ม.ธูรกิจบัณฑิต จับมือ มูลนิธิศึกษาธิการ จัดสัมมนาติดตามผลเรียนรู้แบบเครือข่ายเยาวชนภาคใต้
วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับมูลนิธิศึกษาธิการ จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการขยายการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานของเครือข่าย รวมถึงนำเสนอผลการติดตามและประเมินผลโครงการ พร้อมกำหนดทิศทางการดำเนินงานต่อไป ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยมีสถานศึกษาและเครือข่ายเข้าร่วม จำนวน 11 เครือข่าย 59 โรงเรียน ณ โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
นายเสนอ ทองจีน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 กล่าวว่า การได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ทำให้ชาวนครศรีธรรมราชเกิดความภาคภูมิใจ ได้เห็นการรวมตัวของนักวิชาการ โดยเฉพาะผู้บริหารที่เป็นผู้นำทางวิชาการอาสามาทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ในเรื่องการจัดการศึกษาโดยใช้เครือข่ายเป็นฐาน เพื่อสร้างองค์ความรู้ บนแนวคิดเรื่องสุขภาวะของเด็กและเยาวชน มีความสอดคล้องตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน วิถีของสังคมทำให้เกิดความไม่ปกติในเรื่องสุขภาวะของเด็กและเยาวชน ด้วยนิสัยและพฤติกรรมการบริโภค โดยจากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนเรื่องอาหารกลางวัน พบนักเรียนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ถึง 20% ดังนั้น เพื่อให้เด็ก เยาวชนมีสุขภาวะที่ดี โดยการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่ดีเกิดประโยชน์ เกิดผลงานเป็นเชิงประจักษ์ที่สามารถไปสร้างเยาวชนสร้างนักเรียน ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ตามความมุ่งหมายและความต้องการในการจัดการศึกษา และตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย
ดร.สรรเสริญ สุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการติดตามประเมินผลโครงการ กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผล พบว่า เครือข่ายโรงเรียนมีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม กระจายอำนาจและความรับผิดชอบคือ แบ่งกิจกรรมในโครงการให้แต่ละโรงเรียนในเครือข่ายเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบตามความถนัดและความสามารถที่เป็นจุดเด่นของแต่ละโรงเรียน ผลัดกันเป็นผู้นำและผู้ตาม สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความตระหนักและลดอัตราการสูบบุหรี่ 2) ด้านความตระหนักและการ รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ 3) ด้านความตระหนักและลดปัญหาสุขภาวะทางเพศ 4) ด้าน คุณธรรมจริยธรรม และ 5) ด้านคุณภาพการศึกษาที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะและความมั่นคง
ดร.สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินของโครงการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนใน 4 ทักษะสำคัญ ดังนี้ 1) ทักษะด้านกระบวนการคิด นักเรียนมีความตระหนัก มีจิตสำนึก และสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อครอบครัว ชุมชน สังคม ทั้งการลด ละ เลิก บุหรี่ เรื่องเพศศึกษา การดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ การสร้างคุณธรรมจากการประพฤติปฏิบัติ 2) ทักษะการแก้ปัญหา เมื่อนักเรียนพบเพื่อนที่ติดบุหรี่หรือสูบบุหรี่ จะเตือนเพื่อน ให้เลิกสูบบุหรี่ หรือบอกครู ช่วยเตือนพ่อแม่ไม่ให้สูบบุหรี่ ช่วยสอนน้องที่อ่านไม่ออก ทำสื่อเผยแพร่ ซึ่งแสดงถึงจิตสำนึกในการการแก้ปัญหาของนักเรียน 3) ทักษะทางสังคม การเข้าร่วมกิจกรรมที่เกิดการปฏิบัติงาน ทั้งภายในโรงเรียนและโรงเรียนในเครือข่าย ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้ปกครอง ชุมชนและสังคม 4) ทักษะชีวิต นักเรียนมีทักษะปฏิเสธ เมื่อเพื่อนชวนไปทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น การสูบบุหรี่ สารเสพติดหรือความสุ่มเสี่ยงทางเพศ ซึ่งจากการเข้าค่ายคุณธรรมนักเรียนนำสิ่งดีๆ ที่ได้จากการเรียนรู้ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อันส่งผลต่อสุขภาวะของผู้เรียน ทั้งด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชแม้เป็นพื้นที่ใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ แต่โดยแนวคิดเชิงนวัตกรรม 8 ร่วมที่นำไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผลและสุดท้ายคือนวัตกรรมที่เห็นชัดคือ ร่วมชื่นชมผลสำเร็จ เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เดิมและองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดข้อค้นพบ ประกอบกับความหลากหลายของพื้นที่ที่มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ครบทุกระดับการศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวัด ซึ่งถือเป็นความหลากหลายแต่มีการรวมตัวกันดำเนินงานโดยความสมัครใจ ไม่คำนึงถึงสังกัด ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นเครือข่าย ตรงนี้เป็นความแตกต่างจากโครงการในจังหวัดอื่นๆ เพราะเป็นจังหวัดเดียวที่มีสถานศึกษาทุกประเภทครบ และด้วยนวัตกรรมการมีส่วนร่วมดังกล่าวส่งผลให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ ที่เกิดความตระหนักและป้องกันปัญหาด้านสุขภาวะของเด็ก เยาวชน ที่เชื่อมโยงสู่ครอบครัวและชุมชน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่สะท้อนแนวโน้มความยั่งยืนในอนาคต แม้ว่า โครงการจะยังไม่สิ้นสุด
“วันนี้ ทุกคนควรภาคภูมิใจ ที่โครงการของเราเป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาของประเทศตะวันออก ที่ควรเผยแพร่เพื่อประโยชน์ให้ทั่วโลกได้มาศึกษา ด้วยนวัตกรรมสำคัญ “ร่วมชื่นชมผลสำเร็จ” ได้ถูกพิสูจน์จากสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2554 ใน 31 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ได้ใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมใน 8 ร่วม ณ วันนี้ กลายเป็นศาสตร์ที่ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก โดยสำนักพิมพ์แลมเบิร์ต (Lambert Academic Publishing) ได้ติดต่อขอจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมสู่โรงเรียนสุขภาวะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ไปนำเสนอในการประชุมที่เนเธอร์แลนด์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสำเร็จของการดำเนินโครงการในเรื่องโรงเรียนเป็นสุข นักเรียนเป็นสุข สภาพแวดล้อมเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุขและชุมชนเป็นสุข ที่สามารถแก้ปัญหาสุขภาวะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ จึงได้เขียนในภาพรวมของการศึกษาแบบมีส่วนร่วมและตัวอย่างของพื้นที่ที่ดำเนินการ ไม่ใช่เฉพาะของภาคใต้เท่านั้น เพื่อนำเสนอแนวคิดและการปฏิบัติจากการจัดการการเรียนรู้ สุขภาวะแบบมีส่วนร่วมที่ประสบผลสำเร็จในภาพของประเทศไทย โดยใช้ชื่อหนังสือว่า การจัดการศึกษาและการจัดการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม : ประสบการณ์ประเทศไทย (Participatory Education and Learning Management:Concepts, Researches and Practices, Thailand Experiences) ซึ่งหากมองแนวคิดทฤษฏีต่างประเทศอาจจะมีในเรื่องร่วมคิด ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมติดตาม ประเมินผล เพียงเท่านั้น แต่ประเทศไทยเราพบเรื่องการแสดงความชื่นชมยินดีในความสำเร็จของกันและกัน ถือเป็นวัฒนธรรมของประเทศไทย” ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าว