เปิดมุมมองต่างชาติ ว่าด้วยชีวิตบนสังเวียนเลือด 'นักมวยเด็ก' กับผลปย.ในวงการมวยไทย
"...จากการศึกษาในปี 2552 พบว่า มีนักมวยไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นจำนวนถึง 20,000 คน และบางรายงานก็ระบุว่าถึง 30,000 คน ชกอยู่ในภูมิภาคชนบทของประเทศ โดยมักจะชกกันในงานบุญ งานวัด หรืองานกุศลเรี่ยไรเงินต่างๆ โดยจะมีค่าตอบแทนให้อยู่ที่ประมาณ 800- 1,600 บาท โดยนักชกรุ่นเยาว์เหล่านี้ต่างก็มีความฝันว่าจะได้ไปไกลกว่าท้องทุ่งท้องนาที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่..."
จากกรณีการเสียชีวิตของ ด.ช.อนุชา ทาสะโก เพชรมงคล ป.พีณภัทร หรือ เพชรมงคล ส.วิไลทอง นักมวยเด็กวัย 13 ปีเสียชีวิต หลังพ่ายน็อก ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ หรือพุฒ ลูกร่มเกล้า ยก 3 ในการชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ชิงถ้วยรางวัลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 พ.ย. ที่เวทีมวยชั่วคราว โรงเรียนวัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ขณะนี้ว่าสมควรหรือไม่ที่จะแก้ไข พระราชบัญญัติกีฬามวย 2542 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้
น่าสนใจว่าในต่างประเทศ มีมุมมองเกี่ยวกับกีฬามวยไทย และนักมวยรุ่นเยาว์ในวงการมวยไทยอย่างไร?
เว็บไซต์อีเอสพีเอ็น ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำนักข่าวกีฬาชื่อดังของสหรัฐอเมริกา เคยเขียนบทวิเคราะห์เรื่องของกีฬามวยไทยกับการมีนักมวยรุ่นเยาว์อยู่ในวงการไว้น่าสนใจ เมื่อเดือน พ.ย.ปี 2556 ในชื่อบทความว่า “นักชกรุ่นเยาว์กับการหาผลประโยชน์ในวงการมวย” ผู้เขียน คือ นาย Steve Martinez ซึ่งบทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยได้พยายามผลักดันให้กีฬามวยไทยเข้าไปอยู่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อมูลในบทความดังกล่าวมานำเสนอให้ สาธารณชนรับทราบ ณ ที่นี้
แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไทย จะได้เคยแสดงความเห็นบนเว็บไซต์ของสมาพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรือ The International Federation of Muaythai Amateur (IFMA) เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนกีฬามวยไทยว่าเป็นศิลปะป้องกันตัวเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนานและเห็นควรว่ามวยไทยควรจะได้ไปอยู่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
แต่อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ รัฐบาลไทยในขณะนั้น ไม่ได้กล่าวถึงก็ คือ ประเทศไทยได้บรรจุค่านิยมกีฬามวยไทยเข้าไว้สองส่วนคือ 1.การชกมวยไทยที่มีกติกาดั้งเดิมตามที่สมาพันธ์ฯได้วางเอาไว้
โดยระบุว่านักชกที่เหมาะสมจะต้องมีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป และ 2.ค่านิยมว่าด้วยการพนันที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพล นักเลง ที่แทรกซึมอยู่ ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร
ที่ผ่านมามีรายงานว่าในการชกมวยไทย มีนักมวยรุ่นเยาว์ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และบางครั้งอายุต่ำถึง 7-8 ปี เข้าสังเวียน โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันศีรษะที่เหมาะสม
จากการศึกษาในปี 2552 พบว่า มีนักมวยไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นจำนวนถึง 20,000 คน และบางรายงานก็ระบุว่าถึง 30,000 คน ชกอยู่ในภูมิภาคชนบทของประเทศ โดยมักจะชกกันในงานบุญ งานวัด หรืองานกุศลเรี่ยไรเงินต่างๆ โดยจะมีค่าตอบแทนให้อยู่ที่ประมาณ 800- 1,600 บาท โดยนักชกรุ่นเยาว์เหล่านี้ต่างก็มีความฝันว่าจะได้ไปไกลกว่าท้องทุ่งท้องนาที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่
“นักมวยรุ่นเยาว์บางคนที่แสดงความสามารถออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด หรือบางคนที่มาจากครอบครัวนักมวยเดิมอยู่แล้ว เด็กๆเหล่านี้อาจจะได้อัพระดับขึ้นไปถึงค่ายมวยที่ซึ่งจะเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ฝึกซ้อมต่อไป” นาย Peter Vail ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ซึ่งศึกษามวยไทยมาอย่างยาวนานกล่าว
พร้อมระบุว่า การเข้ามาอยู่ในค่ายมวยสำหรับเด็กๆนั้นถือเป็นอะไรที่หนักมาก
โดยนักมวยไทยรุ่นเยาว์ที่เก่งระดับหัวกะทิจะมีโอกาสเข้ามาชกในกรุงเทพ และมีโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทนในการชกสูงเป็นจำนวนหลักพันถึงหลักหมื่นบาท
นาย Peter กล่าวต่อไปว่า สภาพการณ์ที่ว่ามานี้นั้นมีความเป็นไปเป็นมาเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2503-2513 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กีฬามวยไทยเริ่มมีความเป็นมืออาชีพและมีกติกาการแข่งขันที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2533 เป็นต้นมา มีความกังวลออกมาจากหน่วยงานที่สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน โดยหน่วยงานเหล่านี้ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการใช้ประโยชน์จากเด็กที่อาจจะเข้าข่ายผิดหลักการนานาชาติว่าด้วยการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งในปี 2535 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสิทธิเด็ก ที่ระบุถึงการลดและไม่แสวงหาผลประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็ก
แต่อย่างไรก็ตาม สมาคมที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยนั้นดูเหมือนว่าจะแข็งข้อกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ในช่วงปี 2542 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้ยื่นเรื่องถึงรัฐบาลไทยเพื่อจะแบนการชกมวยเด็ก อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากกลุ่มชาวนาได้โต้แย้ง โดยอ้างว่าจะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคชนบทเสียหายเนื่องจากลูกๆของชาวนาที่ขาดรายรับตรงนี้ก็จะต้องกลับไปที่บ้าน ซึ่งในปี 2542 นั้นเอง มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชกมวยขึ้น ระบุว่าถ้าหากให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ชกมวย จะต้องมีใบอนุญาตจากทางผู้ปกครองเสียก่อน และในเวลาต่อมาก็ได้มีการนำเอาถ้อยคำและตัวบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามไม่ให้เด็กต้องไปชกมวยเพื่อแสวงหาผลกำไรไปใส่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กปี 2546 แต่รัฐบาลก็ยังคงยึดโยงตัวกฎหมายที่บัญญัติในปี 2542 ไว้เป็นสำคัญ ซึ่งในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้นก็มีการผลักดันและการต่อต้านในกรณีการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็กมาโดยตลอด
โดยฝ่ายที่คัดค้านการให้เด็กขึ้นชกมวยมองว่าการให้เด็กชกมวยเป็นการกีดขวางการศึกษาของเด็ก และต้องให้เด็กต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุคคลที่จ้องจะแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นญาติ ครอบครัวของเด็กมุ่งเน้นแต่จะหวังผลประโยชน์จากรายได้ของเด็กเพียงอย่างเดียว โดยพวกเขาเชื่อว่าการให้เด็กชกมวยเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก
ส่วนฝ่ายผู้สนับสนุนกลับแย้งว่ากีฬามวยไทยจะทำให้เด็กได้มีโอกาสเข้าถึงวัฒนธรรมไทย และสอนให้เด็กได้เข้าถึงคุณค่าของความพยายาม และการพึ่งพาตัวเอง และยังไม่รวมถึงเงินที่เด็กจะได้เป็นรายได้อีกอีกทางหนึ่งให้กับครอบครัวที่ยากจนที่ต้องพึ่งพารายได้หลักจากการปลูกข้าว
นาย Peter ยังได้ชี้ประเด็นว่า เด็กที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน ไม่มีทางเลือก ไม่มีทางไปมากนัก และการที่ภูมิภาคชนบทของไทยยังมีปัญหา อาทิปัญหาติดยา อันธพาล รวมไปถึงการทำงานที่อันตรายและรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงทำให้เด็กที่ไปชกมวยถูกยกย่องมากในโรงเรียน และส่งผลทำให้เด็กอีกหลายคนอยากที่จะไปชกมวยบ้างเพราะมองว่าเป็นโอกาศที่จะได้เงิน อีกทั้งในค่ายมวยก็ยังมีกฎระเบียบการฝึกซ้อมที่เคร่งครัดที่จะทำให้เด็กไม่ต้องประสบกับปัญหาต่างๆในชีวิต ดังนั้นถ้าหากจะแก้ไขปัญหาเรื่องนักมวยเด็กอย่างจริงจัง ก็ควรจะต้องเอาเรื่องเหล่านี้ไปใส่ในบริบทด้วย
ทางด้าน นายพัฒนา กิติอาษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และยังเป็นลูกชายของนักมวยไทย ได้เขียนหนังสือในปี 2546ในชี่อ "นักมวยไทย วีรบุรุษของประเทศ" โดยในหนังสือเล่มนี้ นายพัฒนาได้เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของมวยไทยเอาไว้กับกรอกแนวคิดของความเป็นลูกผู้ชายเอาไว้
“นักมวยไทยทุกคนและชายไทยอีกจำนวนมากมายถือว่าเวทีมวยไทย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ๆ อนุรักษ์ประเพณีสำหรับผู้ชายและการต่อสู้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยการต่อสู้ในกีฬามวยไทยที่ถือว่าทารุณและรุนแรงสำหรับชาวต่างชาติหลายคนได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของเกมแห่งศักดิ์ศรีของลูกผู้ชายไทย”
นายพัฒนา ยังให้แง่มุมอีกว่า กีฬามวยไทยมีสิ่งที่ขัดแย้งและน่าขบขันในตัวเองอยู่ เพราะกีฬามวยไทยที่มักจะจัดกันที่วัดเป็นกีฬาที่มีคนจากฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ทั้งนักมวยที่มาจากบ้านที่มีฐานะยากจน ผู้ฝึกสอน โปรโมเตอร์ ผู้จัดการ และนักพนันสามารถทำเงินได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้วิธีทั้งการชิงไหวชิงพริบ การหลอกลวง รวมไปถึงกระบวนการที่ไม่สุจริต ภายใต้การจัดงานเรี่ยไรการกุศลเพื่อท้องถิ่นนั้นๆ โดยมีการชกมวยเป็นส่วนประกอบ
ส่วนที่บอกว่าเป็นที่น่าขบขันและย้อนแย้ง ก็เพราะว่าสถานที่ชกมวยที่ประกอบไปด้วยปัจจัยดังกล่าวนั้นยังเป็นที่ๆเดียวกับที่คนไทยกลับพูดถึงความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีของประเทศไทย ซึ่งความย้อนแย้งนี้ก็เป็นกรณีเดียวกับที่วัดซึ่งควรจะเป็นที่สอนศาสนาตามหลักศาสนาพุทธ กลับมีกิจกรรมอย่างเช่นการชนไก่ การพนัน อยู่ในวัด
ขณะที่ ปุณยนุช พัธโนทัย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เคยศึกษาวิจัยในปี 2552 หัวข้อว่า การชกมวยเด็กในประเทศไทยเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม หรือการหาผลประโยชน์จากอนาคตของชาติกันแน่
โดยในส่วนหนึ่งของงานวิจัย ระบุว่าความเกี่ยวเนื่องวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคำว่ากรอบสิทธิมนุษยชนขึ้นมา และกำหนดในเรื่องของความเชื่อและค่านิยมตามมา ดังนั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะไปกล่าวว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ทางตะวันตกเป็นผู้กำหนดตามค่านิยมพื้นฐานของเขา แต่ควรมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องใช้ร่วมกัน
แต่ในตอนนี้คนไทยยังมีความเข้าใจว่าการให้เด็กชกมวยนั้นคือการอนุรักษ์มรดกชาติอยู่
ปุณยนุช ยังวิจารณ์ด้วยว่า สิ่งสำคัญคือควรจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย 2542 ให้ตกผลึก โดยเฉพาะในส่วนที่ระบุว่าเด็กที่ต่อยมวยอายุต่ำกว่า 15 ปี จะต้องคำนึงถึงความปลดภัยเป็นสำคัญ ทั้งนำประเด็นเรื่องสวัสดิการ การมีอุปกรณ์เซฟตี้ อาทิเฮดการ์ด และต้องไม่ให้เด็กเหล่านี้ไปยุ่งกับการต่อยมวยเพื่อผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจและการพนัน
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่าในช่วงเดือน ต.ค.ปี 2556 สื่อไทยได้เปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่สำรวจโครงสร้างสมองของนักชกที่อายุต่ำกว่า 16 ปี จำนวน 13 คน และสมองของผู้ที่ไม่ได้เป็นนักมวยซึ่งอยู่ในช่วงอายุเดียวกัน พบว่ามีความผิดปกติรวมไปถึงในด้านความทรงจำ การตอบสนอง ในหมู่ผู้ที่เป็นนักมวยเด็ก ซึ่งกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองนี้มีความคล้ายคลึงกับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง หรือถูกทำร้ายร่างกาย
(ที่มาบทความ:http://www.espn.com/espn/e60/story/_/id/9929399/child-fighters-thailand-vulnerable-exploitation)
จากข้อมูลที่ระบุไปทั้งหมด คำถามสำคัญที่คนในสังคมไทยต้องช่วยกันหยุดคิดหาคำตอบ คือ แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันในเรื่องสิทธิเด็กในการขึ้นชกมวยมาอย่างยาวนาน แต่เพราะเหตุผลอะไร ทำไมหน่วยงานภาครัฐถึงไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดในกรณีของ ด.ช.อนุชาเกิดขึ้น และหลังจากนี้ จะมีเด็กคนอื่นๆเสียชีวิตบนเวทีมวยอีกหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/