โครงการบ้านล้านหลัง
วันที่ 20 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง) ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สำหรับ ค่าใช้จ่ายที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนวิสาหกิจของธนาคารอาคารสงเคราะห์ กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการ เป็นระยะเวลา 6 ปี วงเงินรวม 3,876.65 ล้านบาท ให้เป็นไปตามความเห็นสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังติดตามการดำเนินโครงการบ้านล้านหลังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non – Performimg Loans : NPLs) เพิ่มขึ้นในระบบ รวมทั้งกำกับให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์พิจารณาการอนุมัติสินเชื่อด้วยความละเอียดรอบคอบ เหมาะสม โดยคำนึงถึงการให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยมาก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อสร้างโอกาสและสนับสนุนประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่อยู่อาศัยได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้อย่างทั่วถึง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการอนุมัติสินเชื่อในโครงการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้มีที่อยู่อาศัยในลักษณะเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้ก่อนหน้านี้ เช่น โครงการบ้านประชารัฐ และโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เป็นต้น
2. เห็นชอบให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์แยกบัญชีมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล (Public Service Account : PSA) และไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non – Performimg Loans : NPLs) ที่เกิดจากการดำเนินโครงการเฉพาะกรณีที่ผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,000 บาท และมีการผ่อนปรนเกณฑ์ด้านรายได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการในการคำนวณตัวชี้วัดด้านความสามารถในการบริหาร NPLs เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมทั้งให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการฯ บวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสพนักงานได้
3. เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการแล้ว ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้ดำเนินโครงการจัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมดสำหรับกิจกรรม มาตรการหรือโครงการ และแจ้งให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและกระทรวงการคลังทราบ และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เสนอรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง) ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่กระทรวงการคลังเสนอมาในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชนให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และจัดซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย (Post Finance) ที่มีราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท เป็นของตนเอง โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ กลุ่มคนวัยทำงานหรือประชาชนที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการมีภาระค่าใช้จ่ายเกินตัว โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษและเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่ผ่อนปรนตามนโยบายรัฐบาล วงเงินโครงการรวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ระยะเวลากู้ยืม 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก
สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,000 บาท หรือดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ต่อเดือนเกิน 25,000 บาท รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,000 บาท อีกทั้งในกรณีที่ผู้กู้มีเอกสารแสดงรายได้เพื่อคำนวณความสามารถในการกู้ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ได้ ธอส. ได้กำหนดให้มีนโยบายที่จะผ่อนปรนพิเศษให้ เช่น กรณีที่ไม่มีหลักฐานทางการเงินเนื่องจากประกอบอาชีพอิสระ และมีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 25,000 บาท ให้ผู้กู้นำเอกสารหลักฐานรายได้และรายจ่ายค่าเช่าบ้านหรือการผ่อนชำระเงินดาวน์ไม่น้อยกว่า 12 เดือนมาประกอบการยื่นกู้ได้ หรือกรณีที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ได้ ก็สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ธอส. โรงเรียนการเงิน (โครงการที่ให้ความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย) เพื่อออมเงินอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 9 เดือน และสามารถมาขอกู้ในภายหลังได้เช่นกัน โดย ธอส. จะพิจารณาสมุดบัญชีเงินฝากหรือเอกสารในการจ่ายค่าเช่าบ้านหรือผ่อนชำระค่าสินค้า เพื่อนำมาคำนวณและพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งโดยปกติหากคนที่มีรายได้น้อยนำสมุดบัญชีเงินฝากไปยื่นกู้ธนาคารพาณิชย์อาจถูกปฏิเสธสินเชื่อได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางการเงินที่ชัดเจน
ดังนั้น การผ่อนปรนพิเศษของ ธอส. ในลักษณะนี้ จึงถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยให้ประชาชนได้มีบ้านเป็นของตนเอง และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่มุ่งเน้นสร้างความเป็นธรรมและ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ