จาก‘ทักษิณ’ถึง‘บิ๊กตู่’! เทียบชัด ๆ พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการเพิ่มขึ้นเท่าไหร่?
“…กระทั่งราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2561 ที่นับเป็นการแก้ไข ‘ขนานใหญ่’ อีกครั้ง โดยเพิ่มอัตราค่าเช่าบ้าน จากเดิมต่ำสุดได้เดือนละ 800 บาท เป็นเดือนละ 2,500 บาท และสูงสุดเดิมเดือนละ 4,000 บาท เป็นเดือนละ 6,000 บาท…”
หลายคนอาจทราบไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา ค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2561 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการพลเรือน ข้าราชการศาลยุติธรรม ข้าราชการธุรกิจการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการรัฐสภา ตำรวจ ทหาร ครูผู้ช่วย อาจารย์ เฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 2,500 - 6,000 บาท ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยปรับขึ้นประมาณ 1 พันบาท
โดยระบุสาเหตุสำคัญในการปรับปรุงอัตราค่าเช่าบ้านว่า เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระบบตำแหน่งระดับตำแหน่ง และบัญชีเงินเดือนของข้าราชการหลายประเภท ประกอบกับอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการมิได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระบบตำแหน่ง ระดับตำแหน่ง และบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตรานี้ พระราชกฤษฎีกานี้ (อ่านประกอบ : คลอด พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านขรก.ใหม่ ปรับขึ้นเฉลี่ยไม่เกิน2,500 - 6,000 บาท/เดือน)
แต่รู้กันหรือไม่ พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ มีการปรับปรุงแก้ไขกันมาแล้วหลายฉบับ โดยฉบับแรกเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยปี 2477 หรือกว่า 84 ปีมาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ชื่ออย่างในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีมีการปรับปรุงแก้ไข ‘ขนานใหญ่’ เกิดขึ้นในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547
เดือน ธ.ค. 2547 รัฐบาลนายทักษิณ ได้ออก พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ ฉบับแรก จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า พ.ร.ฎ.ว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ ที่ออกมาถึง 8 ฉบับ ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ประเด็นสำคัญคือ ในรัฐบาลนายทักษิณ มีการปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการฉบับใหม่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกัน
สาระสำคัญใน พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ระบุว่า โดยที่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยค่าเช่าบ้านที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาในการตีความและการวินิจฉัยสิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการ อีกทั้งเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของข้าราชการ จึงสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเบิกค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าซื้อ และค่าผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้เนื่องจากได้มีการปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ และข้าราชการอัยการ ฉบับใหม่เมื่อปี 2543-2544 จึงต้องปรับปรุงบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านให้สอดคล้องกับบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ฎ. ฉบับนี้
สำหรับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ข้าราชการครู ข้าราชการศาลยุติธรรม และข้าราชการธุรการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ตั้งแต่ระดับ 1 ถึงระดับ 9 ได้รับค่าเช่าบ้านไม่เกินเดือนละ 800 – 4,000 บาท ตามลำดับ
ส่วนข้าราชการตุลาการ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ได้รับค่าเช่าบ้านไม่เกิน 2,400 บาท/เดือน ตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาล ได้รับค่าเช่าบ้านไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้รับเงินเดือนชั้น 2 ได้รับค่าเช่าบ้านไม่เกิน 3,500 บาท/เดือน ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้รับเงินเดือนชั้น 3 ถึงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ได้รับค่าเช่าบ้านไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน
ข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ค่าเช่าบ้านไม่เกิน 2,400 บาท/เดือน ตำแหน่งอัยการจังหวัดผู้ช่วย-อัยการประจำกอง ค่าเช่าบ้านไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน ตำแหน่งรองอัยการจังหวัด-อัยการประจำกรม ค่าเช่าบ้านไม่เกิน 3,500 บาท/เดือน ตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำกรม-อัยการสูงสุด ค่าเช่าบ้านไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน
ข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับ พ.2 – ระดับ ส.6 ขึ้นไป อัตราค่าเช่าบ้านตั้งแต่ 800 – 4,000 บาท/เดือน
ข้าราชการทหาร ตั้งแต่ระดับ พ.2 – ระดับ น.6 ขึ้นไป อันตราเช่าบ้านตั้งแต่ 800-4,000 บาท/เดือน (อ่าน พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2547 ฉบับเต็ม คลิกที่นี่)
หลังจากนั้นมีการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีก 4 ฉบับ เช่น ในฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแก้ไขเนื่องจากมีข้อยกเว้นที่ข้าราชการจะไม่ได้รับค่าเช่าบ้าน หากเป็นกรณีได้รับคำสั่งให้เดินทางไปรับราชการในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก หรือกลับเข้ารับราชการใหม่ เป็นต้น หรือในฉบับที่ 4 พ.ศ. 2556 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แก้ไขให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่นที่โอนมาเป็นข้าราชการขอใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ด้วย เป็นต้น
กระทั่งราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2561 ที่นับเป็นการแก้ไข ‘ขนานใหญ่’ อีกครั้ง โดยเพิ่มอัตราค่าเช่าบ้าน จากเดิมต่ำสุดได้เดือนละ 800 บาท เป็นเดือนละ 2,500 บาท และสูงสุดเดิมเดือนละ 4,000 บาท เป็นเดือนละ 6,000 บาท
น่าสังเกตว่า พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2561 ดังกล่าว ถูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ในช่วงที่เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจะเกิดการเลือกตั้ง ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/