กสม. เครือข่ายผู้หญิงจัดสัมมนา “การเข้าถึงความยุติธรรมของหญิงมุสลิมชายแดนใต้”
กสม. ร่วมเครือข่ายผู้หญิงจัดสัมมนา “การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้” แนะรัฐออกนโยบายป้องกันกฎของชุมชนละเมิดสิทธิผู้หญิง ย้ำองค์กรศาสนาร่วมยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเคารพการมีส่วนร่วม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ มูลนิธิผู้หญิง และสหภาพยุโรป จัดโครงการสัมมนาเรื่อง “การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ ตามกรอบวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 5 และ SDG 16” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล 25 พฤศจิกายน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไกทางศาสนา ตระหนักถึงความสำคัญของแนวปฏิบัติในการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงในจังหวัดชายภาคแดนใต้ ซึ่งสอดคล้องตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 5 เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ และเป้าหมายที่ 16 เรื่องความยุติธรรม เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2561 ณ ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอ “ข้อเสนอแนะการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่ผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญมานานและมีความซับซ้อนด้วยเหตุแห่งวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อที่ไม่ถูกต้องทางศาสนาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง
กสม. และองค์กรเครือข่ายตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการ “การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ในช่วง กสม. ชุดที่ 2 จนแล้วเสร็จในปี 2561 โดยมีการประมวลปัญหา ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และผู้นำศาสนา เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นางอังคณากล่าวว่า ปัญหาที่ผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ เช่น การถูกข่มขืนและถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ที่ข่มขืน หรือการบังคับให้ผู้หญิงและเด็กหญิงแต่งงานโดยไม่สมัครใจ โดยเมื่อเกิดปัญหาผู้หญิงมักถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายผิดจากการประพฤติตัวไม่เหมาะสม โดยที่ไม่มีโอกาสได้ชี้แจง เช่นกรณีการถูกข่มขืน ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนมักมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอายและเป็นเรื่องที่สมควรไกล่เกลี่ย และมักยุติปัญหาที่การให้ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ที่ข่มขืนตน นอกจากนั้นผู้หญิงยังเผชิญข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และอนามัยแม่และเด็ก เช่น มีความเชื่อเรื่องการขลิบอวัยวะเพศเด็กหญิงเมื่อแรกเกิดเพื่อลดความต้องการทางเพศของผู้หญิง ปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนของเด็ก รวมถึงการป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
ในรายงานข้อเสนอแนะในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเสนอแนะต่อกลไกศาสนา ข้อเสนอต่อฝ่ายปกครอง ภาคประชาสังคม เช่น การให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอปัญหาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง การออกระเบียบหรือกฎชุมชน ในเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงต้องสอดคล้องกับหลักการอิสลามเชิงบวกเพื่อป้องกันการกระทำรุนแรง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและเด็ก โดยกระทรวงมหาดไทยควรมีนโยบายมิให้กฎ/ระเบียบชุมชนที่ละเมิดสิทธิของผู้หญิงและเด็กเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวถึงประเด็นการตีความหลักศาสนาอิสลามซึ่งนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวผู้หญิงมุสลิมว่า สังคมมุสลิมไทยโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการนำหลักการทางศาสนาไปตีความให้เกิดช่องว่างในการกระทำความรุนแรงกับผู้หญิงจนกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งเป็นการตีความที่ผิดพลาด เนื่องจากหลักทั่วไปของศาสนาอิสลาม ผู้ชายมีภาระหน้าที่ในการอุปการะดูแลและปกป้องผู้หญิงในครอบครัว แต่มิใช่การตีหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงอย่างไม่มีเหตุผลดังที่ชายมุสลิมหลายคนเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ผู้ชายมุสลิมส่วนหนึ่งซึ่งมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ แต่กลับล้มเหลวในการดูแลครอบครัวเพราะเข้าใจว่าการกระทำละเมิดต่อผู้หญิงในครอบครัวไม่ถือเป็นบาป ด้วยเหตุนี้ข้อวินิจฉัยและการตีความที่ถูกต้องจากผู้นำทางศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นที่พึ่งสำคัญในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้างความเข้าใจให้แก่ชายมุสลิมตลอดจนผู้นำทางศาสนาว่าการปฏิบัติต่อครอบครัวด้วยความรุนแรง หรือการไม่เลี้ยงดูครอบครัวถือเป็นบาปและต้องได้รับการลงโทษ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 กล่าวว่า วันนี้ ประเทศไทยและประชาคมโลกเดินมาถึงครึ่งทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals - SDGs) ซึ่งตั้งเป้าว่าจะบรรลุผลในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดกับผู้หญิงมุสลิมเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 5 (ความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน) และ ข้อที่ 16 (การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ) โดยหวังว่าภาคประชาสังคมจะได้ร่วมกันติดตามดูว่าข้อเสนอแนะการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกนำไปดำเนินการในเชิงกระบวนการโดยภาครัฐอย่างไร ทั้งนี้ขอสนับสนุนให้สถาบันทางศาสนาเช่นสำนักจุฬาราชมนตรีทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและภาควิชาการต่อไปเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนความคิดและความเข้าใจที่ผิดในหลักศาสนาเพื่อให้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิงมุสลิมได้รับการแก้ไขต่อไปโดยเร็ว