กสศ.เปิดตัวทุนนวัตกรรมสายอาชีพ ประเดิมปีแรก2,500ทุน
กสศ.เปิดตัวทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปฏิรูปการเรียนการสอน สร้าง“นวัตกรสายอาชีพ” ประเดิมปีแรก 2,500 ทุน ผ่านสถาบันการศึกษา เริ่มปีการศึกษา 62 นักวิชาการฟันธง ประเทศไทยจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษากองทุนฯ และศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน”
นายสุภกร กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเรียนต่อสูงกว่าม.ปลายเพียงร้อยละ 5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยครอบครัวทั่วไปที่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 32 กสศ.จึงมีโครงการ“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเรียนต่อสายอาชีพและมีงานทำทันทีเมื่อจบการศึกษา ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเป็นโครงการลักษณะพันธมิตรกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น
“ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนอกจากจะสร้างกำลังคนรุ่นใหม่สายอาชีพราวรุ่นละ 2,500 คน แล้วยังเป็นการสร้างโอกาสสู่การศึกษาระดับสูงแก่นักเรียนที่มีศักยภาพแต่มีอุปสรรคทางรายได้ของครอบครัว โครงการยังมุ่งปฏิรูปการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาสายอาชีพ ให้สามารถผลิตกำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์4.0” นายสุภกร กล่าว
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กระทรวงแรงงานประมาณการว่าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC สิบปีจากนี้ (2561-2570) ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานสายอาชีพเป็นอันดับสูงสุด ร้อยละ44 จำนวนราว 80,000 คน ขณะที่ต้องการวุฒิปริญญาตรีราวร้อยละ33กสศ. มีภารกิจหลักในการสร้างเสริมโอกาสแก่เด็กและเยาวชนผู้ขาดโอกาสซึ่งมีจำนวนถึงรุ่นละ150,000 คน ผลการวิเคราะห์คะแนน PISA พบว่านักเรียนช้างเผือกของไทยมีประมาณ 3% แต่หากขจัดอุปสรรคด้านทุนการศึกษาจำนวนนักเรียนช้างเผือกจะเพิ่มขึ้นเป็น18%กสศ.จึงสนับสนุนทุนให้นักเรียนที่มีศักยภาพสูงเรียนต่อสายอาชีพ โดยในขั้นตอนแรกจะคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่สนใจและมีแผนดำเนินงานที่ดีที่สุดก่อน จากนั้นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะพัฒนาการเรียนการสอน เช่น ระบบทวิภาคี ระบบดูแลนักศึกษา เป็นต้น เพื่อจัดรับสมัครนักศึกษาให้ทันในปีการศึกษา2562
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ กล่าวว่า ในแง่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ กสศ.ได้คำนวณ ผลตอบแทนของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง จากนักเรียนผู้รับทุน 2500 ทุน ในปีแรก จากข้อสมมติฐานว่าผู้รับทุนทุกคนทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ60ปี จะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV ) ประมาณ10,000 ล้านบาท หรืออัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return อยู่ที่ร้อยละ10 โครงการนี้ยังสร้างผลประโยชน์ทางอ้อมให้แก่ ผู้รับทุน เช่น ผู้รับทุนมีความพึงพอใจในงานเพิ่มขึ้น อัตราการออกจากการศึกษาของสายอาชีพน้อยกว่าการศึกษาประเภทอื่น และมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ผลประโยชน์ในแง่ของนายจ้าง ผลลัพธ์ของโครงการจะสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตของบริษัทให้สูงขึ้น และประหยัดต้นทุนของบริษัทในการสรรหาแรงงานทักษะ และลดอัตราการเข้าออกของพนักงานในบริษัท ขณะที่แง่เศรษฐกิจภาพรวม จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐ การเพิ่มรายได้ภาษี และลดปัญหาความยากจน
“โครงการนี้ถือว่ามีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นการเกาถูกที่คัน ผลิตคนป้อนตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 มากขึ้น”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า สังคมไทยยังยึดติดกับภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะในเรื่องความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย การสูญเสียชีวิต ตรงนี้ทำให้สัดส่วนการเรียนสายอาชีพถดถอยลงมาโดยตลอด ประมาณร้อยละ30 เมื่อเทียบกับสายสามัญศึกษาที่อยู่ประมาณ ร้อยละ 60-70 สวนทางกับทิศทางการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์4.0 ทั้งที่เส้นทางหลักที่จะเป็นกระดูกสันหลังของประเทศในทศวรรษหน้า คือการเรียนในสายสัมมาอาชีพ แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องนี้มาก ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ.จึงเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่จะช่วยปฎิรูประบบการเรียนการสอนสายอาชีพให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาไปที่สถาบันการศึกษาให้เป็นสถาบันเฉพาะทาง มีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ และจุดเด่นอีกเรื่องของโครงการ คือ การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่มีคุณภาพสูง เน้นการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติงานจริง ผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการ ชุมชนท้องถิ่น นักศึกษาจะมีทักษะด้านปฏิบัติ เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีและมีโอกาสจ้างงานสูง ซึ่งมีสถาบันของเอกชนกับรัฐหลายแห่งเป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างที่ดี ในการผลิตนักศึกษาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานกับระบบโรงงานอุตสาหกรรม
"โครงการนี้จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะ ที่สังคมมองว่านิยมใช้ความรุนแรง เป็นเด็กประเภท2ไม่มีแก่นสาร ให้เป็น นวัตกรสายอาชีพ เด็กกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นคนที่ตอบโจทย์อนาคตของประเทศ กสศ.จะเป็นตัวหนุนเสริมสำคัญในการยกระดับคุณภาพกำลังคนสายอาชีพเวลานี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
สำหรับ“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” จะสนับสนุนงบประมาณผ่านสถาบันการศึกษาประกอบด้วย ทุนสำหรับพัฒนาสถาบันการศึกษาที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามคุณภาพ (Competitive Grants) ประมาณ50แห่ง ซึ่งต้องพัฒนาหลักสูตรที่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ สายอาชีพที่กำลังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงานในท้องถิ่นหรือจังหวัด รวมถึงสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจำนวน 2,500 ทุนต่อปีที่ผ่านการคัดเลือกโดยสถาบันการศึกษา โดยเปิดกว้างให้สถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาสายอาชีพจากทุกสังกัด ทั้งนี้กำหนดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่ วันที่ 15-28 ธันวาคม 2561และสามารถติดตาม ข่าวสารที่ www.EEF.or.th หรือ สายด่วน โทร 02-079-5475 กด2ในวันและเวลาราชการ