ปรับปรุงแก้ไขกม.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ - การจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ
วันที่ 20 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ออกตามความในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษหรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการซึ่งได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญรวมกันทุกประเภทและรวมกับ ช.ค.บ. แล้ว ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มขึ้นอีกในอัตราเดือนละเท่ากับส่วนต่างของจำนวนเงิน 10,000 บาท หักด้วยจำนวนรวมของเบี้ยหวัดหรือบำนาญทุกประเภทและ ช.ค.บ. ที่ได้รับอยู่
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ คือ ขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มอีก 100,000 บาท จากเดิมให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 400,000 บาท เป็นให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับแต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยหากผู้รับบำนาญได้เคยขอรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว ให้ขอรับได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท