กรมเชื้อเพลิงฯ จับมือ9หน่วยงานรัฐ-เอกชน ลงนาม MOUพัฒนาฐานข้อมูลน้ำมันดิบในไทย
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมกับ 9 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ลงนาม MOU การพัฒนาฐานข้อมูลน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย หาแนวทางแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรมชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารจาก 9 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมศุลกากร ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศลชร.) ในส่วนกองทัพเรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เพื่อร่วมบูรณาการฐานข้อมูลและพัฒนาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่าง มีประสิทธิภาพ
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรมชาติ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ถือเป็นการ บูรณาการในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐแลเอกชนทางแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการศึกษา และจัดทำข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวิเคราะห์ก้อนน้ำมันดินและคราบน้ำมัน เพื่อสนับสนุน การการบ่งชี้แหล่งที่มาของก้อนน้ำมันดิน และคราบน้ำมันในประเทศไทยบนพื้นฐานทางวิชาการภายใต้กรอบมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส รวมถึงเพื่อสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหา การรั่วไหลของน้ำมัน และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมทุกภาคส่วน ซึ่งการดำเนินงานร่วมกันครั้งนี้ จะใช้ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพื่อไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในส่วนการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจาก การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทุกพื้นที่อย่างเข้มงวดตลอดมา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมจะต้องดำเนินการในด้านการป้องกันและบำบัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลและตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อให้การดำเนินกิจการปิโตรเลียมสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน