“กองทุนบัตรทอง” ก้าวสู่ปีที่ 17 ดูแลสิทธิสุขภาพประชาชน มีหลักประกันสุขภาพคุ้มครอง
“กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ก้าวย่างสู่ปีที่ 17 รุกดูแลสิทธิสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ มีหลักประกันสุขภาพคุ้มครองถ้วนหน้า เผยผลสำเร็จขับเคลื่อนผ่าน “ยุทธศาสตร์พัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 ฉบับ” บนความร่วมมือองค์กร หน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ หนุนการพัฒนาประเทศ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ปีนี้ครบ 16 ปีและก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 ของการก่อตั้ง สปสช.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 โดยมี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้ก่อตั้ง สปสช.และเป็นเลขาธิการ สปสช.คนแรก นำมาสู่การปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ และจากจุดเริ่มต้น “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สปสช.ได้ขับเคลื่อนโดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรอบแนวทางดำเนินการตามความเห็นชอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
ตลอดระยะเวลา 16 ปีถึงวันนี้ สปสช.ได้ดำเนินกองทุนฯ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาถึง 4 ระยะด้วยกัน ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ปี 2546-2550 เส้นทางเดินสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีจุดเน้นสร้างความครอบคลุมด้านหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนชาวไทย ผ่านกลไกการมีส่วนร่วม การสร้างความรู้ ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ทั้งของประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข หนุนเสริมการจัดระบบบริการ เข้าถึงสะดวกและทั่วถึง ระยะที่ 2 ปี 2551 – 2554 จุดเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารงบประมาณ โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน คุ้มครองสิทธิทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม และพัฒนาระบบบริหารจัดการ สปสช.ให้เข้มแข็ง
ระยะที่ 3 ปี 2555 – 2559 จุดเน้นมุ่งสู่ความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ มีมุมมองความครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยอย่างถ้วนหน้า ทุกภาคส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ และความสอดคล้องกลมกลืนกันในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและบุคลากรของระบบ และปัจจุบันระยะที่ 4 ปี 2560-2564 เน้นพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน เป็นตัวแทนประชาชนในการจัดหาบริการที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมตามความจำเป็น
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ความมุ่งมั่นของ สปสช.ที่ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องนี้ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด ปี 2561 ได้ครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 99.94 มีอัตราการรับบริการสุขภาพผู้ป่วยนอกจำนวน 170.30 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในจำนวน 6.05 ล้านครั้ง โดยสิทธิประโยชน์การรักษาและบริการสาธารณสุขได้ครอบคลุมบริการที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายสูง อาทิ บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์, บำบัดทดแทนไตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การเข้าถึงยาในบัญชียา จ.2 ที่เป็นกลุ่มยาราคาแพง โดยเฉพาะยารักษามะเร็ง และกลุ่มยากำพร้า การปลูกถ่ายอวัยวะและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อน้ำเหลือเฉพาะ เป็นต้น
การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น อาทิ กองทุนระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้อนถิ่นหรือพื้นที่ และการดูแลผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เข้าถึงบริการ เป็นต้น รวมไปถึงการดำเนินการผ่านโคงการต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรมการจัดการเพื่อผู้ป่วยที่มีปัญหาเข้าการรักษา เช่น โครงการผ่าตัดหัวใจ โครงการผ่าตัดตาต้อกระจก และโครงการบริการทันตกรรมฟันเทียม รวมถึงขยายการดูแลกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงบริการ ทั้งกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้ โดยมีองค์กร หน่วยงาน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงการบริหารจัดการที่เป็นจุดบกพร่องเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเอื้อต่อการให้บริการและดูแลประชาชน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในปี 2562 นับเป็นปีที่ 17 ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ยังคงมุ่งมั่นสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางสุขภาพให้กับประชาชน โดยปีนี้ได้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การปรับแนวทางการจ่ายชดเชยผู้ป่วยใน การปรับรายการจ่ายชดเชยตามผลงาน เพิ่มการเข้าถึงบริการในหญิงตั้งครรภ์ เพิ่มสิทธิประโยชน์ยากดฮอร์โมน และปรับวัคซีนป้องกันรวม 5 โรค เป็นต้น
“16 ปี ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการยอมรับจากประชาชนและในเวทีโลก นอกจากทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศแล้ว ยังได้รับการยกย่องในด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บนความโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล นำมาสู่การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ลดยากจนจากภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาและความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยของการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว