เมื่อกฤษฎีกาฯ ชี้ขาด การเรียกค่าใช้จ่ายสอบบัญชี สตง.จากปตท. ถือเป็นการขัดกันแห่งผลปย.
"... ค่าใช้จ่าย อันได้แก่ ค่าล่วงเวลาในการทำงาน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ สตง. เห็นได้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่หน่วยรับตรวจจะต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สตง.โดยตรง เสมือนเป็นพนักงานของหน่วยรับตรวจ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยตรงจากหน่วยรับตรวจ..."
การเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสอบบัญชี ของ สำนักงานการตรวจเงิน (สตง.) จาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานรับตรวจ ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ ภายหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้เป็นทางการ ได้ข้อยุติและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้มีคำวินิจฉัยความเห็นทางกฎหมายชี้ขาดว่า ค่าใช้จ่าย อันได้แก่ ค่าล่วงเวลาในการทำงาน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ สตง. เห็นได้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่หน่วยรับตรวจจะต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สตง.โดยตรง เสมือนเป็นพนักงานของหน่วยรับตรวจ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยตรงจากหน่วยรับตรวจ
ส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้น เมื่อ สตง. ได้ให้บริการในการตรวจสอบบัญชีและการตรวจสอบหรือกระทำอื่น จึงย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนตามที่ มาตรา 32 (3) ได้ให้อำนาจไว้ แต่ในการออกระเบียบประกาศ หรือข้อบังคับเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ย่อมต้องคำนึงถึงความยากง่าย ปริมาณที่ต้องทำ และระยะเวลาที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นจำนวนค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน สำหรับหน่วยรับตรวจที่แตกต่างกันได้ แต่เมื่อได้รับค่าธรรมเนียมแล้วเงินค่าธรรมเนียมนั้นย่อมตกเป็นรายได้ของกองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน มิได้ตกได้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่กับหน่วยรับตรวจโดยตรง
โดยการตอบความเห็นข้อกฎหมายเรื่องนี้ ของ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวใน สตง. ว่า เป็นผลมาจากในการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ครั้งที่ 24/2561 เมื่อวันที่อังคารที่ 10 เม.ย.2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องกรณีห้ามมิให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสอบบัญชีจากหน่วยงานรัฐตรวจอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งที่ประชุม คตง. พิจารณาแล้วมีความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ ว่า เนื่องจากมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่ด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มิได้ใช้ถ้อยคำว่า "ค่าใช้จ่ายในการสอบบัญชี" จึงทำให้ตีความไปได้ว่า มีความหมายรวมถึงค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าล่วงเวลาการปฏิบัติงาน หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ด้วย
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนแนวทางปฏิบัติเรื่องนี้ คตง.จึงมีความเห็นให้ สตง. หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือข้อกฎหมายให้เกิดความชัดเจน เรื่องกรณีห้ามมิให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสอบบัญชีจากหน่วยงานรับตรวจอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามนัยมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ใน 2 ประเด็นหลัก คือ
1. กรณีห้ามมิให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสอบบัญชีจากหน่วยงานรับตรวจอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามนัยมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 นั้น "ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสอบบัญชี" หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายเรื่องใดบ้าง
2. หากสตง. เรียกเก็บในลักษณะของค่าธรรมเนียมจากหน่วยรับตรวจ แล้วนำเงินมาเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อเบิกจ่ายในการดังกล่าว ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการบริหารจัดการกองทุน และการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สิยของกองทุน พ.ศง2561 จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่
ขณะที่ในฝั่ง ปตท. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็นทางกฎหมายเรื่องนี้ เช่นกัน
โดย ปตท. ระบุว่า ที่ผ่านมาที่ประชุมผู้ถือหุ้น ปตท. ได้มีการตั้ง สตง. เป็นผู้สอบบัญชี ของปตท. และมีการจ่ายค่าสอบบัญชี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบบัญชีมาโดยตลอด ซึ่งค่าสอบบัญชีดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนกรณีที่ สตง. ได้ตรวจสอบงบการเงินและสอบทานข้อมูลทางการเงินระหว่างกาล รวมทั้งรับรองคำแปลงบการเงิน โดยไม่รวมค่าใช้จ่าย อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าล่วงเวลาในการทำงานเพื่อให้งบการเงินของบริษัทเสร็จตามกำหนดเวลา ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ สตง. ในการเข้าสังเกตการณ์ตรวจนับสินค้า และทรัพย์สินของปตท. ประจำปี ซึ่ง ปตท. ได้จ่ายให้แก่ สตง.หรือเจ้าหน้าที่ สตง.ต่างหากจากค่าสอบบัญชี โดยขณะนั้น สตง. มีกฎหมายให้อำนาจในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตรวจสอบบัญชี มาตรา 15(9) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และระเบียบคตง. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดค่าธรรมเนียมตรวจสอบบัญชีและค่าธรรมเนียมอื่นในการปฏิบัติงานของ สตง. พ.ศ. 2545
ต่อมาในปี 2561 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ ปตท. ได้แต่งตั้ง สตง. เป็นผู้สอบบัญชีเช่นเดิม แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว ได้บัญญัติห้ามผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการสอบบัญชีเรียกค่าใช้จ่ายจากหน่วยรับตรวจอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การแต่งตั้งสตง. เป็นผู้สอบบัญชีดังกล่าว จึงเป็นการแต่งตั้งโดยไม่มีการจ่ายค่าสอบบัญชีให้
อย่างไรก็ดี การสอบบัญชี ของสตง. ในปี 2561 ต้องดำเนินการรับรองการแปลงบการเงินให้กับ ปตท. รวมถึงอาจมีความจำเป็นต้องดำเนินการตรวจสอบงบการเงิน นอกเวลาปฏิบัติงานปกติ เพื่อให้เสร็จทันตามระยะวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อาจทำให้ ปตท. ต้องจ่ายค่ารับรองการแปลงบการเงิน ซึ่งแต่เดิมรวมอยู่ในค่าธรรมเนียมสอบบัญชี รวมถึงค่าปฏิบัติงานล่วงเวลาให้ สตง. หรือเจ้าหน้าที่ สตง. ด้วย
ปตท.จึงขอหารือว่า ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสอบบัญชี อาทิ ค่ารับรองการแปล งบการเงิน ค่าล่วงเวลา ในการทำงานเพื่อให้งบการเงินของบริษัทเสร็จภายในกำหนด ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ สตง.ประจำปี เป็นค่าใช้จ่ายที่ สตง.สามารถเรียกเก็บได้หรือไม่ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่เข้าข่ายต้องห้าม ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561
เบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้นำข้อหารือของ สตง.และปตท. มาร่วมกัน และมอบหมายให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) วินิจฉัยข้อกฎหมายพร้อมกัน ว่า โดยที่มาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมอบหมายใช้หน้าที่และอำนาจตามมาตรา 53 และ 54 ดำเนินการสอบบัญชี โดยมีการเรียกค่าใช้จ่ายจากหน่วยรับตรวจ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวจำกัดอยู่แต่เฉพาะค่าใช้จ่าย อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" เท่านั้น หากมีค่าใช้จ่ายใดที่้ไม่มีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ย่อมสามารถเรียกเก็บได้
แต่สำหรับค่าใช้จ่ายที่ยกตัวอย่างมา อันได้แก่ ค่าล่วงเวลาในการทำงาน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ สตง. นั้น เห็นได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่หน่วยรับตรวจจะต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สตง.โดยตรง เสมือนเป็นพนักงานของหน่วยรับตรวจ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยตรงจากหน่วยรับตรวจ
สำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้น โดยที่มาตรา 32(3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการปฏิบัติงานของ สตง. ได้ ประกอบกับคำว่า "ค่าธรรมเนียม" หมายถึงเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่เรียกเก็บตามกฎหมายเนื่องจากให้บริการของหน่วยงานของรัฐ
เมื่อ สตง. ได้ให้บริการในการตรวจสอบบัญชีและการตรวจสอบหรือกระทำอื่นจึงย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนตามที่ มาตรา 32 (3) ได้ให้อำนาจไว้ โดยในการออกระเบียบประกาศ หรือข้อบังคับเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ คตง. ย่อมต้องคำนึงถึงความยากง่าย ปริมาณที่ต้องทำ และระยะเวลาที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นจำนวนค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน สำหรับหน่วยรับตรวจที่แตกต่างกันได้ และเมื่อได้รับค่าธรรมเนียมแล้ว เงินค่าธรรมเนียมนั้นย่อมตกเป็นรายได้ของกองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน มิได้ตกได้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่กับหน่วยรับตรวจโดยตรง
ส่วนการจะนำเงินจากกองทุนดังกล่าว ไปใช้จ่ายในเรื่องใดได้บ้างย่อมเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 80 ซึ่งได้รวมถึงค่าใช้จ่ายกรณีงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่เพียงพอหรือไม่อาจเบิกจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินได้หรือแม้แต่ค่าตอบแทนพิเศษได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการจ่ายกันในระหว่าง สตง. และเจ้าหน้าที่ สตง. ไม่เกี่ยวกับผู้รับตรวจแต่อย่างใด
ล่าสุดมีรายงานข่าว สตง. แจ้งว่า ขณะนี้ ผู้บริหารระดับสูงสตง. ได้แจ้งเวียนบันทึกความเห็นทางกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการ สตง. ทุกคนถือแนวทางปฏิบัติ โดยเคร่งครัดแล้ว
ดังนั้น ข้อถกเถียงเรื่องการเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสอบบัญชี ของ สตง. จาก ปตท. ในฐานะหน่วยงานรับตรวจ ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ จึงได้ยุติแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายที่ชัดเจน รวมถึงหน่วยงานรับตรวจแห่งอื่นๆ ด้วย
และนั้นอาจทำให้ข้อครหาที่ว่าด้วยเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยตรงจากหน่วยรับตรวจ ของ สตง. จากช่องทางนี้ น่าจะหมดสิ้นไปโดยปริยายด้วย?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/