เปิดงานวิจัย 'เบลล่า' ชำแหละกลยุทธ์ผู้จัดละคร Homemade ฉบับ 'แอน ทองประสม'
"...การบริหารการผลิตละครโทรทัศน์ที่ดีและมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ นั้น ผู้บริหารควรต้องมีความรู้ มีประสบการณ์เกี่ยวกับละครโทรทัศน์เป็นอย่างดี รวมถึงมีเครือข่ายความสัมพันธ์ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว เพื่อสามารถนำประสบการณ์ และความสัมพันธ์มาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน..."
เป็นดารานักแสดงสาว ที่กำลังโด่งดังสุดๆ คนหนึ่งในวงการบันเทิงไทยยุคปัจจุบัน สำหรับ "เบลล่า- ราณี แคมเปน" นางเอกลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่ผลงานการแสดงทั้งละคร เอ็มวี ได้รับการยอมรับประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ผลงานวิจัยจบการเรียนปริญญาโท หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสื่อมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2558 ของ ดารานักแสดงสาวรายนี้ น่าสนใจอย่างมาก
โดยหัวข้อวิจัยที่เธอเลือกศึกษา คือ "กลยุทธ์การบริหารงานของบริษัท ทอง เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด" ของ แอน ทองประสม ดารานักแสดงรุ่นพี่มากฝีมือ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการบันเทิงเมืองไทยเช่นกัน
"เบลล่า- ราณี แคมเปน" ให้ที่มาและความสำคัญของปัญหาในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ว่า ละครโทรทัศน์ถือเป็นรายการที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการนำเสนอหลากหลายประเภท มีช่องทางการออกอากาศหลายสถานีโทรทัศน์ ทำให้ผู้ชมเข้าถึงได้ง่าย และสร้างรายได้ที่มีมูลค่าสูงให้กับสถานีโทรทัศน์
โดยในส่วนของช่อง 3 เป็นสถานีโทรทัศน์เสรีขนาดใหญ่ มีบริษัทผลิตละครหลายบริษัท แต่ก็ยังคงเปิดรับและให้โอกายบริษัทรับผลิตละครรายใหม่ เข้ามานำเสนอผลิตละครให้กับสถานีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (ช่วงทำวิจัยปี 2558) มีผู้จัดละครจำนวนมากกว่า 40 ราย เป็นบริษัทผลิตละครโทรทัศน์รายใหม่ ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2555 หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ทองเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริหารงานโดย แอน ทองประสม ดารานักแสดงดังช่อง 3 ที่ผันตัวเองจากนักแสดงมาเป็นผู้บริหารในตำแน่งกรรมการหรือจัดละครโทรทัศน์ และผลงานละครของบริษัทก็ได้รับความนิยมประสบความสำเร็จ คว้ารางวัลมาหลายเวที
เบลล่า จึงมีความสนใจที่จะศึกษากลยุทธ์การบริหารงานของบริษัท ทั้งการบริหารงานองค์กรและการบริหารผลิตละครโทรทัศน์ เพื่อเป็นความรู้และประโยน์ต่อผู้จัดละครหรือผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ไปประโยชน์ ในการบริงานให้ประสบความสำเร็จต่อไป
เธอตั้งคำถามนำวิจัย ไว้ 4 ประเด็นหลัก คือ ผู้บริหารบริษัททองฯ มีแนวทางการในบริหารงานองค์การอย่างไร? มีแนวทางในบริหารการผลิตละครโทรทัศน์แต่ละขั้นตอนอย่างไร? มีกลยุทธ์ในการบริหารองค์การของบริษัทอย่างไร? มีกลยุทธ์ในการผลิตละครโทรทัศน์ในแต่และขั้นตอนอย่างไร?
ในงานวิจัยระบุระยะเวลาในการศึกษาเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม - 30 มิ.ย. 2559 (ไม่ตรงกับปี 2558)
เนื้อหาในบทคัดย่อระบุว่า ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ให้ข้อมูล หลัก (Key Informant) ประกอบด้วย บุคลากรของบริษัท ทอง เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด คือ ผู้บริหารบริษัท ทอง เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด จำนวน 1 ราย และกลุ่มประสานงาน หรือผู้ปฏิบัติงานในการผลิตละครโทรทัศน์ จำนวน 10 ราย รวมถึงการวิเคราะห์จากเอกสาร (DocumentaryAnalysis)
ผลการศึกษาพบว่า บริษัท ทองฯ มีการบริหารงานองค์การ ได้แก่ 1) การบริหารงานบุคคล โครงสร้างองค์กรขนาดเล็ก จ้างพนักงานประจำเฉพาะส่วนที่จำเป็น และเน้นการจ้างงานพนักงานอิสระ (Freelance) 2) การบริหารงบประมาณ มีการจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงานหรือทีมงาน ค่าเช่าซื้อเครื่องแต่งกาย และค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้า 3) การบริหารเวลา เตรียมการถ่ายทำ (Pre – Production) ใช้ระยะเวลาในการผลิตละครโทรทัศน์ต่อเรื่องประมาณ 2 ปี โดยเป็นการคัดเลือกบทประพันธ์ทำบทละครโทรทัศน์ประมาณ 6 – 7 เดือน ถ่ายทำละครโทรทัศน์ (Production) ประมาณ 8 – 9 เดือน ท้ายสุดคือการ ตัดต่อละครโทรทัศน์และควบคุมเพลงประกอบละครโทรทัศน์ (Post – Production) ประมาณ 3 – 5 เดือน โดยในการบริหารการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัททองฯ มีการผลิต ละครโทรทัศน์ตามขั้นตอนของแนวคิดเกี่ยวกับการผลิตรายโทรทัศน์ ซึ่งประกอบด้วย 1) ขั้นตอนการเตรียมงาน (Pre – Production) 2) ขั้นตอนการถ่ายทำ (Production) และ 3) ขั้นตอนการตัดต่อ(Post – Production)
จากการศึกษากลยุทธ์การบริหารงานของบริษัททองฯ พบว่ามีกลยุทธ์การบริหารงานองค์การ รวม 7 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1) กลยุทธ์ทอง Homemade คือการวางโครงสร้างองค์กรขนาดเล็ก และบริหารในลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือน 2) กลยุทธ์เล็ก ๆ ใช่ ใหญ่ ๆ ทอง (ยัง) ไม่ทำ คือการเลือกผลิตละครโทรทัศน์ที่ไม่เกินกำลังขององค์การ 3) กลยุทธ์คนรู้ใจของทอง คือมีการคัดเลือกพนักงานอิสระบางส่วนจากผู้ที่รู้จักคุ้นเคยหรือ เคยร่วมงานกันมาก่อน 4) กลยุทธ์ศรีทนทองได้ คือบุคลากรในองค์การที่มีความอดทนในการทำงานและแรงกดดัน 5) กลยุทธ์หมูไปไก่มา คือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างองค์การกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์การ
6) กลยุทธ์ทองผสมแผนที่ คือการคัดเลือกสถานที่ถ่ายทำต่างสถานที่กัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเช่าสถานที่ และ 7) กลยุทธ์ทองบุกถึงที่ คือผู้บริหารมีการบริหารงานเชิงรุก เข้าถึงการทำงานทุก ๆ ฝ่าย ในส่วนของการบริหารการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัท ทองฯ จำกัด พบว่ามีกลยุทธ์การบริหารการผลิตละครโทรทัศน์ รวม 7 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1) กลยุทธ์ทองจัดทุกกระเบียดนิ้ว คือลักษณะการทำงานของผู้จัดละครโทรทัศน์รวมถึงควบคุมงานทุกฝ่ายด้วยตนเอง 2) กลยุทธ์รักของทองชนะทุกอย่าง คือละครโทรทัศน์ทุกเรื่องของบริษัทฯ จะมีแก่นของเกี่ยวกับความรัก (Love Story) 3) กลยุทธ์เรื่องเก่า ทองเล่าใหมํ คือมีการเลือกนำละครมาผลิต ซ้ำมาจากการเป็นละครที่ผู๎จัดละครโทรทัศน์เคยร่วมแสดงหรือเป็นเรื่องที่สนใจ 4) กลยุทธ์ทองสร้างอาชีพ คือเน้นให้ตัวละครหลักมีอาชีพอย่างชัดเจน เพื่อความสมจริงของตัวละคร 5) กลยุทธ์แอนทองเคลียร์เอง คือผู้จัดละครโทรทัศน์ประสานงานหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำด้วยตนเอง
6) กลยุทธ์แอนทองแนะแนว คือผู้จัดละครโทรทัศน์แนะนำการแสดงให้กับนักแสดง โดยอาศัยประสบการณ์ทางการแสดงละครโทรทัศน์ 7) กลยุทธ์ทองจิตสัมผัส คือตัดต่อละครโทรทัศน์โดยการพิจารณาผ่านประสบการณ์ของผู้จัดละครโทรทัศน์และการคาดเดาความนิยมของผู้ชมละครโทรทัศน์ในขณะนั้น
ทั้งนี้ ในการอภิปรายผลการวิจัยผ่านแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เบลล่า ระบุว่าการบริหารงานบุคคล และกลยุทธ์การบริหารงานบุคคล บริษัท ทองฯ มีรูปแบบการบริหารที่มีผู้จัดละครเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจผู้เดียว มีการจัดการการวางแผนอัตรากำลังคนให้เหมาะสมกับขนาดขององค์กร โดยใช้กลยุทธ์การบริหารแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน หรือ กลยุทธ์ทอง Homemade มีการวางโครงสร้างการบริหารออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การจ้างพนักงานประจำ ซึ่งว่าจ้างเฉพาะตำแหน่งงานที่มีความจำเป็นได้แก่ พนักงานบัญชี พนักงานการเงิน และพนักงานประสานงาน ส่วนที่ 2 การจ้างพนักงานรับจ้างงานอิสระ (Freelance) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการผลิตละครโทรทัศน์เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้บริษัทเกิดความเสี่ยงและรับผิดชอบภาระเรื่องงบประมาณบุคลากรมากเกินไป
ทางผู้จัดละครใช้กลยุทธ์คนรู้ใจของทองในการคัดเลือกพนักงานแต่ละส่วนงานด้วยตนเอง โดยจะพิจารณาจากประสบการณ์การทำงานในส่วนงานนั้น ๆ การชักชวนผู้รํวมงานจากที่เคยร่วมงานในอดีต และจากการแนะนำจากทางสถานีโทรทัศน์หรือจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการละครโทรทัศน์ ทีมงานส่วนมากมีลักษณะการทำงานที่เข้ากันได้ สามารถทนต่อสภาวะกดดันต่อการเวลาทำงานที่จำกัด รวดเร็ว และมีความละเอียดในการทำงานสูง ซึ่งเป็นที่มาของกลยุทธ์ศรีทนทองได้ ทั้งนี้ในการใช้อำนาจในการตัดใจในการทำงานของผู้จัดละคร มาจากการรับฟังความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างทีมงานในแต่ละส่วนผ่านการสื่อสารด้วยการประชุม ถึงแม้จะเป็นการสื่อสารเน้นการบริหารจากบนลงล่าง กล่าวคือผู้จัดละครเป็นผู้กำหนดนโยบาย หรือแนวทางการผลิตละครในแต่ละเรื่อง และถ่ายทอดแนวคิดนโยบายให้ทางทีมงานถือปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จากการเป็นผู้นำที่มีการกำหนดนโยบาย และวางโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน ทำให้มีการกำหนดทิศทางและมาตรฐานในการทำงานอย่าง ชัดเจนว่าการผลิตละครโทรทัศน์เรื่องนั้น ๆ มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างไร ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นไปตามจากทฤษฎีของ Fiedler ทฤษฎีการบริหารเชิงสถานการณ์ (Fred E. Fiedler, 1967) เสนอแนวคิดของภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีของผู้นำ และผู้ตาม มีการยอมรับในตัวผู้นำ และผู้นำที่มีความมุํงมั่นในการทำงาน เป็นผู้นำที่สามารถมีการวางโครงสร้างและเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ทั้งนี้ถ้าสัมพันธภาพของผู้นำและผู้ตามดีและมีโครงสร้าง ของงานชัดเจน ผู้นำจะสามารถควบคุมสถานการณ์ขององค์กรได้ ตามทฤษฎีตามสถานการณ์ (Contingency Theory) และสอดคล้องกับแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของ Holt and Winston (1993, p. 3) ให้ความหมายของการบริหารจัดการไว้ว่า เป็นศาสตร์ของการกระทำจากบุคลากร การบริหารจัดการ (Management) จึงเป็นหน้าที่ต่างๆ ที่กำหนดทิศทางในการใช๎ทรัพยากรอย่าง และเฉลียวฉลาด มีการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ให้สามารถปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้
ส่วนการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัท ทองฯ ใช้กลุยทธ์จัดทุกกระเบียดนิ้วที่ผู้จัดละครเน้นการเข้าควบคุมดูแลการบริหารในทุกขั้นตอนของการผลิต เริ่มจากขั้นตอนของเตรียมงาน มีการประชุมวางแผนงานกํอนถํายทำจริง มีการคัดเลือกนักแสดง การเลือกสถานที่ การวางกรอบระยะเวลาในการทำงาน และการวางกรอบงบประมาณ การถ่ายทำจริง มีการประชุมคิวย่อย การจัดฉาก การวางกล้อง การจัดไฟ การจัดเตรียมเสื้อผ้ารวมถึงการแต่งหน้าและทำผมตัวละคร และการซักซ้อมบทละครก่อนถ่ายจริง และบันทึกการถ่ายจริง และเนื่องจากผู้จัดละครโทรทัศน์มีประสบการณ์ในการแสดงละครโทรทัศน์ จึงใช้กลยุทธ์แอน ทองแนะแนว เพื่อเป็นการแนะนำการแสดงให้กับนักแสดง ให้สามารถแสดงอารมณ์ได้ตรงตามบทบาทรวมถึงได้ภาพที่สวยงามโดยเฉพาะฉากเข้าพระเข้านาง ที่มีเรื่องการใช้มุมกล้องในการถ่ายทำเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ผู้จัดละครจึงมีบทบาทในการอำนวยการ หรือควบคุมวิธีการแสดงของนักแสดงร่วมกับผู้กำกับการแสดง ซึ่ง สอดคล้องกับกระบวนการบริหารจัดการ Gulick and Urwick ในขั้นตอนของการอำนวยการ (Directing) ซึ่งเป็นการส่งเสริม ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แนะนำ สั่งการ ประสานกิจกรรม การติดต่อ การมอบหมายภารกิจตําง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์เป็นไปตามเป้าหมาย
ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้สนใจงานผลิตละครโทรทัศน์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
เบลล่า ระบุว่า (1) องค์การที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจการผลิตละครโทรทัศน์ควรเริ่มต้นจากการวางรูปแบบบริหารองค์กรที่มีโครงสร้างขนาดเล็ก เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการระบบการบริหารภายในองค์กรรวมถึงการจ้างพนักงานในรูปแบบจ้างเหมางานอิสระ ทำให้องค์กรไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจนเกินไป
(2) รูปแบบการบริหารองค์การในระยะเริ่มแรกทางผู้บริหารควรเข้ามาควบคุมการทำงานในทุกขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการทำงานเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่องค์การกำหนด ตลอดจนทำให้ผู้บริหารทราบถึงรายละเอียดการทำงานในเชิงลึก และ ทราบถึงสาเหตุของปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับองค์การในอนาคต
(3) รูปแบบการบริหารงบประมาณ และเวลาในการทำงาน ควรมีการวางแผนงาน วางแผนกรอบงบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานส่งผลให้ผลงานมีคุณภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย
(4) การบริหารการผลิตละครโทรทัศน์ที่ดีและมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ นั้น ผู้บริหารควรต้องมีความรู้ มีประสบการณ์เกี่ยวกับละครโทรทัศน์เป็นอย่างดี รวมถึงมีเครือข่ายความสัมพันธ์ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว เพื่อสามารถนำประสบการณ์ และความสัมพันธ์มาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ดังเช่นผู้จัดละครโทรทัศน์ของบริษัท ทองฯ ที่มีประสบการณ์การเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง ก็สามารถนำประสบการณ์ในการแสดงมาปรับใช้ในการบริหารการผลิต ทั้งการวางกลยุทธ์อย่างหลากหลาย ทำให้ละครโทรทัศน์ของบริษัท ทองฯ มีความโดดเด่นและได้รับความสนใจ
(5) การนำเสนอละครโทรทัศน์ควรมีรูปแบบหรือแนวทางการนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความโดดเด่น และให้ผู้ชมหรือผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายดังเช่นละครโทรทัศน์ของบริษัท ทองฯ ได้นำแนวโน้มกระแสความต้องการของสังคมเข้ามามีบทบาทในการตัดต่อละครโทรทัศน์ รวมทั้งผู้บริหารศึกษาตัวละครแต่ละตัวละครอย่างจริงจังและถ่ายทอดให้ใกล้เคียงกับสภาพจริงในสังคม ความกล้าตัดสินใจในการตัดต่อเนื้อหาละครโทรทัศน์ออกเพื่อให้การเดินเรื่องกระชับ รวดเร็ว แต่ยังคงเนื้อหาที่เป็นแก่นของเรื่องอยู่ครบถ้วน
ทั้งหมดนี่ คือ เนื้อหาสำคัญบางส่วนในผลงานทางวิชาการ ของ "เบลล่า- ราณี แคมเปน" ดารานักแสดงสาว และกลยุทธ์ผู้จัดละคร Homemade ฉบับ 'แอน ทองประสม' ที่สาธารณชนอาจจะยังไม่เคยสัมผัสกันมาก่อน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/