ปี 60 ขยัน เพิ่งประพฤติชั่วปี 61 ปลัด อบต.มีสิทธิ์ได้ 2 ขั้น?
"ทีมข่าวอิศรา" ได้เปิดข้อมูลการอนุมัติ "เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือโควต้าปกติ" สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2560
พูดง่ายๆ คือการขึ้นเงินให้ "2 ขั้นกรณีพิเศษ" ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ทำนองสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย
แต่ปัญหามาเกิดเพราะในจำนวนผู้ได้รับโบนัส 2 ขั้น มีชื่อ "ปลัด อบต." แห่งหนึ่งใน อ.เบตง จ.ยะลา ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต ผิดวินัยร้ายแรง ต้องไล่ออกจากราชการรวมอยู่ด้วย จนชาวบ้านร้านตลาดวิจารณ์กันให้แซ่ด
เรื่องนี้ต้องบอกว่าทำให้ร้อนระอุไปทั่ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้มีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ทั้งตามร้านน้ำชา ในแชทไลน์ และเฟสบุ๊ค
ประเด็นที่ตั้งคำถามกันมี 2 ประเด็นคือ
1.ปลัด อบต.คนนี้ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริตไปแล้ว เหตุใดจึงได้รับโบนัสขึ้นเงินเดือน 2 ขั้นเป็นกรณีพิเศษอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณสมบัติกันอย่างไร
2.เหตุใดจึงยังไม่มีการลงโทษทางวินัยร้ายแรงด้วยการให้ออกจากราชการ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อเดือน ก.ค.-ส.ค.61 ที่ผ่านมา ซึ่งตามกฎหมาย "ผู้บังคับบัญชา" หรือ "ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน" ของปลัด อบต. ในที่นี้คือผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา โดยมติของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดยะลา (ก.อบต.ยะลา) ต้องสั่งให้ออกจากราชการภายใน 30 วันตามมติ ป.ป.ช. โดยไม่ต้องมีการสอบสวนซ้ำอีก (ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 98)
แต่ปัจจุบันล่วงเลยมานานหลายเดือนแล้วก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ขณะที่ปลัด อบต.ยังใช้วิธียื่นอุทธรณ์มายังตัวเองในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา เพราะปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบต.อยู่ แล้วใช้หลักฐานการยื่นอุทธรณ์ตรงนี้ ยื่นขอความเป็นธรรมไปยัง ป.ป.ช.ด้วย
สาเหตุที่ "ปลัด อบต." ต้องปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบต. ก็เพราะนายก อบต.โดน ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนแล้ว แต่เป็นคนละเคสกันกับปลัด อบต.
จากคำถาม 2 ประเด็น มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องโดยตรงออกมาชี้แจง
เริ่มประเด็นแรกก่อน ทำไม ปลัด อบต.คนนี้ถึงได้รับการปูนบำเหน็จ เพิ่มขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ?
นายสมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ชี้แจงว่า ศอ.บต.เป็นหน่วยงานปลายทาง เพราะจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นว่ามีความเหมาะสมได้รับ 2 ขั้นกรณีพิเศษ แล้วเสนอชื่อมา รายชื่อทั้งหมด 555 คน อยู่ในปีงบประมาณ 2560 ส่วนความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้่มูลทุจริตกับปลัด อบต.รายนี้ มีการชี้มูลเมื่อปี 2561 จึงอาจได้รับการเสนอชื่อมาก่อนหน้าที่จะถูกชี้มูลโดย ป.ป.ช. แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานต้นสังกัดจะให้ ศอ.บต.ถอดถอนขั้นเงินเดือนที่ให้ไปแล้ว ก็ต้องร้องเรียนมาตามขั้นตอน แล้วทาง ศอ.บต.จะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
"เราต้องให้เกียรติทางจังหวัด เพราะจังหวัดก็มีหลักเกณฑ์อยู่ จังหวัดก็ส่งเรื่องต่อให้หัวหน้าส่วนราชการแต่ละอำเภอ แล้วอำเภอก็จะให้โควต้าไปแต่ละหน่วยงาน สมมติ อ.กรงปินัง ก็จะผ่านนายอำเภอ แล้วนายอำเภอก็ให้โควต้าไปที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการบริหารของโรงพยาบาล กรรมการก็จะพิจารณาว่าใครควรได้ ซึ่งเขาก็มีเกณฑ์อยู่แล้ว มีตัวชี้วัดอยู่ ศอ.บต.มีแค่นโยบายในการให้ขวัญกำลังใจ ก็ส่งไปให้จังหวัด ทางจังหวัดก็จะมีกระบวนการ เราต้องให้เกียรติ เพราะแต่ละจังหวัดมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน"
"หลักการทั่วไปคือผู้ที่จะได้รับการขึ้นเงินเดือนกรณีพิเศษ จะต้องเป็คนดี จะต้องขยันทำงาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งก็เป็นหลักการที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่หลักการของพื้นที่ พอกลับไปสู่หน่วยงาน เข้ากรรมการบริหารแล้ว หัวหน้าหน่วยงานต้องเซ็นรับรอง ส่วน ศอ.บต.ไม่รู้ เพราะข้าราชการมี 2-3 พันคน เราไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบทุกคน แต่ถ้าเจอว่าใครไม่เหมาะ ก็มีสิทธิ์ทำเรื่องมาที่ ศอ.บต. ให้เราทำหนังสือบอกผู้ว่าราชการจังหงัดเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าโอเคตามนี้ไหม เพราะอาจจะมีกรณีผิดพลาดเออร์เรอร์"
"การเออร์เรอร์ก็มี 2 ประเด็นอีก ประเด็นที่ 1 คือ ผู้ที่จะได้รับเลื่อนเงินเดือน 2 ขั้น ห้ามได้ซ้ำกันเกิน 2 ปี สมมติได้มา 2 ปีแล้วต้องเว้นปีหนึ่ง ถ้าเกิน หมกเม็ด ศอ.บต.จะไม่รู้ แต่หน่วยงานจะรู้ อย่างนี้เรียกว่าเออร์เรอร์ ก็ต้องท้วงติง ถ้ามีท้วงติงมา เราก็ไม่ให้ จังหวัดจะมีหน่วยงานของเขาในการตรวจสอบเบื้องต้นทุกๆ หน่วยงาน ผมไม่สามารถก้าวก่ายผู้ว่าฯได้ แต่ถ้าคุณรู้ว่าคนนี้ติดคดีอยู่ คุณก็สามารถทำเรื่องให้เลขาธิการ ศอ.บต.ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทางเราก็จะมีหนังสือต้นขั้วไปให้ผู้ว่าราชการจังหงัดตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบแล้วจริงตามที่มีการร้องเรียนมา ก็ยกเลิกได้ คนนี้ก็ไม่มีสิทธิ์ได้ ซึ่งเราสามารถยกเลิกได้ทั้งปีนี้และย้อนหลังก็ได้ด้วย เพราะทำผิดกติกา"
"ส่วนการเออร์เรอร์อีกอย่างหนึ่ง คือบางทีเขาเพิ่งชั่วปี 61 แต่ปี 60 เขาขยันอยู่ คนเราไม่ได้ชั่วตลอดเวลา แต่การให้ 2 ขั้นเราให้เป็นปีๆ อย่างกรณีนี้ ปีงบประมาณ 2560 ถ้าทำดีทั้งปี 60 ก็ได้ 2 ขั้น แต่ปี 61 คุณมาทำชั่ว คุณก็ไม่ได้ มันคนละเรื่อง ปี 61 ปลัด อบต.คนนี้อาจจะไม่ได้ เพราะมีคดีอาญาแล้ว เพราะการให้ 2 ขั้นจะให้ย้อนหลัง พอถึงปี 62 ก็จะมีหนังสือให้สำหรับปี 61 ฉะนั้นแต่ละคนไม่ได้ชั่วมาตั้งแต่เริ่มต้น" ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
สำหรับคำชี้แจงประเด็นนี้ มีข้อมูลโต้แย้งจากองค์กรตรวจสอบในพื้นที่ว่า ปลัดอบต.รายนี้ถูกร้องเรียนเรื่องการใช้งบดูงาน แต่ไม่ได้ไปดูงานจริง กลับนำเงินไปเที่ยวเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยถูกร้องเรียนกล่าวหาตั้งแต่ช่วงปี 59-60 ทำให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการสอบสวน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีการร้องไปที่ ป.ป.ช. วันที่ 13 ส.ค.60 ทาง ป.ป.ช.ก็มีคำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งโดยปกติ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ระหว่างถูกสอบสวน จะไม่มีสิทธิ์ได้รับการปูนบำเหน็จหรือเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ (สรุปก็คือเรื่องนี้มีมาก่อนปี 61 หน่วยงานต้นสังกัดไม่ควรเสนอชื่อปลัด อบต.คนนี้ เพราะถูกสอบอยู่)
ประเด็นคำถามที่ 2 เหตุใดปลัด อบต.คนนี้จึงยังไม่ถูกออกจากราชการ?
นายวิญญู สิงหเสม หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดยะลา ชี้แจงว่า เป็นเพราะมีการยื่นอุทธรณ์มติของ ป.ป.ช. ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 99 เปิดช่องว่าถ้าผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่ถูกชี้มูลความผิด มีหลักฐานใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงผลการชี้มูลได้ ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวน
แต่กรณีนี้มีประเด็นคือ ปลัด อบต.เซ็นเรื่องอุทธรณ์เอง เพราะปฏิบัติหน้าที่นายก อบต.อยู่ด้วย จึงต้องรอว่า ป.ป.ช.จะรับอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งเมื่อ ป.ป.ช.มีข้อสรุปออกมาชัดเจน ทางจังหวัดก็จะดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย
"ความเป็นมาของเรื่องนี้ คือมีคนร้องเรียนไปที่ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) จากนั้น สตง.ก็สั่งมาที่จังหวัด ทางจังหวัดก็ส่งเรื่องให้นายอำเภอตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีมูล จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย มีการลงโทษปลัดไปแล้ว ขณะเดียวกันก็มีการร้องไปที่ ป.ป.ช.ด้วย จากนั้นประมาณเดือน ก.ค.61 ป.ป.ช.ก็ชี้มูลความผิดว่าทุจริต ตามกฎหมาย ป.ป.ช. (มาตรา 98) กำหนดว่า ภายใน 30 วัน ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการทางวินัยตามมติ ป.ป.ช. แต่มีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.มาตราา 99 ให้หัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งในที่นี้ก็คือนายกอบต. ถ้าเห็นว่ามีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใหม่ที่เอามาต่อสู้ได้ ก็สามารถเสนออุทธรณ์ไปที่ ป.ป.ช.ได้ ทำให้ทางปลัด อบต.ทำเรื่องไปที่ ป.ป.ช. (โดยเสนอเรื่องผ่านนายก อบต. ซึ่งก็คือตัวเอง เพราะปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบต.อยู่)"
"นอกจากนั้น ปลัดอบต.ยังส่งเรื่องไปที่จังหวัด แจ้งว่าตอนนี้เขาอุทธรณ์ ป.ป.ช.อยู่ ทางจังหวัดก็ส่งเรื่องให้อนุฯวินัย (อนุกรรมการพิจารณาการดำเนินการทางวินัยและการให้ออกจากราชการ) ซึ่งมีรองผู้ว่าฯเป็นประธาน และได้หารือกัน ได้ความว่าถ้า ป.ป.ช.ได้รับข้อเท็จจริงใหม่ แล้วกลับมติว่าปลัด อบต.คนนี้ไม่ผิดวินัย่ร้ายแรง เราจะทำอย่างไร ถ้าอนุฯวินัยมีมติไล่ออกไปแล้ว ทางอนฯวินัยก็เลยให้หารือ 2 ประเด็นว่า 1.การที่ปลัด อบต.เซ็นอุทธรณ์เอง มีอำนาจหรือไม่ และ 2.จะให้จังหวัดทำอย่างไร เมื่อกฎหมาย ป.ป.ช.เปิดช่องให้อุทธรณ์ ถ้า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วไม่เป็นไปตามที่ชี้มูลครั้งแรก จังหวัดจะทำอย่างไร ก็หารือไปประมาณเกือบ 2 เดือนแล้ว ป.ป.ช.ก็แจ้งมาว่า เขาอยู่ในขั้นตอนเสนอเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ขณะนี้จึงยังไม่ได้บอกแนวทางมาให้"
"ฉะนั้นขณะนี้ปลัดอบต.จึงยังทำงานได้ เพราะยังไม่มีคำสั่งไล่ออก หรือลงโทษวินัยร้ายแรง เพราะ ป.ป.ช.รับเรื่องอุทธรณ์อยู่ ก.อบต.จึงยังมีมติอะไรไม่ได้ ถือว่าติดประเด็นข้อกฎหมาย สุดท้ายต้องรอ ป.ป.ช.แจ้งแนวทางมาว่าจะให้จังหวัดปฏิบัติอย่างไร" นายวิญญู อธิบาย
กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ หน่วยราชการด้วยกันยังไม่รู้ว่าจะหาข้อสรุปอย่างไร แต่ภาคประชาสังคมรอไม่ไหว ล่าสุด "ศูนย์เบตงต้านโกง" ได้เตรียมทำหนังสือถึงผู้ว่าฯยะลา เลขาธิการ ศอ.บต. รวมถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ให้จัดการเรื่องนี้โดยด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าราชการในจังหวัดอย่างมาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกแสดงขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ตัวเองของปลัด อบต. จากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
อ่านประกอบ : ปราบโกง? แจก 2 ขั้น "ปลัด อบต." โดน ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต!