียเปรียบเงินที่ผันไปให้ชาวนา ถูกดูดกลับมาที่เมืองหมด
นอกจากมีการกำกับการใช้เงินแล้ว ถ้าต้องการนำเงินไปใช้ในการผลิตจริงๆ เราต้องทำให้ราคาผลผลิตนั้นสูงขึ้น เมื่อราคาผลผลิตสูงขึ้นก็คุ้มเงิน ทำให้มีมีรายได้สุทธิมากขึ้น เกิดรายรับมากกว่ารายจ่าย
แต่การเพิ่มราคาผลผลิตไม่ได้สามารถทำได้ง่ายๆ และกลไกในเรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ชาวนา
ถ้าทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้นไม่ได้ ก็ต้องทำให้ทุนต่ำ หาวิธีการที่ทำให้ต้นทุนต่ำ จนสามารถมีกำไร นี่คือหนทางที่ทำให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย มีรายได้สุทธิมากขึ้น
ถ้าราคาสินค้าทางการเกษตรสูงขึ้น ราคาสินค้าก็จะต้องแพงตาม เมื่อสินค้าแพง อาหารแพง ค่าแรงของแรงงานก็ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ก็ต้องเพิ่มผลผลิตมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้า ถึงบอกว่าควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน สมมติว่าแรงงานคนหนึ่งค่าจ้าง 100 บาทต่อวัน สามารผลิตสินค้าได้ 10 ชิ้น ราคาทุนต่อหนึ่งชิ้นจะอยู่ที่ 10 บาท แต่หากมีการพัฒนาฝีมือจนแรงงานคนเดิมสามารถผลิตสินค้าได้ 20 ชิ้นในเวลาและค่าแรงเท่าเดิม ก็จะทำให้ต้นทุนเหลือที่ชิ้นละ 5 บาท ทำให้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้า
เรื่องนี้ไม่มีมาตรการเร่งด่วนอะไรที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้ามีทิศทางดีขึ้น มันต้องไปทั้งระบบ ทั้งการแก้ปัญหาชีวิตชาวนา การมีโครงการกำกับการใช้เงิน การพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำควบคู่กันไป
นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งรัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรก ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 7 ตุลาคม 2551
- สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ การดูแลและจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นและสงเคราะห์ดูแลสังคมในชุมชน โดยจะเร่งรัดดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มีการบริหารจัดการที่ดี ผลักดันให้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและการจัดสรรงบประมาณตามขนาดประชากรให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้านและทุกชุมชนอย่างมีความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในระยะยาว
- สนับสนุนสินเชื่อรายย่อยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสานต่อโครงการธนาคารประชาชนเพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างทางเลือกและลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ สร้างผู้ประกอบการใหม่ และสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุน และพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการ คุณภาพมาตรฐานสินค้าและการตลาด เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการผลิตระหว่างชุมชน และเชื่อมโยงภาคเอกชนให้มี ส่วนร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน